30 ปี 16 ตุลาฯ


เพื่อให้เข้ากับโอกาส วันนี้ขอพูดเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต สาเหตุจริงๆ ที่อยากเขียนบทความชิ้นนี้คือได้อ่านบท "ยอยศ" วรรณกรรมเพื่อชีวิตในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วบังเกิดอาการธาตุไฟแตกพล่าน

เคยมีคนวิพากษ์วิจารณ์ สาเหตุที่คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเราขาดนักวิชาการคอมมิวนิสต์ หมายถึงแกนนำผู้ศึกษาปรัชญามาร์ค เอเกลอย่างจริงจัง แล้วนำไปประยุกต์ใช้ หรือถ่ายทอดให้สหายฟัง ประเทศเรา (ในสมัยนั้น) ไม่มีคนอย่างเลนิน หรือเหมาที่ศึกษาคอมมิวนิสต์ เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันศึกษาทุนนิยม ธนาคารโลก เอเพค

พอได้ฟังแบบนี้ อดีตแกนนำคอมมิวนิสต์คนหนึ่งก็โต้ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า แม้เราจะขาดนักวิชาการ แต่ถ้าพูดถึงงานศิลปะ ประเทศไทยไม่ด้อยกว่าใคร ไม่เชื่อก็ลองดูผลงาน ดนตรี กวี วรรณกรรมภายใต้ธงแดงสิ

ใครก็ตามที่พูดเช่นนี้ ไม่เข้าใจอะไรแม้แต่น้อยเกี่ยวกับงานศิลปะ

ศิลปะ ที่ขาดความหนักแน่นทางวิชาการ และความคิด เป็นได้อย่างมากก็แค่ผลผลิตของกาลเวลา คำว่าผลผลิตของกาลเวลาคืออะไร ผมแบ่งผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นสองประเภท ประเภทแรกอยู่ "เหนือกาลเวลา" ผลงานซึ่งอิงอยู่บนธรรมชาติ จิตวิทยา และความรู้ ผลงานประเภทนี้ได้แก่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วรรณกรรมตะวันตกชั้นดีทั้งหลายแหล่ ส่วนประเภทหลังคือ "ผลผลิตของกาลเวลา" หมายถึงงานสร้างสรรค์ซึ่งถูกทำขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคม และความเชื่อในขณะนั้น ตัวอย่างเช่นสปอตโฆษณา กล่อง ซองผลิตภัณฑ์ หนังสือตาหวาน โรแมนติกเกาหลี (ที่คนไทยเขียน) หรือหนังสือแฉ ก็จัดเป็นผลงานที่ว่า

วรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยเฉพาะวรรณกรรมรุ่นตุลาเป็นได้อย่างมากก็แค่ประการหลัง ช่วงนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังลุกฮือ (ทั้งต่างชาติ และในประเทศ) คนหนุ่มคนสาวหันมาอ่าน "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ใครเขียนบทกวี หรือเรื่องสั้นที่มีชาวนา คนยากจนเป็นพระเอก แล้วแสดงภาพคนร่ำรวย นายทุนชั่วฉิบหาย รับรองขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาเขียนหนังสือแนวนี้แทน (ซึ่งก็คือตัวอย่างของ "กลไกตลาด" แขนขาแห่งระบบทุนนิยม ตลกไหมเล่า)

ถ้าไม่เชื่อลองฟังคำพูดของคุณอำนาจ เย็นสบายสิ "ถือว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ไม่ได้ศึกษางานเพื่อชีวิตกลายเป็นคนตกยุคไปเลยก็ว่าได้" ฟังดูเหมือนแฟชั่น เสื้อสายเดี่ยวยังไงพิกลไหม

น่าเสียดายทั้งที่ก่อนหน้านั้น วรรณกรรมไทยที่เข้าใกล้คำว่า "เหนือกาลเวลา" ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่นเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส จรรยงค์ ผลงานของไม้เมืองเดิม หรือศรีบูรพา ในเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส ทั้งคนจน คนรวยเป็นมนุษย์ที่มีกิเลศ ความต้องการเหมือนกันหมด อาจารย์มนัสมองตัวละครด้วยสายตาอ่อนโยน ขบขัน และเข้าใจ ตรงกันข้ามกับผลงานหลัง 14 ตุลา ที่คนจน คนรวย ถูกเปลี่ยนเป็น "ตัวการ์ตูน" เปรียบเทียบง่ายๆ คือเรื่อง "พลายทองคำ" และ "ฟ้าบ่กั้น" เนื้อเรื่องเหมือนกันทุกประการ (ควาญช้างยาจก ถูกลูกเศรษฐีแย่งคนรักไป สุดท้ายโดนทำร้ายจนเสียชีวิต ตอนหลังช้างสุดที่รักตามมาแก้แค้นให้นาย) ขณะที่เรื่องแรก ตัวละครเป็นมนุษย์ เรื่องหลัง ตัวละครตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเสียฉิบ

ไม่ได้หมายความว่าคนจนหมดไปแล้วจากสังคม หรือคนรวยเลิกเอาเปรียบ แต่พอกันที การมองอะไรง่ายๆ อย่างคนจนและชนบท = ดี คนรวยและกรุงเทพ = เลว ประเทศไทยยุ่งยากเพราะการตีความบวกลบแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง

จริงๆ ผมคงไม่เกิดอาการธาตุไฟแตกขนาดนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจ มองเห็นความเป็นไป และเปลี่ยนแปลงในโลก อาจารย์ลาวคำหอม ก็ไม่ได้เขียนอะไรแบบ "ฟ้าบ่กั้น" ออกมาอีกแล้ว คุณชาติ กอบจิตติเขียน "คำพิพากษา" นวนิยายวาดภาพชนบทในด้านลบ คุณวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า "มันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เราไม่อาจชี้หน้าโทษใครได้ ทุกสิ่งย่อมหมุนไปตามโลก...ทุกวันนี้ งานของผมก็หนีไม่พ้นความคิดที่อยากปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น เพียงแต่อยู่ในบริบทของวรรณกรรม ที่ต้องมีความบันเทิง มีพระเอก นางเอก แต่ยังคงมีเรื่องของสิทธิชาวบ้านแฝงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เพ่งไปตรงๆ อย่างยุคของ 14 ตุลาฯ" คนรุ่นตุลาฯ หลายคนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนางานเขียนโฆษณาชวนเชื่อของตัวเอง ให้ใกล้เคียงสภาพ "เหนือกาลเวลา" ยิ่งขึ้น

ต่างจากคนรุ่นใหม่ ที่นับวันยิ่งบูชาวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา ตรงนี้เองที่ทำให้เราหงุดหงิด ทุกวันนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิต มันไม่ได้จะเป็นแค่ "ผลผลิตของกาลเวลา" แล้ว นับวันมันยิ่งกลายสภาพเป็น "กับดักทางวรรณกรรม" เข้าไปทุกขณะ ถ้าคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยังพาตัวเองออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าวรรณกรรมไทยจะพัฒนาไปไหนต่อไหน

No comments: