ทิศทางวรรณกรรมไทย ในสายตาคลื่นลูกใหม่


"ในสายตานักเขียนรุ่นใหม่ มองทิศทางวรรณกรรมไทยในปัจจุบันว่ามีสภาวะอย่างไร เพราะเหตุผลอะไรถึงมองเฉกนั้น แล้วคาดว่าน่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน"

น้องสาวเราคนหนึ่งถามคำถามนี้ เห็นว่าน่าสนใจดี เลยขอยกมาตอบในรักชวนหัวเลย

"ให้พี่ตัดสินแนวทางวรรณกรรมไทยคงไม่ง่ายนัก เพราะยังไงพี่ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศ เป็นแค่คนนอกที่ได้แต่มองเข้าไป ผ่านหนังสือที่ร้านดอกหญ้าสาขาแอลเอสั่งซื้อเข้ามา (บวกกับที่ขอให้ทางบ้านส่งทางไปรษณีย์) ตอบเท่าที่จะตอบได้คือ ตอนนี้เป็นยุคที่หน่อนักเขียนรุ่นใหม่ เริ่มเติบใหญ่ ให้เห็นต้น เห็นใบกันบ้าง ชื่อของอุเทน พรหมแดง ทัศนาวดี และอีกหลายๆ คน กำลังกลายเป็นตัวตนอันจับต้องได้ในสังคม และทางการตลาด ขณะนักเขียนรุ่นเคยใหม่ (ในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา) กำลังจะถูกจัดขึ้นหิ้งในเร็ววัน ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่ไม่ได้มองว่านักเลงเก่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ อย่างคุณเดือนวาด พิมวนา ที่ตอนนี้คงไม่อาจเรียกตัวเองว่า "นักเขียนใหม่" ได้เต็มปาก ก็ยังคงพัฒนาฝีมืออย่างไม่หยุดหย่อน

ถามว่าน่าตื่นเต้นไหม จริงๆ ก็ไม่นะ เพราะการเข้ามา และเขยิบไปของลูกคลื่น สุดแสนจะเป็นธรรมชาติ มิหนำซ้ำทิศทางวรรณกรรมในอนาคตอันใกล้คงเข้าทำนองเหล้าเก่าในขวดใหม่ คืออะไรที่คนรุ่นเดิมเคยขีดเส้นไว้ คนรุ่นใหม่ก็ยังคงเขียนกันต่อไป จากสมัยที่คุณปราบดาได้รางวัลซีไรต์ สร้างแรงบันดาลใจ ก่อเกิดกระแสเด็กแนวเอย หนังสือทำมือเอย และอะไรต่อมิอะไร ปัจจุบัน พี่มองว่าฝุ่นที่เคยตลบคลุ้งเหล่านั้นได้ตกตะกอนลงเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายวรรณกรรมบ้านเราก็วนเวียนอยู่กับประเด็น "เพื่อชีวิต"

ตรงนี้พี่ว่าน่าเสียดาย และน่าหวั่นใจนะ ถ้ามองว่าการเมืองกำลังเข้าภาวะผันผวน คนไทยหมิ่นวิกฤติอัตลักษณ์ทางการเมือง ไม่ช้าเราจะตัดสินกันไม่ถูกว่าควรเชื่อผู้ใด ใครเป็นเทพ ใครเป็นมาร กระทั่งว่าการเมืองคืออะไร ถ้าวรรณกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของสังคม ยังย่ำเท้าอยู่กับ "gesture" ("อากัปกิริยา") ซึ่งหยิบยืมมาจากคุณกุหลาบ คุณเสนีย์ พี่ว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาแน่ๆ

ไม่ใช่ว่าพี่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของคณะสุภาพบุรุษนะ แต่ในขนบ "เพื่อชีวิต" สิ่งที่เราทำๆ กันอยู่คือลอกเลียนมาแต่ "อากัปกิริยา" สมัยหนึ่ง ปัญญาชนเสียดสีผู้มีอำนาจ เชิดชูนักปฏิวัติ สิ่งเหล่านี้พี่เห็นว่ามันมีกาละเทศะ มีห้วงเวลา และสถานการณ์อันถูกแบบ ถ้าเราจะรับสืบทอด "แนวความคิด" เพื่อตรึกตรอง ดัดแปลง ปรับแก้อะไรที่ตกยุค และคงไว้ซึ่งสิ่งสร้างสรรค์ พี่เห็นด้วย แต่นี่เราดันลอกเลียน "อากัปกิริยา" มาทั้งดุ้น คือเราก็ยังคงด่านักการเมือง (โดยไม่สนใจว่าพวกเขาสมควรโดนด่าหรือเปล่า) แล้วเชิดชูคนที่วางตัวเองตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ (ทั้งที่จริงๆ ในสังคมมีทั้งอำนาจสว่าง และอำนาจมืด คนที่เราเห็นว่า "ไม่มีอำนาจ" อาจจะมีพลังมืดสนับสนุนอยู่ก็ได้)

