การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ (ประเวศ วะสี)


ที่จะกล่าวนี้เป็นเรื่อง “ระบบ” ไม่ได้หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขอให้เป็นกระบวนการทางปัญญามากกว่าเอาไปเร้าอารมณ์กันเรื่องบุคคล

เอาล่ะ ในเมื่อคุณหมอประเวศกล่าวมาเช่นนี้ เราก็จะขอเขียนถึง การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ โดยเอา “ความคิด” เป็นที่ตั้งไม่พูดถึงตัวบุคคลบ้างก็แล้ว แต่ขอแซวเล็กๆ ก่อนว่าหนังสือเล่มบ๊างบางแบบนี้ เหมาะยิ่งนักจะเรียกมันขำๆ ว่า “พันธมิตรมานิเฟสโต"

อย่างไรก็ตาม “การเมืองใหม่” ของคุณหมอประเวศก็ไม่ใช่การเมืองใหม่แบบพันธมิตรเสียทีเดียว ในส่วนที่เหมือนกันคือปฏิเสธระบบประชาธิปไตยที่อิงอยู่บนการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องชื่นชมคุณหมอเพราะทางออกที่ท่านเสนอมานั้น ไม่ได้เน้นย้ำการแต่งตั้ง สูตร 70/30 อะไร มีกล่าวถึงเป็นเซคชั่นเล็กๆ ในหนังสือ แต่ก็ทิ้งไว้แค่นั้น ขนาดคุณหมอประเวศเองก็คงตระหนักว่าให้ทั้งประเทศเลือกนักการเมืองดีๆ เข้ามาทำงานยังเลือกกันไม่ได้ นับประสาอะไรกับกรรมการจัดตั้งหยิบมือเดียว

อีกส่วนหนึ่งซึ่งเราเห็นด้วยและคิดว่าเป็นหัวใจหลักของ การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ คือการสร้างระบบประชาธิปไตยโดยเน้นที่รากฐาน ให้ผู้คนระดับรากหญ้าในแต่ละชุมชนมีส่วนร่วมในการปกครองตัวเอง ประชาธิปไตยระดับชุมชนจะทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาลกลาง แนวคิดของคุณหมอประเวศนั้นคล้ายคลึงกับประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมในอเมริกา ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลควรเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กและมีอิทธิพลที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ในขณะนี้ Ron Paul คือเจ้าพ่อของลัทธินี้)

แต่ที่เราไม่เห็นด้วยคือ คุณหมอประเวศใช้เหตุผลว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่มีเงิน ดังนั้นระบบที่อิงอยู่บนการเลือกตั้งจึงเป็นระบบของคนกลุ่มน้อยไม่เป็นประชาธิปไตย ขอยกคำพูดซึ่งเราเชื่อว่าเป็นหัวใจของการเมืองใหม่มาไว้ที่นี่แล้วกัน

กระบวนการทางศีลธรรมหมายถึงความถูกต้องเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในขณะที่ธนานุภาพขาดความถูกต้องเป็นธรรม และทำเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย จึงขาดพลังทางศีลธรรม

ในความเห็นเรา ปัจจุบันเงินตราก็เหมือนภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นภาษาที่คนส่วนน้อยในโลกใช้ แต่เมื่อมันมีสถานภาพเป็นภาษาสากล การปฏิเสธจะเรียนรู้หรือข้องแวะกับภาษาอังกฤษดูจะมาจากมิจฉาทิฐิเสียมากกว่า ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อการเลือกตั้งสามารถถูกซื้อได้ ก็หมายถึงเงินตราคือเรื่องของคนส่วนใหญ่ เป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ การเมืองใหม่จะไม่มีหมายความใดๆ ไม่อาจเกิดขึ้น หรือเติบโตไปไหนได้ ถ้าไม่เอาแง่มุมด้านเงินตรามาขบคิด

แน่นอนว่าปัจจุบันเงินตราไม่ได้มาในรูปแบบของเงินทอง เหรียญหรือธนบัตรที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว แต่มันมาในรูปแบบของนโยบาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ท้ายสุดธนาธิปไตยอาจไม่มีความแตกต่างใดๆ เลยกับการเมืองใหม่ก็ได้

ส่วนเรื่องศีลธรรม ถ้าย้อนตัวอย่างพรรคนาซีซึ่งคุณหมอประเวศหยิบยกมาใน การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ ต้องไม่ลืมว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งมาก็ไม่ใช่เพราะเงินตรา แต่เพราะ “ศีลธรรม” เพราะสิ่งที่คนเยอรมันในสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นศีลธรรม ถ้ามองความเป็นจริงในโลกและในประวัติศาสตร์ จะพบว่า “ศีลธรรม” คือต้นเหตุของสงครามและการเข่นฆ่าไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเงินตราแต่อย่างใด

No comments: