วาทกรรมวรรณกรรม (พิเชฐ แสงทอง)


ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหมวดหมู่วรรณกรรม “มนุษยนิยม” ที่พี่พิเชฐใช้ใน วาทกรรมวรรณกรรม เป็นนวัตกรรมทางด้านการวิจารณ์ ที่พี่พิเชฐคิดค้นขึ้นมาเอง หรือเป็นศัพท์ที่แวดวงวรรณกรรมไทยใช้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนตัวรู้สึกว่าการเอา humanism มาใช้เป็นชื่อ genre ในทางวรรณกรรมไม่ค่อยปรากฎในทฤษฎีการวิจารณ์ของตะวันตกมากนัก (แม้จะจริงอยู่ว่าวรรณกรรม และแนวคิดมนุษยนิยมนั้นแยกกันออกได้ยาก) ถ้าจะมีใกล้เคียงสุดก็คือวรรณกรรมแนวอัตถิภาวนิยม ซึ่งก็คือวรรณกรรมที่อ่านแล้ว ตระหนักถึงความเลิศลอย และภาระที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

อย่างไรก็แล้วแต่ การเอามนุษยนิยมเข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทยถือเป็นความหลักแหลมที่ช่วยให้เราเข้าใจอะไรๆ ได้ดียิ่งกว่าเดิม

เราเคยเข้าใจ “ผิด” มาตลอดมาวรรณกรรมช่วงรอยต่อศตวรรษ (แบบพุทธศักราช) นั้น ถ้าไม่ใช่แนวเพื่อชีวิต ก็สายลมแสงดาว หรือศักดิดาจ๋าไปเลย การวิเคราะห์ของพี่พิเชฐช่วยให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วก็มีแนวทางวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้จะเกิดมาจาก “คนรุ่นใหม่” หรือ “ปัญญาชน” แต่ไม่ได้มีเนื้อหาเคียงกับวรรณกรรมเอียงซ้าย มิหนำซ้ำยังถูกค่อนขอดจากกลุ่มเพื่อชีวิตอยู่เนืองๆ ด้วย

วรรณกรรมมนุษยนิยมชื่นชมความเป็นมนุษย์ และถือว่าการเขียนหนังสือที่ยัดเยียดบทบาทหน้าที่ (พระเอก นางเอก ผู้ร้าย นายทุน กรรมกร) ให้กับตัวละคร เหมือนกับที่เพื่อชีวิตชอบทำกัน เป็นการปฏิเสธ และไม่ให้อิสระกับทั้งตัวละคร และผู้อ่านนิยาย นักเขียนเพื่อชีวิตมักเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะที่นักเขียนมนุษยนิยมคือคนหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับสยามรัฐ แม้จะถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลเผด็จการเหมือนกัน แต่นักเขียนมนุษยนิยมดูไม่ใคร่มีความจำเป็นต้องหนีเข้าป่าช่วงหลังเหตุการณ์ 2519 นัก ถ้าบิดาของเพื่อชีวิตก็คือจิตร ภูมิศักดิ์ บิดาของมนุษยนิยมก็น่าจะเป็นคุณสุชาติ

การแบ่งแยกตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าเราลองไล่ชื่อนักเขียนชั้นครูแต่ละคนออกมาดู โดยเฉพาะคนที่เราเคยเชื่อว่าเขาเขียนหนังสือแบบ “เพื่อชีวิต” (คุณวัฒน์ อาจารย์อาจินต์ อาจารย์เนาวรัตน์ ฯลฯ) จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วแนวทางของพวกเขาคือ “มนุษยนิยม” ต่างหาก (แต่เราไม่เห็นด้วยกับพี่พิเชฐ ตรงที่ผลงานของอาจารย์ลาว คำหอม น่าจะใกล้เคียงกับงานเพื่อชีวิต มากกว่ามนุษยนิยม) ความสับสนตรงนี้เกิดขึ้นเพราะภายหลังจากชาวป่ากลับเมือง มนุษยนิยมเข้ามามีบทบาทในการผสาน “เพื่อชีวิต” กับงานเขียนแนวเสรีนิยมอื่นๆ แต่ปัญหาคือ อย่างที่พี่พิเชฐชี้ให้เห็น คำว่า “เพื่อชีวิต” เป็นสัญลักษณ์ (signifier) ที่มีความหมาย (signified) รุนแรงมาก จนมันกลืนกินคำชนิดอื่นเข้าไปจนหมดสิ้น ปัจจุบันเราเลยเข้าใจ “ผิด” กันไปหมดว่าต้นกำเนิดของงานเขียนอย่างของคุณวรภ คุณจำลอง (ซึ่งเราชอบเรียกขำๆ ว่า deconstructed forlifism หรือเพื่อชีวิตแบบรื้อสร้าง) คุณกนกพงศ์ มาจากจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งที่ถ้าเราสืบสายอิทธิพลทางวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์จริงๆ มันอาจสั้น และแคบกว่าที่หลายคนคาดก็ได้

ข้อเสนออย่างหนึ่งที่เรามีหลังจากการอ่าน วาทกรรมวรรณกรรม คือถ้า “มนุษยนิยม” คือคำศัพท์ที่พี่พิเชฐบัญญัติขึ้นมาเอง เราเสนอว่าใช้ “อัตถิภาวนิยม” ไปเลยดีกว่าไหม ความขรึมขลังของคำนี้ การที่มันมีประวัติศาสตร์อันชัดเจนในวรรณกรรมตะวันตก อาจจะช่วยให้เมื่อเอามาศึกษาในบริบทของสังคมไทยแล้ว จะไม่ถูก “เพื่อชีวิต” กลืนหายเข้าไปเช่นเดียวกับคำอื่นๆ

1 comment:

Unknown said...

ทู เข้ามาแอบอ่านสองครั้งแล้ว แต่ลืมทุกทีว่าคอมเมนต์ได้ ไม่คอมเมนต์ไรนะ ขอบคุณที่พูดถึง และตั้งคำถามที่น่าสนใจในบางประเด็น เยี่ยมมากๆ บ้านผมจะพูดว่า "หรอยๆ">>พิเชฐ<<