ความน่าจะเป็น กับภาวะหลังสมัยใหม่

หมายเหตุ: บทความนี้ขยับขยายมาจากบลอคเก่าของผู้เขียน ที่พูดถึงรวมเรื่องสั้น ความน่าจะเป็น


คงไม่เชยไปหรอกนะกับหัวข้อข้างบน สมัยนี้ยังมีคนอ่านความน่าจะเป็นอยู่หรือเปล่า วัยรุ่นเขาเคยได้ยินศัพท์คำว่า "หลังสมัยใหม่" (postmodernism) กันบ้างไหม ย้อนไปสักหกเจ็ดปี "หลังสมัยใหม่" "เด็กแนว" "อินดี้" ล่องลอยตามหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ กระทั่งบทความวิชาการ ทุกคนลงความเห็นกันว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วัฒนธรรมการผลิต และบริโภคถูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เปลี่ยนแปลงยังไง พลิกไปเป็นรูปแบบไหน และคำเหล่านี้จริงๆ แปลว่าอะไร แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องเกาหัว

เพราะถูกมองว่าเป็นแฟชั่น โพสโมเดิร์นจึงมีวันตกยุค มีวาระหลุดลอกจากทำเนียบคำสุดฮิต

แต่ภาวะหลังสมัยใหม่ไม่ใช่แฟชั่น ไม่เหมือนเสื้อสายเดี่ยว หนังสือทำมือ หรือวงดนตรีอินดี้ (แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของหลังสมัยใหม่ก็ตาม) โพสโมเดิร์นคือความเป็นจริงทางสังคม ในแง่ศิลปะ บันเทิง ไปจนถึงเศรษฐกิจ และการเมือง มันอาจเป็นเรื่องปรกติไปแล้วก็ได้ที่ศัพท์แสงซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์บางอย่างในบ้านเรา มักจะมาถึงก่อนปรากฏการณ์นั้น (อย่าง "โลกาภิวัฒน์" ฮิตมากเมื่อประมาณสิบ สิบสองปีที่แล้ว สมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำ) ดังนั้นต่อให้ "หลังสมัยใหม่" ไม่ปรากฎบนแท่นพิมพ์ ไม่หลุดจากปากนักคิดขวัญใจวัยรุ่น แต่ไม่มีใครปฏิเสธมันได้ ตั้งแต่นี้ตึกทุกหลัง และเสื้อผ้าทุกชิ้นจะถูกออกแบบโดยสถาปนิก และดีไซเนอร์ผู้เติบโตมากับแนวคิดหลังสมัยใหม่ (ไม่ว่าพวกเขาจะหลีกหนีหรือยอมรับมันก็ตาม) โฆษณาสินค้าขายความเป็นหลังสมัยใหม่ให้กับผู้บริโภค และการเมืองกำลังก้าวสู่โลกหลังสมัยใหม่

หลังสมัยใหม่ในแต่ละวงการมีความหมายแตกต่างกัน แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เรียนรู้ความหมายของคำนี้ในเชิงสถาปัตยกรรมเป็นอันดับแรก ก่อนย้ายมาเป็นเรื่องวรรณกรรม และการเมือง ทุกนิยามมีส่วนเชื่อมโยงให้ผู้ศึกษามองออกว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่ใช่การยากถ้าจะเข้าใจมันจากแง่มุมหนึ่ง ก่อนผันแปรความเข้าใจนั้นให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น บทความนี้ไตร่ตรองความหมายของหลังสมัยใหม่ในเชิงวรรณกรรม ผ่านผลงานซึ่งในยุคหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวตนอันจับต้องได้ของโพสโมเดิร์นเลยทีเดียว (สำหรับผู้สนใจความหมายในเชิงสถาปัตยกรรม และการเมือง ผู้เขียนขอแนะนำ The American Skyscraper: Cultural Histories โดย Moudry และ The Return of the Political โดย Mouffe)


ตอนที่ความน่าจะเป็นได้รับรางวัลซีไรต์ นักอ่านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย กลุ่มที่ "ชื่นชม" และมองรวมเรื่องสั้นชิ้นนี้ว่าเป็นความแหวกแนวของเด็กรุ่นใหม่ และกลุ่มที่ "ต่อต้าน" ด้วยเหตุผลคืออะไรใหม่ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ที่จริงทั้งฝ่าย "ชื่นชม" และ "ต่อต้าน" ต่างมีจุดยืนร่วมกันคือขาดความ "เข้าใจ" ทำให้ประเด็นหลักในการวิจารณ์ความน่าจะเป็นอยู่ที่ว่าเราควรชื่นชมคนริเริ่มทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านดีหรือเปล่า

Lyotard นักคิดชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า จุดเด่นของสังคมหลังสมัยใหม่คือการขาดศรัทธาในคุณค่าที่มาจากภายนอก วรรณกรรมยุคใหม่จึงไม่ขึ้นตรงต่อทฤษฎีวรรณกรรมข้อไหนๆ แต่ใช้ตัวมันเองกำหนดคุณค่าของชิ้นงาน ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์ของฮองซองซู หรืออภิชาติพงษ์ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน เราสามารถมองส่วนแรกเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งเอาไปใช้ตัดสินอีกทีว่าส่วนหลังประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวแค่ไหน แนวคิดนี้คล้ายกับที่คุณปราบดานำเสนอผ่านไอ้ปลงในด้วยตาเปล่า โดยตัวละครตัวนี้มีความสามารถพิเศษคือตัดสินมนุษย์ที่เพิ่งพบกันครั้งแรกว่าดี หรือชั่วได้โดยอาศัยเพียงการมองใบหน้า ไม่ได้อิงบรรทัดฐาน หรือศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ละเรื่องสั้นในความน่าจะเป็นจึงมีทั้งดี และไม่ดี และไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพียงเพราะว่ามันแปลก หรือไม่แปลก อย่าง เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า ดำเนินเรื่องราวผ่านการเปลี่ยนมุมมองระหว่างตัวละครบุรุษที่สาม แสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องแต่ละชีวิตที่โดยผิวเผินเหมือนจะแยกจากกัน มุมมองกระโดดข้ามไปมาเตือนให้ผู้อ่านรู้ว่า ชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องสั้นหรือนิยาย ที่เราต้องเป็นตัวเอก เป็นศูนย์กลางของทุกการเคลื่อนไหวในจักรวาล แนวคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับลัทธิโครงสร้างนิยม (structuralism) ไม่ค่อยมีวรรณกรรมไทยเรื่องไหนเล่นกับปรัชญาตัวนี้ เท่าที่นึกออกก็บางเรื่องสั้นในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนอาจจัดเข้าทำนองนี้ได้เช่นกัน

อีกเรื่องซึ่งน่าสนใจคืออุปกรณ์ประกอบฉากนำเสนอภาพขัดแย้งระหว่างความจริงน้ำเน่า และเหตุการณ์เบื้องหลัง ประหนึ่งชีวิตสุดท้ายก็เป็นแค่ละคร ที่นักแสดงไม่ควรยึดติดอะไรมาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า และอีกหลายเรื่องสั้นเช่น นักเว้นวรรค มารุตมองทะเล มีลักษณะเป็น meta-fiction หรือเรื่องแต่งที่ทลายกำแพงที่สี่เพื่อเตือนให้คนอ่านระลึกอยู่ตลอดเวลาว่านี่คือเรื่องแต่ง เรื่องจำพวกนี้มักเล่นกับขนบในการเขียน และการส่งสานส์ ตอนที่ความน่าจะเป็นตกอยู่ภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นการเล่นกับภาษาของคุณปราบดาถูกหยิบยกมาพูดกันมาก (คุณปราบดาถึงกับต้องออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการปลดแอก ความเป็นทาส เป็นนายของภาษากันเลยทีเดียว) แม้จะมีส่วนคล้ายคลึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น meta-fiction กับโพสโมเดิร์นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป บรรยากาศเป็นกันเอง คือเรื่องสั้นที่แทบไม่ได้ก้าวข้ามกำแพงที่สี่เลย แต่ถ้าคนอ่านยอมรับกฎเกณฑ์ความไม่มีที่มาที่ไปของตัวละคร จะจับความได้ว่าน้ำใจสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในทุกสถานการณ์ ระหว่างคนแปลกหน้าผู้ "ไม่มีที่มาที่ไป" สองคน


อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ความน่าจะเป็นมีทั้งเรื่องสั้นที่ประสบ และไม่ประสบความสำเร็จ แม้ อะไรในอากาศ จะพยายามเล่นกับขนบของภาษาพูด แต่ด้วยความยาวของมัน ทำให้แต่ละองค์ประกอบซึ่งบรรจุอยู่ภายในไม่ได้ไปทางเดียวกันทั้งหมด ประกอบกับสานส์และวิธีนำเสนอที่ไม่สัมพันธ์กัน ก็เลยจะกลายเป็นรอยร้าวในระบบของชิ้นงาน เช่นเดียวกับ ตามตาต้องใจ ที่ผู้เขียนจงใจสื่อความน่ารัก ความผิดสามัญของเด็กหญิงต้องใจ และ ตื้น-ลึก หนา-บาง ที่เล่นกับสำนวนภาษา ทั้งสองเรื่องลงรายละเอียดมากมาย แต่เหมือนผู้เขียน "สนุกมือ" เกินไป พอเรื่องราวไม่ดำเนินไปไหน จึงออกมาเหมือนภาพสเก็ต มากกว่าเรื่องสั้นเป็นชิ้นเป็นอัน

ในหนังสือรวมบทความ The Curtain มิลาน กุนเดระกล่าวอย่างชวนคิดว่าประวัติศาสตร์ของวรรณกรรม (และงานศิลปะอื่นๆ )ไม่ได้ทดแทนกันและกัน ของเก่าไม่ได้มาแทนที่ของใหม่ หากอยู่เคียงข้าง วางเป็นคู่ ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้โดยรวมความน่าจะเป็นจะประกอบไปด้วยเรื่องสั้นที่โอบกอดแนวคิด และความงามแบบหลังสมัยใหม่ แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่เข้าทำนองแบบแผน และเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในเล่มเสียด้วย ซึ่งก็คือ ความน่าจะเป็น ผลงานชิ้นนี้เล่นกับขนบวรรณกรรมว่าด้วยการเติบโต ตัวเอกของเรื่องทำนองนี้มักมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เข้ามาหาโอกาสในกรุงเทพฯ ผ่านความลำบาก ล้มเหลวก่อนจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับศีลธรรม และความใสซื่อแบบต่างจังหวัดที่ถูกปลูกฝังมาแต่เกิด แต่คุณปราบดาไม่ได้ให้ "ฉััน" เปลี่ยนแปลงไปขนาดนั้น ถึงแม้จะมีอาชีพคนโฆษณาซึ่งรับใช้ตลาด และนายทุน แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวของ "ฉัน" ซึ่งคนดูจับต้องได้คือ "เหงาขึ้น" (ไม่ได้ "เลวลง" เหมือนขนบเรื่องทำนองนี้) "ฉัน" คือมนุษย์ในโลกหลังสมัยใหม่ ซึ่งบรรทัดฐาน การตัดสินจากภายนอกกลายเป็นเรื่องนอก (หรืออย่างน้อยก็ไกล) ประเด็นไปเสียแล้ว ความเหงา และการขาดราก (สื่อผ่านการตายของตา และยายที่เลี้ยง "ฉัน" มา) ต่างหากคือรูโหว่ทางศีลธรรมอย่างแท้จริง

ความน่าจะเป็น ไม่ใช่แค่ก้อนกรวดที่ถูกโยนลงบ่อวรรณกรรม สร้างวงคลื่นชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ถัดจากหนังสือเล่มนี้ ก็มีผลงานชิ้นอื่น ที่แม้ไม่ได้รับอิทธิพลมาจากคุณปราบดาโดยตรง แต่ก็ช่วยให้สังคมเปิดกว้าง และยอมรับผลงานเหล่านั้นมากขึ้น ชัดเจนสุดคือ โลกของจอม ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีถัดมา (น่าคิดเหมือนกันว่าถ้า กูคือพระเจ้าออกตีพิมพ์หลังจากปี 2545 มันจะยังคงพ่ายแพ้ให้กับนวนิยมอนุรักษ์นิยมตกขอบอย่าง อมตะ อยู่ไหม) กระทั่งการเล่าเรื่องกึ่งสารคดีของคุณเดือนวาดใน ช่างสำราญ รวมไปถึงผลงานนักเขียนรุ่นใหม่อย่างคุณอนุสรณ์ ติปยานนท์

อย่างไรก็ดีภายหลัง ความน่าจะเป็น คุณค่าแบบวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ และการเล่าเรื่องแบบอนุรักษ์นิยมถูกนำมาผสานกันอย่างชัดเจนขึ้นในผลงานยุคหลังๆ ของคุณปราบดา ตั้งแต่บทภาพยนตร์ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล จนถึงนิยาย ฝนตกตลอดเวลา พัฒนาการด้านวรรณกรรมของคุณปราบดาสวนกระแสกับภายนอก คือเริ่มจากชิ้นงานที่หลังสมัยใหม่มากๆ ก่อนปรับเข้าหารสนิยมการอ่านและเสพย์ของผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะแต่ผลงานชิ้นเอกที่แท้จริงจะต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุคสมัยในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมให้มาบรรจบกันให้ได้

และนี่คือโจทย์ และเป้าหมายของนักเขียนตั้งแต่ยุคคลาสสิค สมัยใหม่ จนถึงหลังสมัยใหม่

1 comment:

leshe said...

q9y53q2i09 m6o17d5w84 z4w96h8l59 n0n89y1z42 i1c84c6i12 l5e56e9a99