เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (วัชระ สัจจะสารสิน)


ถ้าไม่ขี้เกียจเกินไป จะกลับไปแก้โพสต์ซีไรต์ 7 เล่มในดวงใจ เพราะ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง สุดยอดมากๆ แม้จะเป็นหนังสือเล่มแรกของคุณวัชระ แต่ผู้เขียนได้ปล่อยของ แสดงพลังทั้งในด้านความคิด กระบวนการเล่าเรื่อง และการเล่นกับอารมณ์ผู้อ่านอย่างถึงใจวัยรุ่น

จะตลกไหมถ้าพูดว่าเสน่ห์ของรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือ "ความประดักประเดิด" ของแต่ละเรื่อง ด้วยเหตุนี้เวลาอ่านแยกๆ กันตามนิตยสารเช่น ช่อการะเกด หรือ ราหูอมจันทร์ ถึงไม่ค่อยประทับใจนัก แต่พอจับมันมาอยู่ข้างกัน ได้เห็นว่าความประดักประเดิดนั้น แท้จริงมาจากเจตนาของผู้เขียน ถึงได้ยอมรับในฝีมือ ยกตัวอย่าง เพลงชาติไทย เรื่องนี้มีโครงสร้างสองส่วนแปลกๆ แน่แท้ว่าผู้เขียนจงใจให้ส่วนหลังเป็นส่วนหลักของเรื่อง แต่การนำเสนอมันในรูปแบบความฝัน/ความทรงจำ และนำไปสวมเข้ากับส่วนแรก ผลลัพธ์ที่ได้คืออารมณ์พิสดารไม่เหมือนเรื่องสั้นไทยส่วนใหญ่

โครงสร้างสองส่วนเช่นนี้ปรากฎใน เรื่องเล่าจากหนองเตย หาแว่นให้หน่อย และ ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ ในฐานะที่เราเป็น minimalist ถ้าจะหยิบจับประเด็นเดียวกันไปเขียน คงตัดฉากนู้นฉากนี้ออก และสุดท้ายมันก็จะกลายเป็นเรื่องสั้นแหว่งๆ ธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง แต่การจับแพะและแกะมาชนกันของคุณวัชระ กลับก่อเกิดเรื่องสั้นอันมีโครงสร้างสง่างาม และหักหาญ อะไรที่อาจเป็นข้อด้อยกลับกลายเป็นจุดเด่น เช่น นักปฏิวัติ ซึ่งไม่ได้ประดักประเดิดด้วยโครงสร้าง แต่ด้วย plot hole (ให้ตายอย่างไรเราก็ไม่เชื่อหรอกว่าตัวเอกของเรื่องจะทนยืนรอเรือข้ามฟากเป็นบื้อเป็นใบ้อยู่ตั้งสามชั่วโมง โดยไม่พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่น) พออ่านเดี่ยวๆ ทีแรก เรากลับไม่ค่อยชอบ แต่พออ่านเรื่องหลังๆ ที่ตามมา เรากลับให้อภัย และเห็นว่ามันก็เป็นเรื่องสั้นที่น่าขบคิดดี

เรื่องที่ชอบที่สุดในเล่มคือ บาดทะยัก เรื่องสั้นอีโรติก นำเสนอการขับแข่งอำนางทางเพศระหว่างคู่ผัวตัวเมีย ชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นของ Raymond Carver ไม่แน่ใจว่าคุณวัชระคุ้นเคยกับนักเขียนชาวอเมริกันผู้นี้หรือเปล่า แต่เหมือนได้กลิ่นงานของเขาหอมหวนลอยออกมา วันหนึ่งของชีวิต เล่นกับความตาย และใช้สานส์ระหว่างบรรทัด (สิ่งซึ่งไม่ได้อ้างเอ่ยออกมา) แทงอารมณ์ผู้อ่าน อันเป็นเทคนิคที่คาร์เวอร์ชอบใช้

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นรวมเรื่องสั้นเท่ห์ๆ อีกเล่มที่ไม่ได้ใช้ชื่อเรื่องสั้นมาเป็นชื่อปก ประโยคว่า "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" อธิบายธีมหนังสือรวมๆ ได้ดี แม้เราจะรู้สึกว่ารูปประโยคไม่ได้สวยงาม ขนาดน่าใช้เป็นชื่อหนังสือก็ตาม หลายเรื่องพูดถึงการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อความทันสมัยค่อยๆ เข้ามา นำพาความสะดวกสบายสู่วิถีชนบท แต่ก็ทำให้หลายสิ่งสาบสูญไป ชอบที่คุณวัชระไม่ได้มองความเปลี่ยนแปลงในแง่ลบตามขนบวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่เห็นสองด้านในทุกๆ สิ่ง สมดังที่ "ผม" ใน วาวแสงแห่งศรัทธา สอนนักเรียน

พออ่านประวัติผู้เขียน ว่าจบรัฐศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทีแรกคิดว่า สงสัยตรูคงจะได้อ่านงานยกย่องชาวตุลาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เหมือนที่หลายคนชอบเขียนกัน แต่เปล่าเลย! เซอร์ไพรซ์มากๆ กับ ฟ้าเดียวกัน นำเสนอภาพด้านลบของวีรบุรุษอย่างไม่เคยเห็นเรื่องสั้นไทยเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน หรือ นักปฏิวัติ ซึ่งมีท่วงทำนองยกย่องมหกรรมการเมืองมวลชนสุด ยังถูกนำเสนอผ่านอารมณ์ขัน และการมองสองด้าน อันเป็นคุณสมบัติที่ขาดหาย และจำเป็นอย่างมาก สำหรับนักเขียน นักวิจารณ์การเมืองในบ้านเรา

ขอยกย่องให้นามปากกา วัชระ สัจจะสารสินเป็นอีกหนึ่งอนาคตของแวดวงวรรณกรรมไทย!

No comments: