วัน เวลา และตุลา
ไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองมาพักใหญ่แล้ว เอาเสียหน่อย บังเอิญไปเจอบทความน่าสนใจในเวปประชาไท เลยขออนุญาตแปะ "ลิ้งค์" นะครับ
พอช่วงเดือนตุลาทีไร ก็เหมือนในแวดวงการเมืองการหมึกจะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกเวปต้องเอาบทความนู่นนี่มาแปะ จุดที่เราว่าน่าสนใจในบทความชิ้นนี้คือขอให้ทุกคนกรุณาดูบรรทัดหมายเหตุว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ "มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มกราคม 2547 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1221" 2547 นี่มันก็เกือบหกปีมาแล้ว ครึ่งทศวรรษนี่ถือว่าไม่นานเท่าไหร่หรอก แต่ถ้ามองว่าช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทย ต้องถือว่านานเป็นชาติก็คงจะปานนั้นได้ เราคงต้องขอตั้งคำถามกับบทความนี้เฉกเช่นเดียวกับตอนที่พูดถึงหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์ว่า (และเราคงได้ย้ำคำถามนี้ต่อไปในอีกหลายโอกาส) "ถ้าเป็นปัจจุบัน อาจารย์ศิโรตม์ยังจะเขียนบทความนี้อยู่อีกหรือเปล่า"
เราไม่ได้โต้แย้งหรือปฏิเสธสิ่งที่อาจารย์ศิโรตม์เขียนขนาดนั้น และเราเชื่อว่าต่อให้อาจารย์เขียนบทความทำนองนี้อีก ช่วงหกปีที่ผ่านมาคงไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดหลายสิบปีของอาจารย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามคือทุกวันนี้เรายังจะสามารถหันกลับไปมองเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ "การรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้" ด้วยสายตาแบบเมื่อปี 2547 ได้หรือเปล่า
มีคำพูดหนึ่งน่าสนใจดี เข้าใจว่าเป็นของอาจารย์ธงชัย ตอนอาจารย์ไปร่วมงานสัมนาช่วงประมาณปี 2550 ภายหลังรัฐประหาร (เข้าใจด้วยซ้ำว่าเป็นประชาไทนั่นแหละที่จัดงานนี้) โฆษกของงานแนะนำตัวอาจารย์ในฐานะหนึ่งในวีรชนเดือนตุลา ซึ่งไม่รู้ว่าคำพูดของโฆษกไปสะกิดต่อมอะไรในตัวอาจารย์หรือเปล่า แต่สิ่งแรกที่ท่านพูดหลังจากได้ไมค์คือ ทำนองว่า "บางครั้งผมคิดว่าเรื่องเดือนตุลานี่ แค่บรรจุไว้ในหนังสือเรียนก็พอแล้ว อย่าไปอ่านไปศึกษามันมากคงจะดีกว่า..." (หมายเหตุ: ถ้าเราจำผิด ไม่ใช่อาจารย์ธงชัยเป็นผู้พูด หรือเข้าใจและตีความคำพูดของอาจารย์ผิดด้วยอคติส่วนตัว ต้องขออภัยเป็นอย่างแรงครับ)
เราไม่ได้หมายความว่าคนไทยควรรีบๆ ลืมเหตุการณ์เดือนตุลา ความเชื่อของเราที่แตกต่างจากอาจารย์ศิโรตม์ในบทความนี้ก็คือ ด้วยวิสัยของคนไทยแล้ว เรากล้าเอาหัวเป็นประกันเลยว่าเหตุการณ์เดือนตุลาจะถูกนำกลับมาฉายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดก็ตาม แต่แค่ "จดจำ" เหตุการณ์โดยปราศจาก "ความเข้าใจ" มันแตกต่างอะไรเล่าจากการลืม หรือถ้าเอาคำพูดของอาจารย์ธงชัยมาดัดแปลง "หากคิดจะจดจำกันแค่นี้จริงๆ ลืมๆ ไปซะเลยอาจจะดีกว่า"
ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์ศิโรตม์เช่นกัน กล่าวคืออาจารย์บอกว่าแค่จดจำ 14 ตุลาในฐานะผลงานของ "ขบวนการ" มันไม่พอ แต่ต้องดูบริบททางสังคมด้วย 14 ตุลาไม่ได้เกิดมาจากขบวนการแต่มาจาก "ประชาชน" (แต่คำถามหนึ่งที่เราเชื่อว่าถามได้และกล้าถามก็คือ ประชาชนที่ต่อต้าน 14 ตุลาในยุคนั้น มีอยู่มากน้อยแค่ไหน) การมองแบบนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็อยากเสริมอีกแง่หนึ่งคือ เราไม่ควรมอง 14 ตุลาเฉพาะในแง่ของปรากฎการณ์ภายในประเทศเท่านั้น แต่มันมีส่วนเกี่ยวโยงไปยังการเมืองระหว่างประเทศด้วย มองในมุมกว้าง มองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเมืองระดับโลกตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
มองให้ทะลุอีกสักนิด แล้วค่อยเริ่มจดจำกันคงยังไม่สายเกินไปหรอกครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment