โอ้ แม่เทพธิดา และพวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบ


รู้จักเธอคนนี้ไหมครับ เธอชื่อ "อูล์ด" เป็นหนึ่งในสามพี่น้องเทพธิดาจากการ์ตูนเรื่อง Oh! My Goddess ตอนที่อาจารย์ฟูจิชิมาเปิดตัวตัวละครตัวนี้ มีคำพูดติดตลก ซึ่งใช้บรรยายนิสัยของเธอคือ "อูล์ดเป็นคนที่ยึดติดกับเป้าหมาย จนไม่เลือกวิธีการ แต่ก็สามารถยึดติดกับวิธีการ จนลืมเป้าหมายได้เช่นกัน" เคอิจิ ตัวเอกของเรื่อง และเราเชื่อว่าผู้อ่านหลายคน รวมไปถึงตัวเราด้วยนั้น ฟังคำพูดนี้อย่างงงๆ ประมาณว่ามันเป็นไปได้ด้วยหรือ มีคนแบบนี้ในโลกแห่งความจริง หรือมีเฉพาะในการ์ตูน

ปรากฎว่ามีครับ หลายคนด้วย ตอนนี้พวกเขาออกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

ย้อนไปเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลทักษิณ ความน่าหงุดหงิดของรัฐบาลยุคนั้นคือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของนายก ไม่อาจลุกขึ้นมาทำอะไรได้สักอย่าง สื่อถูกปิดปาก กลไกสภาง่อยเปลี้ยเสียแข้งขา คนที่คลั่งไคล้ในตัวทักษิณก็ยังมีอยู่เหนียวแน่น ด้วยเหตุนี้ขบวนการหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา เพื่อต่อต้านด้วยวิธี "นอกระบบ" แต่ยังถูกกฎหมาย และอยู่ภายใต้หลักอหิงสา และสันติ

ข้อดีของระบบประชาธิปไตยคือสมดุลทางอำนาจ หมายถึงสามพลังสูงสุดได้แก่ รัฐบาล ศาล และ รัฐสภา คอยถ่วงดุล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ยิ่งในสังคมไทยมีอำนาจที่สี่ ซึ่งแม้ไม่อาจขยับเขยื้อนตัวได้ตามปรารถนา เพราะตามหลักการแล้วอำนาจนี้อยู่เหนือการเมือง แต่ก็คอยเข้ามาโอบอุ้ม แก้ไขสถานการณ์วิกฤติบ่อยครั้ง

กรณีที่สภาพถ่วงดุลตรงนี้พิการ อาจจำเป็นต้องมีการเมืองภาคประชาชนเข้ามาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรัฐบาล ถือเป็นสิ่งที่ดี และรับได้ครับ แต่ต้องไม่ลืมว่ามันเกิดมาจาก "เงื่อนไขเฉพาะกิจ" เท่านั้น เมื่อความ "เฉพาะกิจ" หมดไป สิ่งนี้ก็สมควรอ่อนแรงลง หรือหายไปจากสังคมด้วยซ้ำ

ลองหันมามองสังคมไทยตอนนี้อย่างเป็นกลางนะครับ ว่ามันเหมือนหรือแตกต่างไปจากเมื่อสามปีก่อนอย่างไร อำนาจที่สี่ได้ออกมาชี้นำตั้งแต่สมัยครั้งกระนู้นว่า เราควรหันมาพึ่งศาล หรือกระบวนการทางกฎหมายบ้าง ซึ่งศาลก็ได้พิสูจน์แล้วในความบริสุทธิ์ยุติธรรมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เรื่องการปิดปากสื่อ คงไม่ต้องพูดถึง ส่วนรัฐสภา ความแตกแยกของพรรคใหญ่น่าจะนำมาซึ่งกลไกการตรวจสอบที่ใช้การได้ดังเดิม

เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไปแล้ว สมควรหรือไม่ครับที่เราจะเปลี่ยนวิธีการเพื่อจุดหมาย แต่น่าสังเกตว่าช่วงสาม สี่เดือนที่ผ่านมา "วิธีการ" เริ่มทวีความเข้มข้น และรุนแรงขึ้น "อหิงสา" และ "สันติ" ถูกโยนทิ้งคลองไปนานแล้ว ขณะที่ "ความจำเป็น" กลับลดน้อยถอยลง

ในหนังสือ The Anatomy of Fascism ผู้เขียนพูดถึงปรากฎการณ์น่าสนใจในยุคนาซี เมื่อผู้นำใช้กลไกโฆษณาชวนเชื่อ ชี้ชักให้ชาวเยอรมันรังเกียจชาวยิว แต่น่าแปลกว่ายิ่งข้อกล่าวหาเกินจริง หรือเชื่อได้ยากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนผู้คนเต็มใจจะเชื่อขึ้นเท่านั้น เสียดายที่แพคตันไม่ได้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ตรงนี้ ในความเห็นเรา มันเกิดจากการที่คนหมู่มากยึดติดกับ "ความต้องการจะเชื่อ" ดังนั้นยิ่งมูลอ่อนเท่าไหร่ คนก็ยิ่งใส่พลังงานที่จะเชื่อทดแทนกัน

กรณีคล้ายๆ กันในบ้านเรา ยิ่งสภาพติดตายทางการเมืองคลี่คลายลงเท่าใด พวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบก็ยิ่งมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น ถ้าเหตุการณ์ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา (บุกยึดสถานีโทรทัศน์ สองฝ่ายปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต ระเบิดน้ำตาซึ่งนับวันจะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ) เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว ยังพอเข้าใจได้ แต่สำหรับทุกวันนี้ ขอถามพวกเขาจากจริงใจ

...ต้องทำกันถึงขนาดนี้เชียวหรือ

No comments: