รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (41~50)

41. ไม่ชอบเลย ทั้งในส่วนเทคนิคและเนื้อหา   ด้านเทคนิค คนเขียนใช้วิธีตัดแปะแบบศิลปะคอลลาจ หากการผสมผสานยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร   แต่นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่าเนื้อหา   มันพยายามพูดเรื่องการเมือง แต่เป็นการเมืองแบบพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์   การเมืองเชิงปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสรายวัน เหมือนคนเห็นเรือลอยขึ้นลอยลง แต่มองไม่เห็นคลื่น เลยไพล่เข้าใจไปว่า สงสัยยานพาหนะชนิดนี้จะถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ขึ้นลงแนวดิ่งเองกระมัง

42. สำหรับเรานี่เป็นหนังสือที่แปลกมาก เพราะมันผ่ากฎเหล็กข้อแรกแห่งการเป็นนักเขียน ถ้าให้เดา เราว่าผู้เขียนไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ ไม่ได้ศึกษาเรื่องสั้นเรื่องยาวมาสักเท่าไหร่ แต่ก็ด้วยเหตุนี้ มันถึงไม่มีจริตของวรรณกรรม เนื้อเรื่องโลดแล่นไปได้อย่างอิสระ กล้าพูดในสิ่งที่ไม่มีนักเขียนคนไหนเคยพูด ผู้เขียนนำประสบการณ์ส่วนตัวมาร้อยเรียงเป็นผลงานที่อาจลักลั่น และเต็มไปด้วยช่องโหว่ แต่ก็มีเสน่ห์ชวนชม

43. แทบจะไร้ที่ติ (แต่ก็เพราะมัน "แทบ" นี่แหละ ที่ติของมันเลยเป็นได้ทั้งตาตุ่มอาคิลิสและแผลกำเนิดของฮอธอร์น) ผู้เขียนตีความ "โลกาภิวัฒน์" เสียใหม่ จนอดสงสัยไม่ได้ ทำไมไม่เคยมีใครมองโลกด้วยวิธีนี้มาก่อน ทำไมเรื่องสั้นไทย โดยเฉพาะที่เกิดในชนบท ถึงได้อัตคัดขัดสนพื้นที่นัก ราวกับโลกทั้งใบถูกบรรจุอยู่ในกล่องแคบๆ ที่เรียกว่าท้องถิ่น โลกาภิวัฒน์ไม่ได้หมายถึงความทันสมัย ทุนนิยม หรือตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นกุญแจกลับสู่จุดกำเนิด "บูรพาทิศ" ที่แท้จริง ก่อนจะถูกคำว่า "ชาติ" บิดเบือนไปต่างหาก

44.
ก็ไม่ปฏิเสธหรอกนะว่าเรามีอคติกับเล่มนี้ ตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยก็ว่าได้ แต่พออ่านจริงๆ ถึงพบว่ามันเลวร้ายกว่านั้นอีก เริ่มที่การเอาทัศนคติแบบดักดานมาใช้วิเคราะห์ปัญหาสมัยใหม่ แต่เราก็ยังให้เกียรติคนเขียนทนอ่านจนเกือบจบเล่ม ไปฟิวขาดจริงๆ กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คนเขียน "มั่ว" รายละเอียดบางอย่าง แต่เป็นความ "มั่ว" ที่สะท้อนปัญหาทางด้านทัศนคติดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น

45. อะไรมันจะตะแลดแต๊ดแต๋ได้ถึงเพียงนี้ เทียบกลับอีกหลายเล่ม เราไม่ได้รังเกียจทัศนคติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยของมัน แต่ในแง่วรรณกรรม ตัวละครแบนจนหาเสน่ห์อะไรไม่ได้ ความยาวและหลายเรื่องโดยใช่เหตุลดทอนคุณค่ามันลง เสียดายเพราะเราชอบเล่มที่แล้วของผู้เขียนมาก ทั้งซับซ้อนและเป็นสามมิติกว่านี้เยอะ นี่อาจเป็นตัวอย่างว่าการบรรณาธิการที่ดีสามารถช่วยอะไรนักเขียนได้บ้าง

46. น่าจะเป็นเล่มที่ดีที่สุดแล้วของนักเขียนคนนี้ แต่ให้พูดแบบเต็มปากเต็มคำเลยว่า "ดี" ก็ยังทำได้ไม่ลง มีพัฒนาการจากเล่มก่อนๆ บางเรื่องสั้นถือว่าสอบผ่านเลย โดยเฉพาะเรื่องโปรยปกและเรื่องสุดท้าย แต่นี่คือตัวอย่างของนักเขียนที่ถูกทะนุถนอมจนเกินไป เป็นไข่ในหินที่ไม่ต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ฝีมือจึงยังไม่ประสิทธิประสาทอย่างเข้าที่ น่าเสียดาย เพราะอย่างน้อยเล่มนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเจ้าตัวมีศักยภาพ

47. นิยมอยู่ไม่น้อย เหมือนแกงอะไรสักอย่างที่ใส่เครื่องปรุงชั้นเลิศลงไป แต่พอต้มออกมาเสร็จ พ่อครัวลืมคน ทำให้เครื่องแต่ละส่วนไม่เข้ากัน บางเรื่องก็เต็มไปด้วยเนื้อหา ขณะที่บางเรื่องมีแต่เนื้อเรื่อง ทั้งที่จริงๆ ถ้าแบ่งสองส่วนมาผสมกัน คงได้แกงเรื่องสั้นที่อร่อยลิ้นขึ้น (บางทีอาจเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็ได้) คนเขียนแสดงศักยภาพ โดยเฉพาะในส่วนเนื้อหา แอบอยากรู้ด้วยว่าได้รับอิทธิพลมาจากการบรรณาธิการมากน้อยเพียงใด

48. "Oh, you big tease!" เป็นสำนวน ใช้ด้วยความหมั่นไส้เวลารู้ว่าใครมีของดีแต่แค่แพลมๆ มาให้เรายล อ่านเล่มนี้แล้วก็ได้ความรู้สึกนั้น มันมีทั้งเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ปนอยู่กับที่ไม่ใช่แม้แต่เรื่องสั้นเลยด้วยซ้ำ เราชอบแนวเรื่องสะท้อนสังคมเมืองแบบนี้ เหมือนจะเคยฮิตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่โดนเพื่อชีวิตแนวใหม่ของกนกพงศ์ตบซ้าย ต่อด้วยโพสโมเดิร์นของปราบดาตบขวา ก็เลยไม่มีโอกาสได้เกิด ยินดีที่ได้กลับมาพบเห็นอีกครั้ง ขอปวารณาตัวติดตามผลงานของนักเขียนคนนี้ต่อไปด้วยความตื่นเต้น

49. อีกเล่มที่ไม่ค่อยชอบ มันแลดูปวกเปียกป้อแป้ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อวรรณกรรมของคนเขียน หรือความเข้าใจปัญหาสังคม ถ้าสองสิ่งนี้สอบไม่ผ่าน (ในความเห็นเรา) ก็ยากแล้ว ที่จะประทับใจกับเล่มนี้ได้

50. เป็นอีกเล่มที่น่าเสียดาย เหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน แฝงอยู่ในก้อนหิน ขาดความโดดเด่น ทั้งในแง่ภาพรวมและแต่ละเรื่อง เรื่องที่ดีที่สุดในเล่มกลับถูกทิ้งเอาไปไว้หลังๆ ขณะที่เรื่องโปรยปกกลับอ่อนด้อยกว่าเพื่อน ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของแนวเรื่องทำให้เรื่องที่เขียนดีแต่ผิดแผก ดูลักลั่นชอบกลเมื่อนำไปรวมกับเรื่องอื่น แม้คนเขียนจะสอบผ่านด้านพื้นฐานและทักษะ แต่ปัญหาของเล่มนี้ต้องแบ่งรับแบ่งสู้กันระหว่างตัวนักเขียนเองและบรรณาธิการ

6 comments:

ชัย เชี่ยงชุน said...

คุณรักชวนหัวช่วยใบ้เรื่องที่ ๔๔ อีกหน่อยได้ไหมครับ ผมเดาไว้สองเล่มแน่ะ

Anonymous said...

ผมปีเตอร์นะครับ ขอบคุณที่ตอบคำถาม ขอถามอีกครับว่าทำอย่างไรให้อ่านภาษาอังกฤษเก่งๆ ผมอ่านเข้าใจหมดแจ่มแจ้ง ต้องเป็นภาษาทางการ หนังสือฮาวทู แต่พวกหนังสือนวนิยาย งานของเชคสเปีย ผมอ่านแล้วศัพท์มันยาก ทำไงดีอ่ะครับ คุณรักชวนหัวช่วยบอกผมหน่อย

ปล มีใครที่มีผลงานคล้ายๆคุนเดอราบ้างไหมครับ

laughable-loves said...

ไม่มีใครที่มีผลงานคล้ายกุนเดระเลยครับ

เชคสเปียร์นี่อ่านยากจริงๆ ครับ ขนาดผมจะอ่าน ยังต้องอ่านฉบับที่มันมีพิธานศัพท์มาให้เลยครับ ส่วนนวนิยายเรื่องอื่นๆ ก็อยู่ที่การฝึกฝนฮะ

Anonymous said...

ผมปปีเตอร์นะครับ มพึ่งอ่านงานของmurakami คุณLL รีวิวให้หน่อยสิครับ อยากฟังความเห็น และช่วยแนะนำงานของเขาทีครับว่าเล่มไหนดีๆบ้าง ผมกำลังอ่าน the wind-up bird อยู่

laughable-loves said...

เคยรีวิวอยู่เล่มหนึ่งครับ ลองแวะไปที่หน้าสารบัญ

แต่ถ้าติดตามอ่านตลอดจะรู้ฮะว่ารักชวนหัวไม่ชอบมุราคามิ ^^

Anonymous said...

แหง่วๆ รออ่านคำวิจารณ์เรื่องต่อไปครับ