ตอบจดหมายแฟนๆ


ขออนุญาตนำเอาจดหมายของคุณ "นิรนาม" มาโพสไว้ตรงนี้ เพราะคุณเขียนได้น่าสนใจมาก อยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย แต่ก็ขออีดิทชื่อจริงของรักชวนหัวทิ้งไป ไม่ว่ากันนะครับ (เป็น "หลักการ" ของเราเองที่ไม่อยากให้ความกังวลเรื่องตัวตนที่แท้จริงมาขัดขวางอาการ "ปากหมา" ของเรา)

<เริ่มจดหมาย>

ติดตามอ่านบลอกของพี่รักชวนหัวมานานครับ (ขออภัยหากต้องใช้ชื่อจริง เพราะต้องการสื่อสารกับรักชวนหัว ไม่ใช่รักชวนหัว หากเห็นว่าไม่เหมาะสมเชิญลบได้ หรือไม่ต้องโชว์ทั้งคอมเมนต์เลยก็ได้) เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจองค์ความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งๆที่ไม่ได้ถูกฝึกมาทางด้านนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหา หากให้ผมเดา พี่ไม่ได้อ่านงานแต่ละงานจนจบเล่ม (หรือถ้าจบก็ไม่ได้ให้เวลากับมันมากพอ หรือไม่ได้ลงมือค้นหาสืบสวนงานอื่นๆ ที่อยู่ในบริบทเดียวกันที่เกี่ยวเนื่อง แล้ว "รอ" ให้มันพัฒนาไปก่อนออกความคิดเห็น) หลายๆโพสต์จึงแตะนี่นิดแตะโน่นหน่อย ตีความเอาเองอย่างพละการบ้าง หรือบางครั้งจับแพะชนแกะไปเลยก็มี (ขออภัย ผมมีเวลาจำกัดจึงไม่ขอยกตัวอย่าง) จึงทำให้ - อย่างน้อยในสายตาของผม - บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน

แน่ละ พี่อาจจะบอกว่าได้ทำเช่นนั้นไปใน "xxx" (ซึ่งก็ไม่ได้เปิดให้คอมเมนต์?) และบลอกรักชวนหัวเป็นการแสดง impression เบื้องต้นในการอ่านงานแต่ละชิ้นเท่านั้น

นั่นแหละคือประเด็นของผม

แน่นอนว่าการ "ตีความ" เป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเสนอความเห็นที่ "ชุ่ย" เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครๆก็เขียนบลอกได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่พี่ในฐานะปัญญาชน(?) พี่ยอมให้ความเห็นที่ "ชุ่ย" ออกสู่สาธารณะได้หรือครับ? (แม้มีคนไม่มากที่รู้ว่าเป็นพี่ พี่ก็ย่อมรู้ตัวเองดี)

ความเห็นอย่าง "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" (จากโพสต์เกี่ยวกับหนังสือ Marxism and Literature ของเรมอนด์ วิลเลียมส์) แสดงให้เห็นว่าพี่ไม่ได้อ่านงานมาร์กซิสต์เลยย (ต้องเน้นเสียง) ไม่สามารถแยกแยะได้ถึงปรัชญาเบื้องต้นของมาร์กซิสต์ กับการนำเอาไปใช้พัฒนาเพื่อจุดประสงค์ของประเทศคอมมิวนิสต์แต่ละประเทศ ที่สำคัญคือพี่ไม่เห็นถึง "จุดประสงค์" ในการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาของร. วิลเลียมส์ ว่าเป็นความพยายามในการ rework ความมสัมพันธ์ระหว่าง base กับ superstructure ใหม่ในการจะแย้งกับความคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิมว่า เศรษฐกิจอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงเสมอไป วัฒนธรรมสามารถมี autonomy ในการเปลี่ยนแปลงได้ (เรียก "cultural materialist approach" ซึ่งต่อมาก็มีมาร์กซิสต์ออกมาโต้กลับ แต่ผมคงไม่กล่าวต่อไปอีก) พี่อาจจะล้อเล่นที่ไม่รู้ว่าร. วิลเลียมส์เป็นมาร์กซิสต์อังกฤษที่ถูกฝึกมาทางสายภาษาอังกฤษ ร่วมสมัยกับสจวร์ต ฮอล์และริชาร์ด ฮอกการ์ด ซึ่งร่วมกันก่อตั้งสำนักวัฒนธรรมศึกษาที่เบอร์มิงแฮม (ที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการวัฒนธรรมศึกษาไทยค่อนข้างมาก) ดังนั้นเขาจึงใช้วรรณกรรมเป็นแกนกลางในการวิเคราห์สังคม และมองว่าวรรณกรรมสามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนรรมได้ดีกว่า (เป็นที่มาของการเสนอแนวความคิด the structure of feeling อันลือลั่น แต่ผมผิดหวังที่พี่กลับไม่พูดถึงแนวความคิดนี้เลยแม้แต่น้อย! ไม่ได้อ่าน? อ่านไม่ถึง? ไม่เข้าใจ?)

ใช้เวลากับความคิดมากหนอย โพสต์ช้าลง แต่เอาให้ "จั๋งหนับ" ไม่ดีกว่าหรือครับ? คนอ่านจะได้มีเวลาไปตามอ่านแล้วมาถกด้วยได้ หรือหากบอกว่าไม่มีเวลา อย่าเพิ่งเขียนจะดีกว่าไหมครับ?

ขอเข้าสู่เรื่องโพสต์นี้หน่อยนะครับ เมื่อเห็นข้อความ "อาจารย์ภัทรวดีเผยให้เราได้เห็นบทบาทของรัฐบาลทหาร ในการอนุรักษ์และผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก"

ผมไม่แน่ใจว่าเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันหรือเปล่า?

ประเด็นหลัก (argument) ของอ.ภัทรวดีในบทที่ 1 2 และ 3 คือหลังจากวัฒนธรรม traditional เริ่ม "อ่อน" ลงตั้งแต่ปลาย ร.5 (และอ่อนลงไปอีกในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง) นั้นได้ถูกกลับมาส่งเสริม อนุรักษ์ ฯลฯ ใหม่ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความมั่นคงของรัฐบาล ทั้งภายใน (เผด็จการ) และนอกประเทศ (คอมมิวนิสต์) (ประเด็นสำคัญที่น่าถกต่อไปคือวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกเลือกหยิบมาใช้ และปรับเปลี่ยนอย่างไร) หากใช้คำของอ.ปริตตาคือ "คลัง" ของวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกหยิบมาใช้ใหม่อีกครั้ง

หากสุนทราภรณ์เป็นวงที่ "รับใช้เผด็จการ" อย่างที่พี่เหมารวม เหล่าข้าราชการจำนวนมหาศาลที่ทำงานภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน และนักเรียนทุนรัฐบาล (ที่ต้องกลับไปทำงานใช้ทุน) ไม่ "รับใช้เผด็จการ" ไปด้วยหรือครับ? (คงจะต้องว่ากันในรายละเอียด แน่นอนว่า หลวงวิจิตรวาทการ "รับใช้เผด็จการ" อย่างแท้จริง)

ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)

---------------------

เช่นเดียวกับพี่, ด้วยความอยากเห็นสังคมไทยมีวุฒิภาวะขึ้น

<จบจดหมาย>

ขอเริ่มตอบจากประเด็นมาร์กซิสก่อนเลยแล้วกันครับ

แน่นอนว่าน้องมีความเข้าใจมาร์กซิสดีกว่าพี่มากก (ลากเสียงยาวเหมือนกัน) แต่ขณะเดียวกันพี่ก็ไม่แน่ใจว่าคำพูดของพี่ที่น้องยกมา "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" ขัดแย้งกับสิ่งที่น้องอรรถาธิบายมาอย่างไร คือในความเห็นของน้อง "มาร์กซิสไม่สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรมได้" หรือว่า "มาร์กซิสแบบดั้งเดิมไม่ใช่การศึกษาโครงสร้างสังคม"

พี่ขอเดาแล้วกันว่าเป็นประเด็นแรก นั่นก็คือน้องกำลังบอกพี่ว่ามาร์กซิสที่ใช้วิเคราะห์วรรณกรรมและงานศิลปะ เป็นมาร์กซิสคนละตัวกับมาร์กซิส "ต้นแบบ" หรือเป็นทฤษฏีแก้ที่ขัดแย้งกับ "ต้นแบบ" ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (ไม่ว่าคำว่า "ต้นแบบ" จะหมายถึงอะไรก็ตาม ต้องมาจากหนังสือของมาร์กเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นต้นแบบใช่หรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่มีใครแอบอ้างได้ว่าเรียนรู้ศาสนาพุทธ "ต้นแบบ" กระมัง)

แต่ในคำพูดของพี่ที่น้องยกมา พี่ก็ใส่คำว่า "ดัดแปลง" ลงไปแล้ว ต่อให้ทฤษฎีสองตัวมันขัดแย้งกันชนิดดำขาว ถ้าทฤษฏีตัวหลังมันเกิดมาจากตัวแรก (มาจากความพยายามพิสูจน์ว่าตัวแรกผิด) เราจะเรียกได้ไหมว่ามันคือทฤษฎีที่ถูกดัดแปลงมาจากทฤษฏีตัวแรก (ยกเว้นว่าในแวดวงวิชาการมีการตีกรอบอย่าง "ชัดเจน" โดย "นักวิชาการทุกคน" ว่าขอบเขตการดัดแปลงมาร์กซิสคือเท่านี่ๆ เท่านั้น ถ้าดัดแปลงไปไกลกว่านี้ ห้ามเรียกทฤษฎีนั้นว่ามาร์กซิสเป็นอันขาด)

ไม่แน่ใจว่านี่คือปัญหาที่น้องมีกับข้อความที่หยิบยกมาหรือเปล่า ถ้าพี่ตีความคำวิจารณ์ของน้องผิดถูกอย่างไร โปรดชี้นำด้วย

อีกประเด็นคือภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง พี่ยอมรับว่าการตีขลุมให้สุทราภรณ์เป็นผลิตผลของเผด็จการทหารนั้นเป็นการตีความประวัติศาสตร์อย่างคับแคบ แต่ขณะเดียวกัน มันต่างอะไรจากแง่มุมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมาว่า เผด็จการทหารจะต้องนิยมของนอกและรังเกียจวัฒนธรรมไทย

พี่ยกตัวอย่างสุนทราภรณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ศิลปินก็สามารถสร้างผลิตผลทางวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืนจนเป็นที่ยกย่องตราบจนทุกวันนี้ได้ (แต่ก็คงเถียงกันได้อีกนั่นแหละว่า สุนทราภรณ์คือวงดนตรีที่ "บดขยี้" ความเป็นไทย หรือได้พยายาม "ไพบูลย์" และนำวัฒนธรรมไทยมาแปลงโฉมใหม่เพื่อเผยแพร่) และที่สำคัญคือไม่ใช่ศิลปิน "เด็กแนว" แบบ "ศร" ซึ่งขัดแย้งกับฝ่ายอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง (สมดังบทบาท "พระเอก" หนังที่พวกเราคุ้นเคยกันดี) เพราะเท่าที่พี่รู้มา ศิลปินวงสุนทราภรณ์ก็ดูจะถ้อยทีถ้อยอาศัยและได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลแต่โดยดี แม้ต้องแลกกับการเป็น "เครื่องมือ" แต่งเพลงร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติก็ตาม (ถ้าข้อมูลตรงนี้ของพี่ผิดพลาด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

"ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)"

นี่คือสิ่งที่เราสองคนเห็นตรงกัน และคือสาเหตุทำไมพี่ถึงใช้หนังสือเล่มนี้มาเป็นอาวุธโจมตีภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง

ส่วนประเด็นที่ว่าพี่ควรเขียนให้ละเอียดจั๋งหนับกว่านี้ไหม พี่ขอยืนยันว่า "รักชวนหัว" ไม่ใช่รวมบทวิจารณ์ แต่เป็น "ไดอารี่" หรือบันทึกส่วนตัวของพี่เอง เช่นเดียวกับคนอื่นเขียนเล่าว่าวันนี้ไปพบปะสังสรรค์ใคร ทำอะไรมาบ้าง บันทึกออนไลน์คงไม่อาจนำมาตัดสินว่า "ชุ่ย" หรือ "ไม่ชุ่ย" ได้กระมัง อย่าลืมว่ารักชวนหัวไม่ใช่พื้นที่สาธารณะของเวปไซต์หรือเวปบอร์ดใดๆ ที่นี่คือ "บ้านของพี่" ภายใต้กฏกติกาว่า "พี่จะเขียนอะไรก็ได้" และผู้ที่เข้ามาอ่านก็สามารถวิจารณ์อะไรได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เปิดบลอคนี้มา พี่ไม่เคยลบความเห็นใครเลยแม้แต่ความเห็นเดียว

ดังนั้นสิ่งที่น้องกล่าวมาว่า "บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน" ก็ถูกต้องแล้วในระดับหนึ่ง (รูปแบบของ blogspot ที่ไม่เปิดโอกาสให้สถานที่แห่งนี้เป็น "เวทีอภิปราย" ก็คืออีกสาเหตุหนึ่ง)

ส่วนอีกคอลัมน์หนึ่งซึ่งพี่ "บังอาจ" เรียกมันว่าบทวิจารณ์แต่กลับไม่เปิดพื้นที่ให้คอมเมนต์กลับ ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ไว้พี่จะพยายามติดต่อกับคนดูแลเวปครับ

ประเด็นสุดท้ายคือที่น้องตั้งคำถามว่าพี่อ่านจบ อ่านจริงหรือเปล่า พี่ขอสงวนไม่ตอบแล้วกัน ทิ้งไว้ให้เป็นความพึงใจของผู้เข้ามาอ่านบลอคตัดสินตัวพี่เอง

ชอบไม่ชอบอย่างไร รู้สึกดีใจเสมอที่มีคนแวะเวียนเข้ามาพูดคุยกัน ณ ที่นี้ครับ

5 comments:

Anonymous said...

ขอสั้นๆนะครับ

1) เรื่องมาร์กซิสม์ - ขออภัย อาจทำให้เข้าใจไม่ชัดเจนจากคอมเมนต์ที่แล้ว เพราะผมต้องเขียนใหม่ทั้งหมดอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากพอกดโพสต์แล้ว blogspot เกิดมีปัญหา และไม่ได้ทำสำเนาเอาไว้ จึงอาจตกอะไรไป

ก็ไอ้คำว่า "ดัดแปลงเพื่อศึกษา" นี่แหละครับที่เป็นปัญหา (ส่วนสมมติฐานทั้งสองอยางนั้น อาจไม่จำเป็นที่พี่จะต้องยกมากระมังครับ? ถ้าผมจะบอกว่ามาร์กซิสไม่สามารถนำมาใช้ศึกษาวรรณกรรมได้ ผมจะเสียเวลาพูดถึงงาน Marxism and Literature และบริบทของมันทำไม?)

การพูดประมาณว่า มันมีมาร์กซิสดั้งเดิมอยู่ก้อนหนึ่ง แล้วต่อมาก็มีอาจารย์คนหนึ่งเอามันไปปั้นใหม่ เพื่อเอาไปใช้สอนหนังสือ แล้วพี่ก็บอกว่า "แกปั้นได้เจ๋ง เพราะฝีมือแกดี และดินมันดี" ฯลฯ แบบที่พี่มองนี่แหละ เป็นปัญหาสำหรับผม พี่คงจะรู้ดีอยู่แล้วว่าการมองอะไรเป็นก้อนๆ เป็นชุดๆ (ผมไม่แน่ใจว่่าวิทยาศาสตร์มองอย่างนี้หรือไม่) และเอามันมาเรียงกันนั้น มันไม่ใช่วิธีที่ดีนักในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม ที่, อย่างน้อยในสายตาของร. วิลเลียมส์ และพี่และผม, ไม่เคยอยู่นิ่ง ไม่เคยเป็นก้อนๆ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (และร.วิลเลียมส์พยายามชี้ให้เห็นเรื่องนี้ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่)

