ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย



จากประชาไทครับ

คุณวิทยากร เชียงกูล
"ปัญหาของสังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่อยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ 14 ตุลาคม 2516 เทียนวรรณ หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกทำให้ลืม ถูกลดความสำคัญลง นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหารากเหล้าจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ก็คือวัฒนธรรมของการกล่อมเกลาทางสังคมนั้นเป็นวัฒนธรรมของสังคมเกษตร พึ่งพาตนเองอยู่ภายใต้ระบอบศักดินา สอนการท่องจำ ให้เชื่อระบบอาวุโส เชื่ออำนาจนิยม เชื่อเจ้าขุนมูลนาย สอนแต่เรื่องนี้ตลอดทั้งในบ้าน ในสังคม ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจึงไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การมองภาพแบบเชื่อมโยง องค์รวม เป็นการสอนเทคนิควิชาชีพ ไปรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเราจะมีคนที่เก่งด้านอื่นๆ แต่ตอบเรื่อง 6 ตุลาอย่างโง่เง่ามาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของระบบการศึกษา เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศชาติ และนี่ก็โยงมาถึงปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ว่าความคิดแบบสองขั้วสุดโต่งนั้นใช้อารมณ์มาก

6 ตุลานั้นเป็นความรุนแรงสองขั้วโดยเฉพาะความโง่เง่าของชนชั้นปกครอง ความกลัวหนึ่งก็คือเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะความกลัวว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกต่างชาติ คอมมิวนิสต์เป็นพวกล้มล้างสถาบัน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เขาระมัดระวังมาก ไม่ค่อยแตะ เขาพูดเรื่องสังคมที่เป็นธรรม มองพัฒนาการของสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่เหมือนระบอบทักษิณ ที่เขากล้าแตะ แต่ชนชั้นผู้ปกครองกลัวเกินเหตุ เพราะจริงๆ แล้วหลัง 14 ตุลา นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้า เลิกสนใจสังคมนิยมบ้าง เพราะสังคมนิยมกำลังเติบโต จีนกำลังพัฒนาประเทศ ความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมมีสูง รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็มีอยู่สูง สังคมนิยมก็เป็นคำที่มีเสน่ห์ และอธิบายได้ดีกว่าระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตย แต่ยังไม่ไปไกลมาก แต่ชนชั้นผู้ปกครองใจแคบ ก็เลยเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง และสังคมไทยไม่ได้พยายามเรียนรู้ที่จะหาทางออกอย่างสันติวิธี คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พยายามเสนอสันติวิธีแต่ก็โดนด่าจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักศึกษาก็ว่าอาจารย์ป๋วยไปประนีประนอมกับผู้ปกครอง ฝ่ายผู้ปกครองก็กล่าวหาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ท่านเป็นนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม

ปัจจุบันผมคิดว่าคนที่เชื่อทักษิณแบบด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากพอสมควร แม้แต่นักวิชาการ หรือบางคนก็มีผลประโยชน์โดยตรง บางคนก็สวิงกลับหลังจากผิดหวังกับระบบสังคมนิยม บางคนก็อยากเป็นนายทุนด้วยไปทำงานร่วมกับสมัคร สุนทรเวชได้ และลืม 6 ตุลาได้ ซึ่งการลืมนี่ก็เป็นปัญหาของคนเราที่อยากจะลืมสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง อยากจะก้าวไปข้างหน้าผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรง

และส่วนของพันธมิตรฯ ก็ใช้อารมณ์เยอะ และเป็นความรุนแรงมาก เป็นเหมือนฝ่ายขวาที่ใช้เรื่องคอมมิวนิสต์โจมตีนักศึกษา แต่เราก็ไม่ควรมองง่ายๆ แบบเย้ยหยัน เพราะมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แนวร่วมและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นหลักประเด็นรองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือการโค่นล้มทักษิณ ซึ่งมีอำนาจครอบงำอะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นอันตรายจริง เพียงแต่ว่านักวิชาการซึ่งเป็นปัจเจกเสรีนิยมมากก็มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความสุดขั้ว ในวงการวิชาการ ในครอบครัวอะไรต่างๆ แตกเป็นสองขั้วหมดเลย

สิ่งที่เราน่าจะคิดถึงอนาคตของประเทศไทยต่อไป คือการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ เสนอนั้นก็น่าต้องคิดต่อ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกผู้แทน แค่ย้อนไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีแล้ว ก็มาเป็น 2550 เวลานี้ก็ยังไม่พอใจเพื่อให้เป็นการเมืองใหม่ แต่ปัญหาพื้นฐานไม่ได้แก้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นฐาน การกระจายรายได้ก็ไม่ได้แก้ ที่เคยพัฒนาขึ้นมาจาก 14 ตุลา ก็ไม่ได้พัฒนาต่อไป คนรวยก็ถูกหลอกด้วยบริโภคนิยมเหมือนรวยขึ้นแต่ก็เป็นหนี้มากขึ้น ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น และเดี๋ยวนี้มันสับสนเพราะอธิบายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาอธิบาย บางคนก็บอกเราเป็นพันธมิตรชั่วคราวได้ จับมือกับทหาร เพราะถ้ามองดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ทหารไม่สามารถกลับไปมีอำนาจแบบสฤษดิ์ได้อีกต่อไป นี่คือตัวอย่างที่เราต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์

ที่สำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้เด็กไทยได้เรียนรู้มากขึ้น ผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ การมองแบบเชื่อมโยง การวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นสำคัญ เพราะถ้ามองแบบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ล้วนๆ นั้นมีข้อจำกัด

ถ้าเราจะได้บทเรียนจาก 14 ตุลา และตัวอย่างที่เป็นประโยชน์เราต้องศึกษาวิเคราะห์ในบริบทเรื่องปัจจุบันด้วย"

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
"ปกติผมไม่มาร่วมงานแบบนี้เลย งานครบรอบ 6 ตุลา เพราะว่าผมเพิ่งอ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งเรื่อง The Holocaust Industry คนเขียนเป็นยิวเป็นศาสตรจารย์ที่ชิคาโก ชื่อ Norman G.Finkelstein เขาเสนอว่าบางครั้งเขารู้สึกว่าถ้าไม่มีการพูดเรื่อง Holocaust คือ การฆ่าชาวยิวเสียเลยจะดีกว่า ผมก็คิดว่าถ้าเราไม่พูดเรื่อง 6 ตุลาเลยดีกว่า ผมเสนอให้เป็นแบบกรณี 9 มิถุนายน 2489 ดีกว่า อย่างน้อยคนที่อยากจะสนใจศึกษาอย่างซีเรียสจริงๆ ก็ค่อยมาว่ากัน คนจะได้อย่างน้อยจะศึกษาก็ศึกษา แต่การจัดเสวนาแบบนี้ผมว่ามันแทบจะมีข้อไม่ดีมากกว่าดีในความเห็นของผม แต่ผมมาเพราะว่าผมสะดุดใจกับหัวข้อที่น่าสนใจ

ข้อเสนอของผม จะเรียกว่าเป็นคำนิยามหรืออะไรก็ได้ แต่ก่อนหน้าที่ผมจะพูดถึงข้อเสนอนั้น ผมอยากจะบอกว่าใครที่แคร์กับ 6 ตุลาจริงๆ แล้วยังสามารถสนับสนุนพันธมิตรฯได้ ผมเฮิร์ทมากๆ ผมอยากฝากไปบอกอาจารย์ชลธิราที่ไปเชียร์พันธมิตรฯได้นั้น ผมเฮิร์ทมากๆ และผมไม่สามารถจะเขียนวิจารณ์ได้ เพราะว่ามันเฮิร์ทจนเกินกว่าจะเขียน ผมจะพูดอย่างนี้ว่าใครที่แคร์กับเรื่อง 6 ตุลาแล้วสนับสนุนแนวทางของพันธมิตรฯ แสดงว่าไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย

6 ตุลาคืออะไร ถ้าผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาสักเล่ม ผมจะตั้งชื่อว่า The sacred and the violence แปลเป็นไทยคือ สิ่งศักดิ์สิทธ์กับความรุนแรง ความรุนแรงของ 6 ตุลานั้นคนตายน้อยกว่าเหตุการณ์ตากใบ แต่ความตายของ 6 ตุลา คือแม้คนตายแล้วยังต้องเอาศพไปทรมาน เอาศพไปแขวนไปตีซ้ำๆ เอาลิ่มไปตอก ไปเผา ทำอนาจารศพ สารพัดอย่าง คุณอะไรที่ตายไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังเอาไปฟาด นี่คือสิ่งที่...ทำไมไม่เกิดที่ตากใบ ไม่เกิดที่เขาพระวิหาร ไม่เกิดที่นปก. เพราะมันไม่เกี่ยวพันกับอีกขั้วคือความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ 6 ตุลานั้น คนคิดว่านักศึกษากำลังละเมิดความศักดิ์สิทธิ์

ทีนี้พันธมิตรฯ เข้ามาอย่างไร ผมไม่รู้ว่าใครก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า แต่มีการพูดว่าคนเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ บางคนเป็นคนก้าวหน้า ผมไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ดูที่ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องทางการเมืองคือโค่นระบอบทักษิณ แต่ถามว่าโค่นทำไม เพื่ออะไร เพราะอะไร

ผมขอเสนอว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรคือ Resacralization of Politic คือการทำให้ Politic มันศักดิ์สิทธิ์กลับมาใหม่ ผมฟันธงเลยนะ พันธมิตรฯ กำลังทำอะไร แม้แต่คำที่ใช้เองคือทุนที่สามานย์ คืออะไร ก็คือทุนที่ไม่มีคุณธรรม ทุนที่ไม่มีจริยธรรม นักการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด 70 กว่าปี แต่ทำไมครั้งนี้มันถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมทักษิณถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมพันธมิตรฯ จึงพูดซำแล้วซ้ำอีกว่าการเมืองใหม่คือทำอะไรก็ได้ แต่ประเด็นคือสิ่งที่พันธมิตรกำลังทำก็คือการพยายาม Resacralization คือการพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเมืองมันเลวทราม ไม่มีคุณธรรม นี่คืออะไร นี่คือทิศทางของคนที่ก่อความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลานั่นแหละ ว่าไอ้พวกนี้ มึงละเมิดความศักดิ์สิทธิ์"

เพื่อความเป็นกลางเลยยกมาให้อ่านกันทั้งสองความคิดเลยครับ ส่วนตัวผมแล้ว คงไม่ต้องเอ่ยอะไรมากว่าผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์ สิ่งที่คุณวิทยากรเสนอมานั้น อยู่ในกรอบวาทะกรรมแบบพันธมิตรซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย ในแง่ว่าทักษิณคืออันตรายอย่างยิ่งยวดต่อสังคมไทย และอันใดก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับทักษิณ ถือว่าดีหมด รับได้หมด รวมถึงความรุนแรงด้วย

ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่า "นิยามเชิงลบ" หมายถึงการที่เราจำกัดความสิ่งหนึ่ง ไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งไหน กรณีพันธมิตรนั้น เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่ทักษิณ ก็ต้องถือว่ามันเป็นดีแล้ว โดยเราลืมไปว่า แก่นแท้ของความเป็นพันธมิตรคืออะไร จับต้องได้หรือเปล่า ยังไม่ต้องพูดถึงว่าพันธมิตรไม่เคยนำเสนอทางออก หรืออะไรดีๆ แก่สังคมไทยสักครั้ง ตั้งแต่นายกพระราชทาน จนถึงสูตรเลิอกตั้ง 70-30

ผมหวังอย่างยิ่ง สำหรับใครที่คิดจะใส่เสื้อเหลือง แล้วออกไปเดินชุมนุมประท้วง ให้เขาถามตัวเองด้วยว่า เขากำลังสู้เพื่ออะไร ไม่ใช่กำลังสู้กับอะไร (ด้วยเหตุนี้ ผมเองก็ไม่สนับสนุนให้ใครใส่เสื้อแดงออกไปเช่นกัน)

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