เดาะลูกเชย (ตอนที่ 1)


ในงาน workshop วรรณกรรม มีการพูดถึงความแตกต่างระหว่างสองเรื่องสั้น โดยเรื่องแรกถูกชมว่า “มีลูกเชย” ส่วนเรื่องหลังถูกตำหนิว่า “เชยไป” ซึ่งถ้าเราเป็นน้องเจ้าของเรื่องหลัง คงอดเซ็งนิดๆ ไม่ได้ว่า ตกลง “มีลูกเชย” มันต่างจาก “เชยไป” อย่างไร ซึ่งประเด็นความเชยนี่เราว่าน่าสนใจอยู่ เลยอยากพูดถึงในรักชวนหัว

อย่างแรกก็คือคำว่า “เชย” ที่ใช้ในทางวรรณกรรมนั้น ดูจะมีความหมายผิดเพี้ยนไปจาก “เชย” ในชีวิตประจำวัน ซึ่งน่าจะตรงกับ “out of fashion” หรือ “พ้นสมัย” พอพูดถึงคำว่า “เชย” คนไทยจะนึกถึง “หนุ่มบ้านนอกหน้าตาเชยๆ “ หรือ “นักวิชาการแต่งตัวเชยๆ ” ถ้าเอาคำคำนี้ไปใช้ขยายหนังสือหรือนิยายสักเรื่อง ก็คงพอคิดไปได้ว่าเป็นนิยายที่พ้นสมัยไปแล้ว เช่น นางเอกทำงานเป็นคนใช้ในคฤหาสน์หลังใหญ่ ถูกกลั่นแกล้งสารพัด แต่ตอบจบเฉลยว่าเพราะมีปานแดงเลยเป็นผู้รับมรดกที่แท้จริง และได้แต่งงานกับคนสวนที่เป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา

แต่คำว่า “ลูกเชย” ที่ใช้ในงาน workshop วรรณกรรมน่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับ “cliché” หมายถึงของที่ใช้กันเกร่อแล้วในอดีต เอามาใช้อีกก็ไม่ค่อยแปลกใหม่เท่าไหร่ ดังนั้นถ้าหนังสือเล่มไหนถูกหาว่า “เชย” น่าจะเป็นคำติเตียนมากกว่าคำชม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยมายาคติที่ว่าเป็นหน้าที่ของนักเขียนต้องคอยหาอะไรแปลกใหม่มาบำเรอคนอ่าน ถ้าเอาของเก่ามาหากิน ก็จะถูกประณามว่า “เชย” แน่นอนเราไม่เห็นด้วยกับมายาคติดังกล่าว กรณีนี้ก็เลยอยากมานั่งวิเคราะห์ถึงวิธีการเดาะลูกเชยในรูปแบบต่างๆ ที่นอกจากจะไม่ทำให้เกิดโทษแล้ว ยังอาจจะเป็นคุณประโยชน์เลยด้วยซ้ำ

เดาะลูกเชยแบบเจมส์ คาเมรอน: การโอบกอดความเชย

เคยนั่งวิเคราะห์กับเพื่อนฝรั่งนักดูหนังถึงความสำเร็จของ Avatar ใครที่ไปดูคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความซ้ำซากของเนื้อเรื่อง แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะบอกว่าภาพยนต์เรื่องนี้มีดีแต่ด้านเทคนิกเราก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย ในความเชยมีการเล่าเรื่องที่ชัดเจน อยู่หมัด ถึงคาเมรอนจะไม่ได้ใส่ลูกเล่นอะไร แต่สิ่งที่ควรทำ แกก็ทำได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ในแง่หนึ่ง ความเชยที่ไม่ขาดตกบกพร่อง (คือหาเรื่องมาตำหนิไม่ได้ นอกจากว่ามันเชย) กลับกลายเป็นฐานส่งของภาพสามมิติวิริศมาหรานั้น (ซึ่งเป็นลักษณะเด่นคาเมรอน ไม่ว่าจะเป็นตอนกำกับ Titanic หรือ Terminator 2)

ตัวอย่างในทางวรรณกรรม เช่น ความสุขของกะทิ คุณงามพรรณโอบกอดความเป็นนิยายเด็กเชยๆ แต่มาใส่จุดเด่นตรงภาษาอันสวยงามแทน หรือกระทั่งเรื่องสั้นของบรมครูมนัส จรรยงค์ แท้ที่จริงก็เล่าเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่ใช้ภาษาสร้างภาพพจน์ได้อย่างดีเยี่ยม ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ลาว คำหอมก็มีความเชยแบบเพื่อชีวิต อันเป็นมาตรฐานให้เด็กรุ่นหลังศึกษา (และเลียนแบบ) มาได้จนถึงทุกวันนี้

ข้อแนะนำสำหรับนักเขียนหรือศิลปินที่ต้องการโอบกอดความเชยคือ ต้องปราศจากข้อติติงอย่างแท้จริง เพราะตัวเรื่องของคุณมันไม่มีอะไรแปลกใหม่อยู่แล้ว ถ้ายังมาก้าวพลาดเหยียบเท้าตัวเองอีก คุณจะสูญเสียใจของผู้อ่านไปทันที (แต่ก็แน่นอนแหละว่าการปราศจากหรือไม่ปราศจากที่ติ มันก็ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนบุคคลอีกนั่นแหละ)

เดาะลูกเชยแบบลุค แบสซอง: การพึ่งพิงหรือเพิกเฉยต่อความเชย

เราจัดพึ่งพิงและเพิกเฉยต่อความเชยอยู่ในหัวข้อเดียวกัน เพราะมันหมายถึงงานศิลปะที่ไม่สนใจความเชยของตัวเอง หนังและหนังสือบางเรื่องอาจจะเชยแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือในความไม่ตั้งใจนั้น อาจมีความจำเป็นแฝงอยู่ก็เป็นได้ แม้ว่า Moulin Rouge จะเป็นภาพยนต์ในดวงใจเรา แต่ถ้าเอาเนื้อเรื่องมาตีแผ่จริงๆ ก็อดแหยงๆ ไม่ได้ทุกคราว หนังประเภทไหนกันที่ให้นางเอกไอคอกแคกๆ มาตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วไปล้มบ่อท่าเอาตอนจบ (เหมือนกับหนังไทยที่ถ้าตัวละครหญิงอาเจียนขึ้นมาเมื่อไหร่ รู้ได้เลยว่าอีนี่ท้องแน่ๆ ) ผู้กำกับเคยบอกเราว่าลุค แบสซองอาจจงใจ เพราะท่ามกลางเทคนิกด้านภาพและการตัดต่อที่เอิกเกริกตระการตา ถ้ายังมีเนื้อเรื่องสลับซับซ้อนเข้าไปอีก คนดูจะเสพย์ไม่หมด

ความเชยลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยๆ ในวรรณคดีไทย เพราะจุดเด่นของร้องกรองไม่ได้อยู่ที่การเล่าเรื่อง แต่อยู่ที่การสัมผัสคล้องจอง ดังนั้นเรื่องส่วนใหญ่ก็เลยลอกมาจากนิทานพื้นบ้านและวนเวียนอยู่แต่กับเหตุการณ์เดิมๆ ผู้แต่งไม่สนใจด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังเล่าเรื่องเชยๆ อยู่หรือเปล่า เพราะประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่ทันสมัยขึ้นมา เช่น อกาธา คริสตีหยิบๆ ตัวละครลงมาจากชั้นแล้วยัดๆ เข้าไปในนิยายนักสืบ เพื่อให้คนอ่านมุ่งความสนใจ และเห็นปริศนาได้อย่างแจ่มแจ้งขึ้น

สังเกตว่าความเชยแบบนี้มักจะมาในงานศิลปะที่ไม่ขายเนื้อเรื่องตั้งแต่แรก เช่น ภาพยนต์ซึ่งเน้นด้านภาพ ร้อยกรองที่เน้นด้านเสียง นิยายนักสืบที่เน้นปริศนา รวมไปถึงเพลงป๊อบทั้งไทยและเทศ ด้วยเหตุนี้จึงอยากเตือนนักเขียนว่า นอกจากคุณจะเขียนนิยายนักสืบหรือมีไม้เด็ดจริงๆ (เช่น ใช้ฟอนท์ประหลาดซึ่งดึงดูดความสนใจได้ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย) อย่าพึ่งพิงหรือเพิกเฉยต่อความเชยเป็นดีที่สุด

2 comments:

tyler said...

Moulin Rouge เป็นผลงานกำกับของ บาซ เลอมานน์
ลุค เบซง น่าจะหมายถึง ฟิฟธ์อีลีเมนต์ หรือไม่ก็ ลีออง นะครับ

laughable-loves said...

เออใช่ ฮ่าๆ หน้าแตกเอี้ยๆ ผิดทั้งชื่อทั้งรูป จะไม่แก้ด้วย เก็บเอาไว้โชว์ความโง่ของเราให้คนอื่นเห็น