เราต้องไม่ลืมว่ามาร์กซิสไม่ได้ใช้สำหรับการ "ศึกษา" สังคมเ่ท่านั้น แต่จุดประสงค์คือการต้องการ "เปลี่ยนแปลง" มันด้วย และนี่เป็นประเด็นหลักว่า ทำไมเราต้องเข้าใจก่อนถึงบริบทของพัฒนาการทางความคิดของร.วิลเลียมส์ ตั้งแต่การเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และการก่อตัวทางความคิดของเขาก่อน (นั่นเป็นสาเหตุที่ผมมองว่าทำไมพี่ดูจะ "แตะนี่นิดแตะโน่นหน่อย")

"ดัดแปลง" น่ะแน่นอน (ถามหน่อยว่าอะไรมันดัดแปลงไม่ได้บ้าง? ยกเว้น "ความเป็นไทย" [ฮา]) แต่มันเป็นการ "ต่อสู้" และ "เปลี่ยนแปลง" ครับ ไม่ใช้เพียงแค่ดัดแปลงเพื่อ "ศึกษา" และ "สร้างคำอธิบาย" อย่างเดียว
เท่านั้น

ผมคิดว่าการดูที่รากของปรัญชามาร์กซิสก็อาจจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ผมพยายามเสนอชัดเจนมากขึ้น (เฮเกล) แต่เอาเท่านี้ก่อนแล้วกัน (เพราะผมเองก็ต้องพยายามทำความเ้ข้าใจมันเพิ่มขึ้นก่อน)

ขอโทษนะครับ - การที่พี่เขียนว่า "ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" มันทำให้รู้สึกเหมือนดูหนังเรื่อง "ฟ้าใส ใจชื่นบาน" น่ะครับ

มันไม่ใช่เรื่อง "เจ๋ง" หรือ "ไม่เจ๋ง" หรอกครับ

2) เรื่องวงสุนทราภรณ์ - พี่ตอบผมว่า
"...พี่ยกตัวอย่างสุนทราภรณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ศิลปินก็สามารถสร้างผลิตผลทางวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืนจนเป็นที่ยกย่องตราบจน ทุกวันนี้ได้ (แต่ก็คงเถียงกันได้อีกนั่นแหละว่า สุนทราภรณ์คือวงดนตรีที่ "บดขยี้" ความเป็นไทย หรือได้พยายาม "ไพบูลย์" และนำวัฒนธรรมไทยมาแปลงโฉมใหม่เพื่อเผยแพร่) และที่สำคัญคือไม่ใช่ศิลปิน "เด็กแนว" แบบ "ศร" ซึ่งขัดแย้งกับฝ่ายอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง (สมดังบทบาท "พระเอก" หนังที่พวกเราคุ้นเคยกันดี) เพราะเท่าที่พี่รู้มา ศิลปินวงสุนทราภรณ์ก็ดูจะถ้อยทีถ้อยอาศัยและได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลแต่ โดยดี แม้ต้องแลกกับการเป็น "เครื่องมือ" แต่งเพลงร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติก็ตาม..."

โธ่...พี่ครับ ถ้าพี่จะใช้วิธีคิดแบบนั้นเพื่อที่จะบอกว่าสุนทราภรณ์ "รับใช้เผด็จการ" ขอโทษนะครับ - แล้วทำไมพี่ไม่คืนทุนที่ได้รับไปเสียล่ะครับ? ถ้ามันขาวดำและอุดมไปด้วยอุดมการณ์เสียขนาดนั้น พี่จะให้ข้าราชการทั้งหมดลาออกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือรัฐประหารเหรอครับ? (ผมก็พอรู้จักอยู่บางคนที่ลาออกตอนปี 35 ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการเป็น "เครื่องมือ" และใช้ทุนคืนเลยสามเท่า พี่ไม่สนเหรอครับ?)

นั่นคือจุดประสงค์ที่ผมพูดถึงหนังสือประวัติของพระเจนดุริยางค์ เพื่อให้เข้าใจอย่างไรล่ะครับ ว่ามันไม่ได้ขาวดำอยางนั้น (โปรดสังเกตว่าผมไม่ได้พูดถึง "โหมโรง")

และ ไอ้ "ความเป็นไทย" หรือ "วัฒนธรรมไทย" ที่พี่พูดถึงนักพูดถึงหนานี่คืออะไรเหรอครับ? (ระวัง! อันตรายนะครับ!! ไวไฟ!) ยิ่งพี่พูดมากไปยิ่งตอกย้ำว่า ไอ้การที่พี่บอกว่าชื่นชอบนักวิชาการสังคมศาสตร์ฺหลายท่านจนขนาดถึงขั้นจัดอันดับให้น่ะ

เป็นการตีฝีปาก ตามกระแสไปทั้งนั้น!

Anonymous said...

(ต่อ)

3) เรื่อง "จั๋งหนับ" - ก็นั่นน่ะสิครับ ประเด็นของผมคือ แม้ว่าพี่จะมีกติกาว่า "จะเขียนอะไรก็ได้" เป็น "งานอดิเรก" ของพี่เอง ฯลฯ นั่นผมไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเลย (คือผมไม่ควร "เสือก") ผมเพียงแต่ถาม (ด้วยความไม่รู้จริงๆ) ว่าพี่ยอมปล่อยให้ "อะไรก็ได้" ออกไปสู่สาธารณะ ได้หรือครับ? เพราะพี่กำลังจะเป็นผู้ที่มีคน "ฟัง" (พี่ก็ย่อมรู้ตัวดี) พี่จะยอม "ชุ่ย" เหรอครับ?

ถ้ายอม ผมก็หมดคำถาม

4) ผมมีความเจ็บปวดที่ได้ยินเรื่องการจัดงบประมาณ 200 ล้าน ในโครงการไทยเข้มแข็งเพื่อจัดสรรให้ภาพยนตร์ (นเรศวร 3 และ 4 ได้ไป เกินครึ่ง) ที่เหลือก็เป็นหนังยาว สั้น "นอกกระแส" สารคดี อนิเมชั่น ฯลฯโดยมีจุดประสงค์ต้องการให้ "เกิดความสามัคคีในชาติ" [http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1832&contents=43555]

ผมยังไม่พูดอะไรต่อ เพราะยังรวมความคิดได้ไม่ชัด เพียงนำมาแลกเปลี่ยน

----------------

ท้ายสุด สังคมไทยอาจจะต้องการคน "ปากหมา" อย่างเราเพิ่มขึ้นก็ได้

เอื้อใจ said...

ดิฉันเป็นไม่ขอแสดงความเห็นในเรื่องที่คุยกันนะคะ
เพราะตัวเองหาได้มีความรู้ในเรื่องมาร์กซิสม์ไม่
และคิดว่าคงมีคนจำนวนน้อยในประเทศไทย ที่รู้เรื่องมาร์กซิสม์อย่างจริงจัง
ก็เลยแค่ขอเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้เท่านั้น

แต่ดิฉันก็ขอตั้งข้อสังเกตในกรณีการโพสต์ของคุณ Anonymous หน่อยแล้วกันนะคะ
ว่าดูเหมือน "น้อง" จะไม่ได้พยายามโจมตีความคิดเห็นของคุณรักชวนหัวเท่านั้น
แต่คุณน้องพยายามโจมตีตัวบุคคลเจ้าของนามปากกาด้วย
มีการขุดคุ้ย ปล่อยข้อมูล รายละเอียดส่วนตัวเจ้าของบล็อค
แต่ขณะเดียวกัน เวลาตัวเองโพสต์ กลับไม่ลงชื่อด้วยซ้ำ

ดิฉันชักไม่แน่ใจค่ะว่า ตกลง "น้อง" ต้องการแบ่งปันความรู้
หรือว่า ต้องการอะไรเป็นการส่วนตัวกันแน่?
"น้อง" คิดว่า สิ่งที่น้องกระทำอยู่มันสมควรแล้วหรือคะ?

ถ้าคิดจะขุดคุ้ย ถึงขนาดโพสต์ชื่อจริงเจ้าของบล็อก
อย่างน้อย ตัว "น้อง" เอง ก็น่ามีชื่อเสียงเรียงนามซักหน่อยนะคะ นามปากกาก็ยังดี

เพื่อวันหลัง เจ้าของบล็อคเขา จะได้ "จัดอันดับ"
ให้น้องอยู่ในลิสต์สุดโปรดของเขาซักวัน

ปล.

แต่ถ้ารักจะแบ่งปันความรู้ ดิฉันว่า "น้อง" ไม่จำเป็นต้อง "ปากหมา" ค่ะ
(ปล่อยให้รักชวนหัว "ปากหมา" ไปอย่างที่เขาต้องการคนเดียวแล้วกัน)
ถ้า "น้อง" คิดว่าสังคมต้องการคน "ปากหมา" เพิ่ม (อย่างที่ "น้อง" ลงท้ายไว้)
ดิฉันก็ขอให้ไปปากหมา ในที่ที่ "น้อง" ปากหมาแล้วมีคนเชียร์ดีกว่าค่ะ
น้องคงรู้ตัวดีว่าที่ไหนนะคะ

laughable-loves said...

ขอตอบน้อง "นิรนาม" แยกเป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ

1) ก่อนอื่นขอบคุณน้องที่ให้วิทยาทาน ถ้าในความเห็นของน้อง "ต่อสู้และเปลี่ยนแปลง" มันต่างจาก "ดัดแปลง" (ซึ่งเป็นคำที่กว้างเกินไป) พี่จะขอรับความเห็นนี้ไว้พิจารณาและใคร่ครวญครับ

พูดถึงประเด็น "แตะนู่นแตะนี่" คำตอบนี้อาจจะไม่ช่วยให้น้องพึงพอใจแต่ว่า บทบาทหนึ่งของบลอครักชวนหัวก็คือ "ชักชวนผู้อื่นให้มาอ่านหนังสือ" ถ้าเป็นเรื่องแต่งหรือนิยาย พี่สามารถเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนได้ เพราะถึงอย่างไรอรรถรสจากการอ่านเรื่องย่อย่อมไม่เทียบเท่าการอ่านของจริง แต่ถ้าเป็นหนังสือแนววิชาการละ หากพี่สรุปความในหนังสืออย่างละเอียด คนอ่านจะรู้สึกไหมว่า "แล้วแบบนี้จะต้องไปหาของจริงมาอ่านทำไม" (อย่าลืมนะครับว่าคนไทยทั่วไปอ่านหนังสือกันน้อยแค่ไหน) พี่จึงคาดหวังว่าการ "แตะนู่นแตะนี่" หรือการดัดแปลงเอาความรู้สึกหรือความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือมาวิเคราะห์เรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันแทน (ดังเช่นกรณี “วัฒนธรรมความบันเทิงฯ ”) จะเป็นการเรียกน้ำย่อยให้คนที่อ่านบลอคอยากไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม

(แน่นอนว่าถ้าแตะไม่ดี แตะด้วยความรู้ครึ่งๆ กลางๆ คนอ่านบลอคก็อาจเกิดปฏิกิริยาตรงข้ามได้ ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่พี่คิดว่าตัวเองระวังอยู่เสมอมา)

2) พี่เกรงว่าเราอาจกำลังพูดกันคนละเรื่อง จริงๆ บลอค “วัฒนธรรมความบันเทิงฯ “ พี่เขียนขึ้นมาด้วยจุดประสงค์คือใช้หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ "โหมโรง" (สังเกตว่าพี่เริ่มต้นจากการเกริ่นถึงหนังเรื่องนี้) ดังนั้นถ้าน้องปฏิเสธที่จะพูดถึงหนังเรื่องนี้ เราอาจจะสนทนากันลำบาก

กรณี "รับใช้เผด็จการ" น่าสนใจมาก แต่พี่ยังไม่เข้าใจว่าย่อหน้าที่น้องยกมานั้น "ขาวดำและอุดมไปด้วยอุดมการณ์เสียขนาดนั้น" ตรงไหน (ถ้าน้องติดตามบลอคนี้ น้องจะรู้ว่าพี่เป็นคนที่หลีกเลี่ยงการมองอะไรขาวดำเป็นที่สุด)

พี่มอง "การร่วมมือและพึ่งพาอาศัย" (ถ้าคำว่า "รับใช้" มันฟังแล้วแสลงหู) ระหว่างศิลปินและผู้มีอำนาจเป็นความจริงอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ โดยสถานะแล้วไม่ได้เตี้ยต่ำหรือสูงส่งไปกว่าการที่ศิลปินขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ (ดังเช่นในโหมโ... ขอโทษครับลืมไป)

หากพี่จะมี “อุดมการณ์” ข้อหนึ่ง นั่นก็คือความหวังให้ศิลปินกระเสือกกระสน ผลิตและถ่ายทอดผลงานศิลปะตามอย่างที่ใจตัวเองปรารถนา หาก “ศร” ยอมแพ้อำนาจรัฐ หรือครูเอื้อลาออกจากการเป็นข้าราชการเพราะมันไม่ “เท่” เราคงไม่ได้มรดกทางดนตรีจากครูทั้งสองท่าน ซึ่งนั่นต่างหากคือสิ่งที่พี่ต่อต้าน

ขอข้ามไปข้อ 4) แป๊บหนึ่ง อย่างที่น้องบอก ปัจจุบันนี้ในแวดวงคนทำหนังเองก็ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวงี่เง่าอันเนื่องมาจากอำนาจรัฐ มีบางคนลุกขึ้นมาต่อต้าน ไม่ว่าจะทางตรงหรือผ่านงานศิลปะ มีอีกหลายคนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ตั้งหน้าตั้งตาทำหนังต่อไป พี่ยกย่องคนทั้งสองประเภทครับ ตามใดที่พวกเขายังผลิตผลงานออกมาตามแบบฉบับและความเชื่อของตัวเอง

ส่วนเรื่อง "ความเป็นไทย" และ "วัฒนธรรมไทย" พี่คงต้องให้น้องขยายความอีกที ว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรกับลำดับนักวิชาการของพี่ด้วย

3) ตอบอย่างสัตย์จริงคือพี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "พี่กำลังจะเป็นผู้ที่มีคน "ฟัง" " (น้องพูดมาแบบนี้ พี่ก็แอบดีใจนิดๆ นะเนี่ย) พี่ไม่ได้ติด counter นับจำนวนผู้เยี่ยมชม บลอคนี้ไม่มีใครลิงค์มา นอกจากเวปไซต์ไทยอินดี้ และในบลอคของเพื่อนๆ พี่เท่านั้น (เข้าใจว่ามันสามารถขึ้นทางหน้า google ไทยได้ง่าย) และที่สำคัญคือไม่ค่อยมีใคร comment กลับ (ขนาดโพสต์การเมือง "เกรียนๆ " หรืออย่างโพสต์นี้ก็ไม่ค่อยจะมีเสียงตอบรับสักเท่าไหร่)

แน่นอนว่าถ้ามีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดจริงจังแบบน้องเยอะๆ พี่มั่นใจว่าในอนาคต แม้แต่บลอครักชวนหัวเองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงครับ

yanmaneee said...

kd shoes
nike sneakers for women
nike epic react
adidas tubular
supreme t shirt
birkin bag
balenciaga shoes
retro jordans
yeezy boost 350
nike foamposite