การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ (หลายคนเขียน)
ความคิดรวบยอดซึ่งครอบคลุมทุกบทความใน การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ คือสมมุติฐานที่ 2 ในบทนำของอาจารย์เจตนา ที่บอกว่า “(...ตลาดที่เกี่ยวกับการบริโภคงานศิลปะ) มุ่งที่จะทำลายปัจเจกลักษณ์ของผู้รับ โดยการกล่อมให้มหาชน กลายเป็นฝูงชน” หรือตลาดเป็นตัวทำลายคุณค่าในการสร้าง และการเสพงานศิลปะนั่นเอง
ถึงเราจะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่ต้องยอมรับว่าข้อถกเถียงของอาจารย์เจตนาน่าขบคิดเอามากๆ โดยอาจารย์ยกย่อง amateur หรือศิลปินสมัครเล่น ที่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” อาจารย์ชื่นชมการเกาะตัวเป็นชุมชนของผู้สร้าง และผู้เสพ โดยกำแพงซึ่งกั้นแบ่งบุคคลสองประเภทเจือจาง และมีการผสมผสานกลับไปกลับมาระหว่างกลุ่ม (ตัวอย่างที่ยกมาเช่นรายการดนตรีไทย “เมื่อศิษย์ครูเดียวกันปะทะกันที่ตลิ่งชัน” หรือ “ละครผอม”) ชุมชนศิลปะในอุดมคติของอาจารย์เจตนา คือชุมชนก่อนจะถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยม และกลไกตลาดซึ่งแบ่งแยกบทบาทอย่างชัดเจนระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค
ก่อนจะบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ตรงไหน อยากพูดถึงบทความที่เราชอบสุดในเล่มนี้ คือ การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะการละคร ของอาจารย์พนิดา ฐปนางกูร ชอบบทความนี้เพราะอาจารย์พนิดาพูดถึงวงการละคร ซึ่งเป็น “ลูกเมียน้อย” ในหมู่งานศิลปะทั้งหมด มันไม่ใช่ทั้งศิลปะไทยที่จะได้รับการอนุรักษ์ แต่ขณะเดียวกัน มันปราศจากความหวือหวา ที่จะดึงดูดผู้บริโภคแบบศิลปะตะวันตก ถือว่าเราเองก็คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาพอสมควร จึงอด “สนุก” ไม่ได้เมื่ออ่านบทความที่ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์อย่างถึงแก่นเช่นนี้
ท่าทีของอาจารย์พนิดาไม่ได้ปฏิเสธตลาดเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม เหมือนอาจารย์จะสื่ออ้อมๆ ระหว่างบรรทัดด้วยซ้ำว่าสภาพ “ลูกเมียน้อย” ของวงการละครไทย ส่วนหนึ่งก็มาจากความล้มเหลวทางด้านการตลาด ไม่ว่าจะผิดที่ผู้ผลิต เพราะผลิต และจัดการไม่ดี หรือผิดที่ผู้บริโภค ที่หันไปสนใจภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์มากกว่า บทความของอาจารย์พนิดา สอดคล้องกับความเชื่อของเราคือ ศิลปะใดก็ตามที่ไม่อาจทำกำรี้กำไร ไม่อาจเจือจุนตัวเอง ก็ยากยิ่งนักที่จะเฟื่องฟู หรือพัฒนาไปไหนต่อไหนได้
อีกบทความที่เราชอบไม่แพ้กันคือ การรับ การเสพสังคีตศิลป์ในสังคมร่วมสมัย ของอาจารย์รังสิพันธุ์ แข็งขัน โดยอาจารย์รังสิพันธุ์วิเคราะห์ปรากฎการณ์ post-โหมโรง และความฉาบฉวยของการนำเสนอวัฒนธรรมไทย เสียดายที่บทความนี้สั้นไปหน่อย เลยยังไม่ค่อยชัดเจนว่าความฉาบฉวยที่อาจารย์ยกตัวอย่างมามันเป็นความฉาบฉวยตรงไหน แล้วมันเพิ่งเกิดหลังภาพยนตร์ โหมโรง แน่หรือเปล่า แล้วเราควรทำอย่างไรกับความฉาบฉวยตรงนี้ เอาเข้าจริงในสังคมยุคปัจจุบัน อะไรคือวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมที่ไม่ฉาบฉวย และให้ฉาบฉวยแบบไทยๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยหรือเปล่า
กลับไปพูดถึงชุมชนในอุดมคติของอาจารย์เจตนา ส่วนที่เราไม่เห็นด้วยสุดคือแนวคิด “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะชั้นดี ตัวอย่างหักล้างที่ชัดเจนสุดคือนิยายตาหวาน หรือนิยายปกเกาหลี ซึ่งพื้นฐานของมันก็เกิดมาจากคนซื้อ ซื้ออ่านเพราะอยากเขียนเอง กลับกลายเป็นว่า ตลาดของนิยายจำพวกนี้ใหญ่เสียยิ่งกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์เสียอีก ปรากฎการณ์ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม” ของเรื่องสั้นออนไลน์ ก็ไม่ใช่ว่ามาจากเส้นแบ่งที่เบลอๆ บางๆ ระหว่างคนเขียน และคนอ่านหรอกหรือ ผลลัพท์ทางวรรณกรรมของมันก็รู้ๆ กันอยู่
สำหรับเราแล้ว ผู้สร้างมีหน้าที่พัฒนาตัวให้เหนือกว่าผู้เสพขึ้นไปเรื่อยๆ เราคนหนึ่งละที่ไม่อยากสนับสนุนศิลปินที่ก็คือๆ กันกับเรา เป็นแค่นักเสพเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” แต่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาศึกษา” “ศึกษาให้แตกแล้วค่อยสร้าง ก็ยังไม่สายเกินไป (นะจ๊ะ)”
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
5 comments:
เล่มนี้หาซื้อ หรือหาอ่านได้จากที่ไหนบ้างคะ สนใจค่ะ ช่วยแนะนำด้วยค่ะ
ได้แจกฟรีมาครับ แต่ถ้าสนใจลองติดต่อไปที่เคล็ดไทย 02-225-9536 ถึง 8 คุณทิชากร ดูนะครับ หรือที่สำนักพิมพ์ชมนาด-คมบาง 084-091-5282 ครับ
อยากให้คุณรักชวนหัว แสดงความเห็นเรื่อง "งานเขียน กับ ตัวตนของนักเขียน" หน่อยครับ เพราะบางที ตัวงาน กับ นิสัยนักเขียน มันอาจจะคนละเรื่องกัน เราควรจะมองแยก หรือเราควรจะมองรวม หรือมองทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน
ขอบคุณครับ
ผมเชื่อครับว่า ตัวตนของนักเขียนก็จำเป็นสำหรับการเข้าใจผลงาน ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงเขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจนักเขียน (โดยเฉพาะในบริบทของผลงานชิ้นอื่นๆ ) เข้าใจว่ากว่าจะมาเป็นผลงานชิ้นหนึ่งๆ ที่เราเห็นด้วยตา มันผ่านกระบวนการความคิดอย่างไรมาบ้าง มันจะช่วยให้เรามองงานได้อย่างถ่องแท้ขึ้น
ขอบคุณครับ
ที่ถามเพราะรู้สึกเห็นข่าวนักเขียนในวงวรรณกรรมบ้านเรา
มักจะมีประเภทพเล่นพรรคเล่นพวก เล่นกำลังภายในกัน
นั่งกินเหล้ากัน หรือในหมู่เพื่อนกันก็อวยกันไป หรือให้รางวัลกัน ดันกันเอง ถึงแม้งานจะสะท้อนปัญหาสังคมอย่างแจ่มแจ้ง เทิดดูนความดีงาม ต่อสู้กับนักการเมือง ด่านักการเมืองกัน (นี่ค่อนไปทางพวกวรรณกรรมที่เรียกว่าเพื่อชีวิต) แต่นิสัยนักเขียนกลับทำตัวเช่นนั้นเสียเอง
Post a Comment