พิพิทธภัณฑ์แสง (กิตติพล สรัคคานนท์)
ไม่ผิดหวังเลยกับ 5 เรื่องสั้นของคุณกิตติพลที่บรรจุอยู่ใน พิพิทธภัณฑ์แสง ถ้า “ความตาย” คือธีมหลักร่วมกันของเรื่องสั้นใน ที่อื่น สำหรับเล่มนี้ก็คงเป็น “ภาวะหลงทาง” หรือการวนเวียนอยู่ในสถานที่ ความสัมพันธ์ หรือวิถีชีวิตที่ไม่มีทางออก ตัวเอกของเรื่องสั้นก็ยังคงเป็นบุรุษนิรนาม “เขา” แม้ว่าด้วยวิธีการเขียน คุณกิตติพลจะพาเราไปใกล้ชิดกับบุรุษที่สามคนนี้จนราวกับว่าเป็น “ผม” ต่างหากที่เล่าเรื่อง
หลายเรื่องสั้นใน พิพิทธภัณฑ์แสง เดินอยู่บนเส้นคาบเกี่ยวระหว่างบทความ บทรำพึง และเรื่องแต่ง ในแง่หนึ่งก็เป็นกลวิธีการเขียนที่แปลกใหม่ น่าสนใจ แต่น่าเป็นห่วงว่าคนไทยอาจจะยังตามเรื่องลักษณะนี้ไม่ค่อยทัน ที่สำคัญก็คือมันทำให้หลายเรื่องออกมาคล้ายคลึงกันเกินไป อย่าง รังสีวิทยา และ ลืม เป็นสองเรื่องที่เหมือนกัน แถมยังเอามาอยู่ติดกันเสียด้วย พออ่านทั้งเล่มจบ แทบแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน
สองเรื่องที่ดีที่สุดในเล่มก็คือ ภาพประกอบ และ พิพิธภัณฑ์แสง ในเรื่องแรกใช้ตัวละคร “เขา” สามตัว หยิบทั้งสามเหตุการณ์มาเรียงร้อยกันอย่างสวยงาม มิหนำซ้ำยังสรุปความทั้งเล่มได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องหลังอาศัยความคิดง่ายๆ คือพาผู้อ่านเดินชมสถานที่ตามตัวละครไปเรื่อยๆ แต่เพราะมันน่าสนใจ เรื่องง่ายๆ แบบนี้จึงออกมาดีได้ และเช่นเดียวกับใน ที่อื่น เรื่องสั้นที่อ่อนที่สุดก็คือ ของขวัญ โดยเป็นเรื่องที่ผู้เขียนจงใจเน้นและสร้างเนื่อเรื่องมากกว่าปกติ ผลงานของคุณกิตติพลจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อมันไม่มีเนื้อเรื่อง แต่ปล่อยให้คนอ่านอ่านไปเรื่อยๆ
เราใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้จากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อไปลงหัวลำโพงพอดิบพอดี ใครที่ขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ขอแนะนำ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment