ความจริงในภาพวาด (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)


นานมาแล้วเราเคยจีบสาวคนหนึ่งทาง hi5 เธอเรียนเอกรัฐศาสตร์ และต้องทำรายงานห้าข้อสำหรับวิชาปรัชญาการเมืองร่วมสมัย ข้อแรกของคำถามนั้น เราเมพ ช่วยเธอได้ แต่พอถึงข้อสอง จำคำถามไม่ได้แล้ว แต่คุ้นๆ ว่าเกี่ยวกับ Ontology ของรัฐบาลหรืออะไรสักอย่างนี่แหละ คำคำนั้นก็ใช่ว่าจะไม่เคยได้ยินนะ แต่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เลยจอดป้ายสนิท กินแห้วไปตามระเบียบ

ให้มันได้อย่างนี้สิ รับรองว่าถ้าตอนนั้นได้อ่าน ความจริงในภาพวาด บทวิจารณ์ว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ของไฮเดกเกอร์ และแดร์ริดา คงไม่ต้องมานั่งหวาน กรอบ มันหรอก

หนังสือเล่มนี้ช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจมานานว่า Ontology คืออะไร อาจารย์พิพัฒน์ใช้ตัวอย่างกรณีการถกเถียงระหว่างไฮเด็กเกอร์ ซาพิโร และแดร์ริดา เรื่องภาพวาดรองเท้าของแวนโก๊ะมาจับประเด็นนี้

อาจารย์พิพัฒน์อธิบายไว้ในหนังสือได้ดีมาก แต่ขออนุญาตอธิบายใหม่ด้วยภาษาของตัวเองแล้วกัน ตัวอย่างที่ดีมากๆ คือสัมพันธภาพพิเศษของไอนสไตน์ (เคยใช้ตัวอย่างนี้ไปแล้วตอนพูดถึงฟูโกต์ แต่ทนๆ เอาหน่อยแล้วกัน) จุดเริ่มต้นหนึ่งของสัมพันธภาพพิเศษคือการตระหนักว่าแสงไม่ได้มีความเร็วเป็นอนันต์ และถ้าแสงมีความเร็วค่าหนึ่ง ก็หมายความว่าปรากฏการณ์ที่เรามองเห็น อาจไม่ได้เกิดเช่นนั้นจริงๆ แต่เกิดเพราะการบิดเบี้ยวและนำพาของแสง ตัวอย่างง่ายๆ คือดวงดาวที่อยู่ห่างออกไปสี่ปีแสง ความจริงมันอาจแตกสลายไปตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว แต่ภาพการสิ้นสุดของมันยังมาไม่ถึงตาเรา

ถ้าเอาแนวคิดแบบญาณวิทยา (epistemology) และ ภววิทยา (Ontology) มาใส่ตรงนี้ การพูดว่าดาวจริงๆ มันดับไปตั้งนานแล้ว คือการมองแบบภววิทยา หรือภาวะที่แท้จริงของวัตถุ แต่การพูดถึงแสงเดินทางและนำภาพดาวมาเข้าสู่ลูกตาเรา คือปรากฏการณ์แบบญาณวิทยา หรือการรับรู้ธรรมชาติของวัตถุ

อาจารย์พิพัฒน์ไม่ใช่แค่แปลหรือลอกความคิดของนักปรัชญาชื่อดังมาอย่างเดียว แต่อาจารย์ยัง "เถียง" กลับและแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งการเถียงกลับของอาจารย์นี้ยิ่งช่วยเปิดหูเปิดตาให้ผู้อ่านรับสาส์นได้อย่างถ่องแท้ เราก็เลยอยากจะขอรับสืบทอดวิธีนี้และ "เถียง" กลับอาจารย์บ้าง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูฟิสิกส์ปวดเศียรเวียนเกล้ามากๆ คือ ทำอย่างไรจะให้เด็กเข้าใจว่า สัมพันธภาพพิเศษลึกซึ้งกว่ากรอบคิดแบบกลศาสตร์นิวตันว่า "จริงๆ มันเป็นแบบนั้นแหละใช่ไหม เพียงแต่เราเห็นมันแบบนี้เท่านั้นเอง"

สัมพันธภาพพิเศษคือตัวอย่างสุดโต่งของญาณวิทยา เป็นญาณวิทยาที่ "กิน" และไม่เหลือพื้นที่ให้ความจริงแบบภววิทยาหลงเหลืออยู่ เนื่องจากแสงมีความเร็วคงที่ และไม่มีอะไรเร็วไปกว่าแสงได้ ดังนั้นต่อให้ดาวดับไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว ถ้าเรามองไม่เห็นมัน (และไม่มีวันมองเห็น) เราก็ต้อง "ยอมรับ" ว่าดาวยังคงอยู่ ในโลกของสัมพันธภาพ ไม่มีอะไร "จริงๆ " คุณสมบัติทางภววิทยาล้วนเป็นเรื่องนอกประเด็น

พออ่านข้อถกเถียงกับแดร์ริดาของอาจารย์พิพัฒน์แล้ว ความเข้าใจของเราคือ เหมือนอาจารย์จะยืนยันว่า วัตถุสามารถมีคุณสมบัติทางภววิทยาและญาณวิทยาไปได้พร้อมๆ กัน ดั้งนั้นถ้าตาของเรามีปัญหา (เช่น ตาบอดสี) การรับรู้ทางญาณวิทยาทำให้เราเห็นวัตถุเป็นภาพขาวดำ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางภววิทยาของมันให้เป็นขาวดำไปด้วย ส่วนตัวเราคิดว่า ถ้าเป็นคนที่เชื่อในญาณวิทยาอย่างสุดโต่ง เขาน่าจะปฏิเสธคุณสมบัติทางภววิทยาตั้งแต่แรก และยืนยันว่ามีแต่การรับรู้เท่านั้นที่กำหนดคุณสมบัติของสรรพสิ่งได้ การจะเข้าใจวาทะอมตะของแดร์ริดา "There is nothing outside the text.” น่าจะเริ่มจากจุดยืนตรงนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าถกเถียงไม่น้อยคือการที่อาจารย์บอกว่า เราสามารถรับรู้สิ่งสิ่งหนึ่งได้โดยไม่ต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น เช่น การมองช้างใกล้ๆ โดยไม่ให้เห็นฉากหลังเลย เราก็ยังคงจะรู้ได้อยู่ดีว่าช้างเป็นช้าง แต่มันจริงหรือเปล่า พัฒนาการของ macro-photography รวมไปถึงฉากซูมใกล้ในหนังที่สร้างความพิศวงให้คนดูว่าเรากำลังมองอะไร (ล่าสุดคือใบปิด เจ้านกกระจอก ที่ถ้ามองไม่ดีจะไม่รู้เลยว่าเป็นรูปลูกตา) น่าจะเป็นตัวพิสูจน์แล้วหรือเปล่า ว่าการรับรู้ของคนเราอิงอ้างอยู่กับระบบสัญศาสตร์ที่ยากจะหนีพ้นการเปรียบเทียบและความแตกต่าง

2 comments:

Anonymous said...

ขอใช้บทวิจารณ์นี้ในการให้ความรู้แก่นักศึกษานะค่ะ ^^

ขอบคุณค่ะ

Anonymous said...

ขอใช้บทวิจารณ์นี้ในการเผยแผ่เพื่อเป็นความรู้นะครับ.