ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ / เรื่องสั้นฉบับร่าง (r.o.d.)


"เกือบแล้วแต่ยัง" เป็นนิยามสั้นๆ สี่คำอันเหมาะเจาะสุดสำหรับสองเรื่องสั้นของคุณจิรัฎฐ์ ต้องออกตัวก่อน ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสมควรโยนต้นฉบับสองเรื่องนี้ทิ้ง ส่งไปเถอะครับ ตามนิตยสารน่ะ เรื่องที่เขาตีพิมพ์กัน หรือรวมออกมาเป็นเล่ม ก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าสองเรื่องนี้สักเท่าไหร่หรอก

ต้องถือว่า ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คุณจิรัฎฐ์สร้างบรรยากาศได้ดี และปล่อยหมัดฮุคด้วยจังหวะ และความแรงที่ลงตัว ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ จับเอาขนบเรื่องเดิมๆ มาแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ เรื่องสั้นลักษณะนี้จะอยู่หรือไป ขึ้นกับว่าองค์ทรงเครื่อง ที่ผู้เขียนเอามาแต่งให้ใหม่นั้น มันเพียงพอที่ผู้อ่านจะอภัยให้กับความเดิมๆ ของตัวเรื่องหรือเปล่า

ข้อเสียของเรื่องสั้นนี้ คือมันดู "ไม่ค่อยเป็นสมบัติของผู้เขียน" เท่าไหร่ แม้จะมีการบรรยายฉากที่ดี แต่ไม่อาจรู้สึกถึง "ลายมือ" เหมือนผู้เขียนจับเอาตรงนู้นตรงนี้จากเรื่องสั้นอื่นๆ ที่มีฉากคล้ายๆ กัน มาแปะไว้มากกว่า ซึ่งบวกกับความเดิมๆ ของเนื้อเรื่องแล้ว ทำให้ ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ มีข้อด้อยสุดตรงอ่านแล้วไม่สัมผัสถึงความแปลกใหม่ (ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ แต่มันถูกซุกซ่อนอยู่ใต้องค์ประกอบอื่นๆ ที่ไปทางขนบเสียมาก)

เรื่องสั้นฉบับร่าง แม้จะ "ยัง" เหมือนกัน แต่เป็นความ "ยัง" ที่น่าตื่นเต้นกว่ามาก ที่จริงสมัยนี้ metafiction ด้วยตัวมันเองก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นนักหนาหรอก ขึ้นกับฝีมือผู้เขียนที่จะเข็นเรื่องให้ไปไกลเกินกว่าคำว่า "เรื่องสั้นแนวทดลอง" ได้หรือเปล่า สำหรับเรื่องนี้ "ยัง" ครับแต่ว่า "เกือบ" แล้ว

ไม่ทราบว่าคุณจิรัฎฐ์คุ้นเคยกับงานเขียนของอิตาโล คาลวิโนหรือไม่ สมควรอย่างยิ่งที่จะไปหามาอ่าน ถ้ารักจะเขียนแนวนี้จริง เพราะขานั้นเป็นเจ้าพ่อแห่ง metafiction หนังสือของคาลวิโนเหมือนเขาวงกตที่ล่อให้นักอ่านเดินไปทางนู้นที ทางนี้ที ก่อนจะตระหนักว่า ระหว่างที่หลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกต จิตวิญญาณของเขาได้ถูกพามายังสถานที่อีกแห่งหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เรื่องสั้นฉบับร่าง ประสบความสำเร็จในครึ่งแรก คือเขาวงกตน่ะมีแล้ว แต่อ่านไปจนจบ จิตวิญญาณก็ยังไม่ได้หลุดลอยไปไหน ยังค้างเติ่งอยู่ระหว่างตู้จดหมาย และสำนักพิมพ์นั่นแหละ

ข้อแนะนำคือ ถ้ามอง metafiction ว่าเหมือนหัวหอมที่แบ่งเป็นชั้นๆ เรื่องจะสนุกกว่านี้เยอะ ถ้าตัวละครหลักของแต่ละชั้นเป็นคนละคนกันหมด คุณจิรัฎฐ์ใช้แค่ตัวละครบรรณาธิการ และนักเขียน ทำไมไม่ลองสลับฉากให้เลขา หรือขอทานมาเป็นตัวเอกบ้างล่ะ นอกจากจะช่วยให้เรื่องนี้อ่านสนุกขึ้น (และยิ่งตอกย้ำความเป็นเขาวงกต) ยังน่าจะจุดประกายความคิดบางอย่างได้

ฉากที่อยากจะติเป็นการส่วนตัวคือ การเผชิญหน้ากันระหว่างนักเขียน และบรรณาธิการ โดยตัวมันเองแล้วไม่ได้เสียหายตรงไหนหรอก แต่ในฐานะที่เป็นคนในวงการ ขอบอกว่าฉากนี้ไม่สมจริงสมจัง ไม่เคยเห็นบรรณาธิการคนไหนทำตัวแบบนี้ พูดจาแบบนี้ อาศัยอยู่ในห้องลักษณะนี้ หรือจะมีบทสนทนาเช่นนี้กับนักเขียนได้ แต่ตรงนี้ไม่ซีเรียสแล้วกัน ถือว่าแซวขำๆ

No comments: