ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย (จิตร ภูมิศักดิ์)


คำนิยามที่เรามักใช้เรียกจิตร ภูมิศักดิ์คือ “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” หมายถึงว่าเป็นผู้ปราดเปรื่องนั่นแหละ แต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลา ตั้งแต่เวลาของชีวิตจิตรเอง ซึ่งจบลงก่อนวัยอันควร แค่ 34 ปีเท่านั้น สำหรับคนหนุ่มที่มีอายุแค่สามทศวรรษกว่าๆ อย่างไรเสียก็ยังบินติดเพดานบน อีกกรอบหนึ่งคือช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ บรรยากาศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดลให้จิตรกลายเป็นปัญญาชนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าจิตรได้มีโอกาสผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับสิ่งที่ตนเคยเชื่อ

ที่เกริ่นมาแบบนี้ไม่ใช่จะบอกว่า ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มีอะไรเสียหาย ภายใต้กรอบของเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จิตรถือเป็นนักวิชาการตัวอย่างคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในแง่การสืบค้น อ้างอิงข้อมูล การพิสูจน์หลักฐาน และการเผยแพร่ความคิดตัวเอง ปัญหามันอยู่ตรงวิชานิรุกติศาสตร์เองต่างหาก ตั้งแต่เซอซัวร์ตีพิมพ์ Course in General Linguistics ซึ่งปูทางให้แก่สัญศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ก็ดูจะกลายเป็นของล้าสมัยไปโดยพลัน (ถึงจะล้าสมัยทางภาษาศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดคุณค่าโดยสิ้นเชิง ในทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา นิรุกติศาสตร์ยังถือเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าในการสืบเสาะความเป็นมาเป็นไปของแต่ละเผ่าพันธุ์)

ประเด็นนี้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับ Serendipities ที่เพิ่งพูดถึงไปหยกๆ ก็เลยอยากขอขยายความ นิรุกติศาสตร์เป็นวิชาซึ่งค้นหาที่มาที่ไปของคำศัพท์ ภายใต้วัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรเสียก็คงหนีไม่พ้นการสืบเสาะย้อนอดีตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอภาษาดั้งเดิมหรือภาษาธรรมชาติของอดัม ก่อนหอคอยบาเบลจะพังพินาศ แน่นอนว่าภายใต้วัฒนธรรมตะวันออกของไทยเรา เราไม่เชื่อเรื่องหอคอยบาเบล และจิตร ภูมิศักดิ์เองก็คงจะไม่เชื่อเหมือนกัน คำถามคือวาทกรรมตัวนี้จะยังอยู่ในนิรุกติศาสตร์แบบไทยๆ หรือเปล่า

คำตอบคืออยู่! ถ้าเอา ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มาอ่านแบบรื้อสร้าง เราจะเห็นร่องรอยภาษาของอดัม จิตรแบ่งต้นกำเนิดของคำออกเป็นสามประเภทหลัก ประเภทแรกคือคำเลียนเสียงธรรมชาติตรงๆ เช่น เสียงร้องของวัว หมู หมา กา ไก่ ประเภทที่สองคือคำประเภทแรกที่ถูกกร่อน ถูกแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เช่น “วัว” อาจจะมาจากเสียงร้องของวัว ที่คนสมัยก่อนฟังเป็น “งัว” หรือ “มัว” ประเภทสุดท้ายคือการที่มนุษย์เรากำหนดชื่อให้อวัยวะในร่างกายเช่น “ตา” แล้วต่อมาค่อยไปสังเกตเห็นอะไรที่คล้ายคลึงกันในธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ตาไม้” อย่างนี้ เป็นต้น (ไม่รู้ว่าจิตรแบ่งเอง หรือไปอ้างอิงตำราเล่มไหนมา)

เราจะพบว่าทฤษฎีตัวนี้ "ยากจน" มากๆ กล่าวคือมันใช้อธิบายศัพท์เกินค่อนพจนานุกรมไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่น "เรือ" "ทะเล" "เงือก" "แมงมุม" "รำ" "กิน" จะบอกว่าทุกคำมาจาก "เสียง" ในธรรมชาติก็ค่อนข้างจะเหลือเชื่ออยู่ แต่วาทกรรมตัวนี้ได้สะท้อนความเชื่อในภาษาของอดัมออกมา ว่าศัพท์ทุกคำนั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของสิ่งที่มันหมายถึง (ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของนักสัญศาสตร์)

ที่หยิบเรื่องนี้มาพูดไม่ใช่เพราะต้องการดูเบาจิตร หรือผู้คนที่ยกย่องนับถือเขา เพียงแต่เราเชื่อว่าสังคมไทยควรจะยึดเอาจิตรเป็นหลักชัยเพื่อการก้าวข้าม มากกว่าจะมองเขาเป็นยอดแห่งปราชญ์ที่ใครๆ ก็แตะต้องไม่ได้ ความเป็น “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” ของจิตรนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ทางด้านนิรุกติศาสตร์เท่านั้น รวมไปถึงในทุกๆ เรื่องด้วย ถ้ามีโอกาส ภายหน้าคงได้มาพูดถึงอีก

No comments: