ว่ากันว่า ถ้าบทละครทั้งโลกถูกเผาไฟ แล้วเหลือรอดมาแค่ Hamlet เพียงเรื่องเดียว ก็ยังถือว่าการละครสามารถดำเนินต่อไปได้ นี่เป็นอติพจน์โวหารยกย่องบทละคร Hamlet ว่ามันลึกซึ้งถึงขนาดเอามาตีความได้ไม่รู้จบสิ้น แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่เอาบทละครเรื่องเดียวมาดัดแปลงเล่นกันทั้งโลก สุดท้ายมันจะไม่มีฉบับไหนเลยหรือที่ออกมาผ่าเหล่าผ่ากอ ในทางตรงกันข้าม ถ้าโลกนี้เหลือ Hamlet ให้เล่นเพียงเรื่องเดียว หากไม่มีฉบับไหนตีลังกาเล่นเลย มันจะไปสนุกอะร้าย
(เอาเข้าจริง เราว่าการอ่าน Hamlet แบบฟรอยด์ ที่เรียกเจ้าชายแห่งเดนมาร์กว่าเป็น "ราชายืดยาด" มันก็โคตรจะผ่าเหล่าผ่ากอเลย แต่ด้วยฟรอยด์ใช้วิธีอ่านแบบนี้มาสนับสนุนทฤษฎีอันโด่งดังของตัวเอง "ราชายืดยาด" ก็เลยกลายเป็นฉายามาตรฐานของแฮมเลตไป)
Hamlet ฉบับที่พิสดารที่สุดเท่าที่เราเคยดูคือภาพยนตร์เรื่อง Prince of the Himalayas เป็นหนังธิเบต (เรื่องแรกเลยด้วยกระมัง) เอา Hamlet มาตีความใหม่ โดยสรุปลงท้ายว่าผีพ่อของแฮมเลตเป็นผู้ร้ายสูดสุด เจ้าชายแฮมเลตคือลูกที่แท้จริงของคลอดิอุส และเกอทรูตที่ลักลอบได้เสียกัน (ที่จริงคือราชาแฮมเลตใช้สิทธิเจ้าปกครองแย่งชิงคนรักมาจากน้องชาย) ราชาแฮมเลตเมื่อรู้ความจริงก็พยายามฆ่าล้างบาง แต่ตัวเองถูกปลงพระชนม์เสียก่อน ก็เลยมาปรากฏตัวเป็นวิญญาณให้เจ้าชายแฮมเลตเห็น เพื่อหลอกให้แฮมเลตสังหารพ่อที่แท้จริงของตัวเอง
บทสรุปของ Hamlet ฉบับธิเบตก็คือการแก้แค้นเป็นเรื่องไม่ดี มาอภัยปรองดองกันดีกว่า (จุ๊บๆ )
เรียกได้ว่าอ่านผิด แปลงผิดเสียจนเลเวอลิน ซินแคลร์ยังต้อง facepalm (เลเวอลิน ซินแคลร์เป็นตัวละครในเดอะซิมสัน จากตอนที่ดังมากๆ คือ A Streetcar Named Marge หมอนี่ดัดแปลงบทละครของเทนเนสซี วิลเลียม แล้วก็อ่านผิดกระจุยกระจาย จนเกิดเป็นคำพูดตบท้ายที่ดังมากคือ "คนแปลกหน้านั้นไซร้ ก็คือเพื่อนที่สูยังบ่ฮู้จักนั่นแล") แต่อย่างที่บอก ก็เพราะอ่านผิดแปลงผิดนี่แหละ Prince of the Himalayas ถึงได้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ตรึงใจเรามากๆ
ในแง่หนึ่งการอ่านผิดแปลงผิดมันมีเสน่ห์ของมันอยู่ บทความคราวนี้ก็เลยอยากจะลองวิเคราะห์การอ่านผิดแปลงผิดในรูปแบบต่างๆ ดู (พึงตระหนักว่า ในโลกที่เหลือบทละครเชคสเปียร์แค่เรื่องเดียว ถ้าทุกฉบับออกมาตามที่เชคสเปียร์ตั้งใจหมด คงน่าเบื่อพิลึก ดังนั้นความล้มเหลวและความสำเร็จ กรณีนี้จึงแบ่งกันแค่เส้นบางๆ เท่านั้น)
กรณีแรกนี้ เอาเข้าจริงจะเรียกว่าอ่านผิดก็ไม่เชิง ในเมื่อผู้กำกับไม่ได้ทำอะไรใหม่ นอกจากพยายามเดินตามร่องรอยที่ผู้เขียนทิ้งไว้ แต่บทละครก็เหมือนเครื่องจักรอันซับซ้อน บางครั้งน็อตหวานไปแค่ตัวเดียว ที่ใส่หมูแล้วจะออกมาเป็นไส้กรอก อาจกลายเป็นไก่ย่างไปเลยก็ได้ ตัวอย่างที่เรานึกได้ตอนนี้คือ แมคเบธ ฉบับเปิดโรงละครใหม่ของคณะอักษร
น่าอัศจรรย์ว่า ขณะที่ทีมงานถอดความบทละครดั้งเดิมแทบไม่มีตกไม่มีหล่น แต่ผลงานที่ได้กลับมีกลิ่นไทยเอามากๆ เชคสเปียร์ใส่เรื่องราวของแม่มดทั้งสามลงไป เพื่อสร้างบรรยากาศความลึกลับเหนือจริง แต่ในฉบับดัดแปลงของอักษร ประเด็นแม่มดถูกขับออกมากลางเวที แมคเบธ จึงกลายเป็นบทละครเกี่ยวกับความเชื่อโชคลางของผู้นำประเทศและหายนะที่ตามมา (อาจเป็นด้วยเรื่องบังเอิญว่า ขณะนั้นข่าวแซวหน้าหนึ่งที่โด่งดังของเมืองไทยคือ "วิชาที่ออกฟอร์ดไม่ได้สอน" ว่าด้วยการที่อดีตนายกอภิสิทธิ์ ไปนุ่งขาวห่มขาวทำพิธีต่ออายุรัฐบาลพรรคปชป.)
ส่วนหนึ่งก็เพราะฉากที่สะกดคนดูที่สุดในละครคือฉากงานสังสรรค์ของแม่มด ในครึ่งหลัง เงาและอิทธิพลของไสยศาสตร์ครอบงำบทละครอย่างสลัดไม่พ้น ผ่านคำทำนายของแม่มด (คนดูคอยลุ้นว่าสุดท้ายแล้วแมคเบธจะถูก screwed over ได้ยังไง ในเมื่อฤษีลิงดำท่านทำนายออกมาดีเว่อร์ขนาดนั้น) แมคเบธ ฉบับนี้จึงกลายเป็นบทละครเกี่ยวกับ superstition แทนที่จะเป็น ambition ไป ซึ่งนี่อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็ได้ เพราะตอนจบแม่มดทั้งสามก็โผล่ออกมาพูดบทเปิดละครอีกครั้ง (ซึ่งจุดนี้ไม่มีในต้นฉบับ)
ขอย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า ถึงเราจะใช้คำว่าอ่าน "ผิด" แต่เราชื่นชอบผลลัพท์มากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นความไร้ขีดจำกัดของบทละครเชคสเปียร์ ที่เมื่อเอามาเล่นข้ามวัฒนธรรม ก็มีแง่มุมใหม่ๆ ผุดขึ้นมา
กรณีต่อมาคือ Prince of the Himalayas ดังที่กล่าวถึงไปแล้ว ความผิดลักษณะนี้คือผิดเพราะ "ตอบโจทย์ผิด" เราเองก็ไม่แน่ใจว่าสังคมธิเบตจริงๆ เป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าคงอนุรักษนิยมสูง บทละครที่แสดงถึงด้านมืดของตัวเอกอย่าง Hamlet จึงอาจเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน เกินกว่าจะบรรจุลงในสังคมธิเบตได้ (เราเชื่อว่าผู้กำกับรู้แหละ ว่าจริงๆ Hamlet มันเกี่ยวกับอะไร แต่บางทีด้วยเงื่อนไขการขอทุน การสร้างภาพยนตร์แห่งชาติ เขาเลยต้องจงใจอ่านผิด) การอ่านผิดลักษณะนี้ จึงมาจากการตอบโจทย์ และเข้าใจบทละครดั้งเดิมผิดนั่นเอง (ละคร รักทรยศ ที่เราเพิ่งเขียนถึง ก็เข้าข่ายลักษณะนี้)
แน่นอนว่าบทละครไม่ใช่ข้อสอบเลข ไม่มีถูกผิด ดังนั้นการอ่านผิดในลักษณะนี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้รสชาติแปลกใหม่ในการชมละคร
อ่านผิดในลักษณะสุดท้าย คือการที่ผู้กำกับคิดเอาเองว่าเพิ่มตรงนี้ หรือตัดตรงนี้ออก ก็ไม่เป็นไรหรอกน่า การอ่านผิดลักษณะนี้ไม่ค่อยน่าชื่นชมนัก อย่างน้อยการอ่านผิดสองแบบแรก ก็ยังมีความพยายามที่ดิ้นอยู่ในโจทย์ที่บทละครให้มา แต่อ่านผิดแบบนี้ ถ้าไม่เกิดจากอาการ "เรื้อน" ของผู้กำกับเอง ก็เกิดจากเงื่อนไขทางการตลาด ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายส่วนใหญ่จะอ่านผิดลักษณะนี้เยอะ (ลองถามครูเกิ้ลประมาณ "worst novel adaptation" จะได้ลิงค์ขึ้นมาเพียบเลย) ตัวอย่างที่เราพอจะนึกออกคือ The Steadfast Tin Soldier ใน Fantasia 2000 ซึ่งเปลี่ยนตอนจบ และ -- พูดในฐานะแฟนของแอนเดอสัน -- "ทำลาย" นิทานเรื่องนี้ (เราไม่มีปัญหานี้กับ The Little Mermaid อาจจะเพราะเราไม่คิดว่าการจบเศร้าของนางเงือกน้อยมันจำเป็นเท่ากับทหารดีบุกผู้ยืนยง)
คราวหน้าเราจะมาดูมหากาพย์แห่งการอ่านผิดกัน
No comments:
Post a Comment