สรุปก็คือการที่เราลอกเลียนมาแต่ "อากัปกิริยา" แต่ไม่ยอมรับ "แนวความคิด" พี่ว่าเป็นเรื่องอันตราย และเป็นเรื่องที่เกิดได้ง่ายในแวดวงวรรณกรรมบ้านเราเสียด้วย

ในอนาคต พี่อยากให้เรามีประเพณี และวิถีประชาที่ปกป้องนักวิจารณ์ เปิดโอกาสให้คนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อศิลปะงานเขียน ทำไมทุกวันนี้ภาพยนตร์ไทยไปไกลกว่าวรรณกรรมไทยหลายเท่า คำตอบข้อหนึ่ง พี่เชื่อว่าอยู่ในวัฒนธรรมการวิจารณ์ ตั้งแต่พี่ยังเด็ก ภาพยนตร์สร้างออกมาไม่ดี ก็ถูกนิตยสาร หนังสือพิมพ์ติเตียน แต่สำหรับหนังสือ ประหนึ่งว่าพอผ่านแท่นพิมพ์ก็ตรงขึ้นหิ้งบูชา การที่นักอ่านชื่นชม และติเตียนหนังสือได้อย่างเปิดอก พี่เชื่อว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนอยากอ่านหนังสือ กระตุ้นนักเขียนให้พัฒนาฝีมือ รวมไปถึงวางรากฐานการศึกษาด้านต่างๆ อีกด้วย"

2 comments:

awakendiva said...

ช่วยอธิบาย "อากัปกริยา" ได้มั้ยคะ
หมายถึง ลักษณะ ขนบส่วนตัว การนำเสนอของผู้เป็นต้นแบบหรือเปล่า
แต่จากที่มองในสายตาของตัวเอง(ที่อยู่ในประเทศ^^)วรรณกรรม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย ยังอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆที่เคยเห็นกันอยู่จากวรรณกรรมรุ่นก่อนๆ
แต่ที่มากคือปริมาณจำนวนผู้เขียน ที่(คาดว่า)"เกิด"ในบรรณพิภพก็หลายชื่อ และที่พยายามดันตัวเองอยู่ก็มาก ทั้งทำเนียบรางวัลต่างที่เปิดโอกาสให้ก็มีส่วนช่วย ดังนั้นพื้นที่ของนักสร้างวรรณกรรมจึงเหมือนขยายฐานให้ยืนได้สบายๆมากกว่าแต่ก่อน
แต่จากที่ได้ไปมาหาสู่แหล่งจำหน่ายหนังสือเป็นระยะ ก็ได้เห็นว่าชั้นวางของวรรณกรรมในนามนักเขียนหน้าใหม่คึกคักอยู่ตลอดทั้งผู้ซื้อและการหมุนเวียนเรื่องทุกๆสัปดาห์ นอกนั้นก็จะเป็นหนังสือรุ่นก่อนที่วางโชว์ไว้ตลอดเป็นธรรมเนียม อาทิผลงานของศักดิ์สิริ อังคาร กัลยาณพงศ์ ทินกร หุตางกูร ฯลฯ และสำนักพิมพ์ที่เชื่อมั่นได้ในคุณภาพเช่น Free Form ที่ส่วนมากเป็นหนังสือแปลคัดสรร ผู้ที่มาซื้อก็จะเตรียมตัวมาล่วงหน้า น้อยรายที่จะเดินเลือกชมแล้วตัดสินใจ ณ ขณะนั้น
จำประโยคหนึ่งได้ และชอบมากของคุณประภัสสร เสวิกุล ว่า
บางคนเป็นได้ถึงกวี ในขณะที่อีกหลายคนเป็นเพียงนักแต่งกลอน
บางคนเป็นได้ถึงนักประพันธ์ ในขณะที่อีกหลายคนเป็นเพียงนักเขียน (หรือผู้เขียนในอีกหลายๆคน)

^_^

laughable-loves said...

สำหรับพี่ "อากัปกริยา" คือสิ่งที่เราเห็นแต่ภายนอก แต่ไม่เข้าใจ ว่าคนที่แสดงอาการเหล่านั้น เขามีความคิด ความอ่านอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คุณกุหลาบ พูดถึงความยากลำบากของชาวนา ความคดโกงของนายทุน เราก็อยากพูดถึงไอ้อย่างเดียวกับเป๊ะ ซึ่งก็คือการคัดลอกมาแต่ "อากัปกริยา"

พี่คิดว่า หลายคนยังขาดความเข้าใจ เหตุใดคุณกุหลาบถึงพูดเช่นนั้น อะไรคือพื้นฐานความคิดของคุณกุหลาบซึ่งเป็นบุคคลในยุคนั้น และถ้าเราจะเขียนเรื่องเหล่านี้ ในปัจจุบัน ควรปรับแต่ง แก้ไขอย่างไร ให้มันทันสมัย สมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดช่วงห้าสิบกว่าปีนี้