เรื่องผีในซอยเดียวกัน
น้องคนหนึ่งถามถึงการวิเคราะห์เรื่องผีสี่เรื่อง ที่อยู่ใน ซอยเดียวกัน ใจหนึ่งอยากช่วยมาก ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้คุณวาณิช หรือเจาะจงลงไปอีก เป็นแฟนพันธุ์แท้หนังสือเล่มนี้ แต่อีกใจหนึ่ง ทั้งสี่เรื่องนี้ก็อ่านมานานมากแล้ว แถมยังไม่มีหนังสืออยู่กับตัวด้วย กลัวว่าพูดไป เดี๋ยวจะพูดผิดพูดถูก เสียชื่อเปล่าๆ หลังจากชั่งน้ำหนักดู ปรากฎว่าใจแรกชนะ ฉะนั้นขอใช้พื้นที่ตรงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทั้งสี่เรื่องสั้นผีๆ ได้แก่ เพลงใบไม้ กา ภาพเขียนที่หายไป และ ผาติกรรม
เราสามารถใช้ "แว่นตา" ของนักถิ่นแดนไกลนิยม (exoticism) ส่องดูงานเขียนชุดนี้ ถิ่นแดนไกลนิยมเป็นแนวคิดซึ่งแตกแขนงมากจากลัทธิอาณานิคม (colonialism) ถ้ามองแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง หมายถึงการที่ชาวตะวันตกเดินทางมาเยือนทวีปเอเชีย และใช้ความ "แตกต่าง" และ "ด้อยกว่า" ของ "ถิ่นแดนไกล" นิยามอัตลักษณ์ของตัวเอง ในทางกลับกัน ชาวตะวันออกเองก็สามารถใช้กรอบคิดแบบถิ่นแดนไกลนิยม มองวัฒนธรรมที่แตกต่าง และด้อยกว่าได้ เช่นการที่รัฐไทยมองชนกลุ่มน้อยในล้านนา หรือมุสลิมในภาคใต้ งานเขียนของราชาเรื่องสั้นไทย มนัส จรรยงค์ จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้
ในกรณีของคุณวาณิช ถิ่นแดนไกลหมายถึง "วัฒนธรรมในอดีต" จาก เพลงใบไม้ โลกของยายคือ "โลกอดีต" และ "ถิ่นแดนไกล" ส่วนโลกของหลานสาว คือโลกที่ผู้อ่านคุ้นเคยกว่า เพลงใบไม้ ถูกเขียน และตีพิมพ์ในยุคหลังอาณานิคม เมื่อวัฒนธรรมของถิ่นแดนไกลถูก "อนุรักษ์/สืบทอด" แต่ขณะเดียวกันก็กำลัง "สูญพันธุ์" ไปด้วย ตอนจบของ เพลงใบไม้ แสดงให้เห็นถึงการสูญพันธุ์ (การตายของยาย) และการอนุรักษ์/สืบทอด (การที่วิญญาณของยายมาสิงสู่หลานสาว) นี่คือความขัดแย้งหรือ paradox ในโลกหลังอาณานิคม เราอนุรักษ์สิ่งที่กำลังจะสูญพันธ์ แต่ขณะเดียวการอนุรักษ์ก็คือการยอมรับว่าสิ่งนั้นกำลังจะสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีแต่การตายของยายเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การสืบทอดวัฒนธรรมจากอดีตไปยังคนรุ่นใหม่ได้
ใน ผาติกรรม บ้านเรือนไทยซึ่งเป็นสิ่งของจากอดีต (ถิ่นแดนไกล) ถูกนำมาปลูกไว้ในเมืองหลวง เพื่อกิจการการค้าที่ตอบสนองโลกยุคปัจจุบัน "ของเถื่อน" ถูกนำมาทำให้ "เชื่อง" ลง ผาติกรรม (ที่เป็นคำศัพท์) จึงมีความหมายสองอย่างซึ่งขัดแย้งกันเอง อย่างแรกคือการอนุรักษ์ นำเอาของที่หมดประโยชน์แล้วมาใช้ใหม่ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้เชื่อง หรือการปฏิเสธธรรมชาติดั้งเดิมของสิ่งนั้น หัวใจของเรื่องสั้น ผาติกรรม คือแม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างบ้านเรือนไทย ก็ยังต้องการรักษาธรรมชาติดั้งเดิม และปฏิเสธที่จะถูกทำให้เชื่อง (ซึ่งก็หมายถึงปฏิเสธการถูกอนุรักษ์ไปด้วย เพราะสุดท้าย มันก็กลายเป็นแค่บ้านไม้ผุๆ โทรมๆ จะพิงมิพังแหล่)
กา และ ภาพเขียนที่หายไป ว่าด้วย ของที่อยู่ในอดีต เช่นความผิดที่ตัวละครก่อขึ้น หรือศพปริศนา นำไปสู่การครอบงำ/สิงสู่ นี่คือลัทธิอาณานิคมย้อนศร เพราะของที่เหนือกว่า (ปัจจุบัน) กลับสูญเสียอัตลักษณ์ให้กับของจากถิ่นแดนไกล (อดีต/โลกหลังความตาย) แต่อดีตไม่อาจมีชัยชนะถาวรได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปัจจุบันสูญเสียอัตลักษณ์ไป ก็หมายถึงการสิ้นสุดของปัจจุบัน และอดีตซึ่งครอบงำปัจจุบันอยู่นั่นเอง โมทีฟ "ถิ่นแดนไกล" = "อดีต" จะพบเห็นได้อย่างเต็มๆ ในนิยาย แม่เบี้ย ซึ่งว่าด้วยอดีตชาติที่ย้อนกลับคืนมาก่อความวุ่นวาย และทำลายอัตลักษณ์ของคนในปัจจุบัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
h1v65g4c24 v6g25d3m54 y2q25e3k41 u2f11b5l67 t6k46z1k21 t4i67g4u86
Post a Comment