คุณสงคราม (เดือนวาด พิมวนา)


เคยสงสัยกันบ้างไหม ชีวิตคนเราเมื่อพุ่งทะยานถึงจุดสูงสุด แล้วจะก้าวไปไหนต่อ ยิ่งชีวิตนักเขียนอย่างเดือนวาด พิมวนา หลังได้รางวัลซีไรต์ หนังสือเล่มต่อไปของเธอจะเป็นเช่นไร

คุณสงครามคือหนังสือเล่มที่สามของเดือนวาด พิมวนา แต่เป็นโพสต์ซีไรต์เล่มแรก เท่าที่อ่านคำวิจารณ์ เสียงตอบรับไม่สู้ดีนัก อย่างคุณหนุมาน ของนิตยสาร underground bulletin ก็ดูจะไม่ชอบหนังสือเล่มนี้อย่างออกนอกหน้า และเมื่อถึงฤดูกาลซีไรต์ 2549 นิยายเล่มนี้ไม่ได้ลงสนามแข่งกับเขา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะคุณเดือนวาดรู้สึกพอแล้ว หรือตระหนักว่านิยายเล่มนี้ยังไปไม่ถึง

อย่างไรก็ช่างเถอะ อยากบอกทุกคนว่าผมชอบคุณสงครามทีเดียวเลยล่ะ!

ตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกใหม่ๆ ตามร้านหนังสือ จะถูกวางหันปกออก โดยมีคำโปรยเขียนไว้ว่า "เรื่องสั้นขนาดยาว" ผมก็กะว่าคงสักเก้าสิบหน้า หรืออย่างเก่งก็ร้อยหย่อมๆ พอหยิบออกมา ต๊กกะใจหมดเพราะมันสองร้อยกว่าหน้า นี่มันนิยายชัดๆ เรื่องส่งเรื่องสั้นอะไร เนื้อหาว่าด้วยอดีตเทวดาตกสวรรค์ มีแผนปฏิรูปสังคมโดยประดิษฐ์สงครามขึ้นมา เพราะแกเชื่อว่าสงครามเท่านั้นที่จะสั่งสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ คนเดียวซึ่งจะหยุดยั้งแกได้คือเทวดาอีกตน ผู้เผลอนอนหลับไปสี่ร้อยปี พอตื่นขึ้นมาก็ไม่ทันโลก ไม่ทันสมัยเสียแล้ว

พออ่านจบก็ถึงบ้างอ้อว่า เออนี่มันเรื่องสั้นจริงๆ ด้วย ประเด็นในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแคบ ตัวละครก็แค่หยิบมือเดียว ถ้าให้เล่าจบเป็นเรื่องสั้นจริงๆ ก็คงได้สักห้าสิบหกสิบหน้ากำลังดี ปัญหาของคุณสงคราม ก็เลยคล้ายๆ กับคดีฆาตกรรมฯ คือเนื้อเรื่องเบาบางเกินกว่าจะหยิบจับมาทำเป็นนิยาย

แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้ว ผมชอบคุณสงคราม อยากบอกด้วยซ้ำว่านี่ก้าวใหม่ของเดือนวาด พิมนา และน่าจะเป็นก้าวแรกที่ดีของแวดวงวรรณกรรมไทย รู้จักผู้เขียนครั้งแรกจากนิยายกึ่งสารคดี ชีวิตเด็กสลัมป์ ตอนได้ข่าวว่าเธอเขียนเรื่องสั้นซักฟอก ล้อรักชวนหัว อดแปลกใจไม่ได้ ภาพเดือนวาด พิมวนาที่เรามีคือนักเขียนเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ดูขัดๆ กับกุนเดระยังไงมิทราบ พอได้อ่านเรื่องสั้นซักฟอกจริง ยอมรับว่าแกเขียนเรื่องกึ่งอีโรติกได้ดี เลียนแบบสไตล์กุนเดระได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่อยากเชื่อว่านี่คือคนเดียวกับผู้แต่งช่างสำราญ

คุณสงครามคือผลงานที่ต่างจากช่างสำราญไปอีกระดับหนึ่ง แทนที่จะพูดถึงความยากจน สะท้อนปัญหาสังคม ก็มาโต้กันด้วยปรัชญาการเมือง คุณค่าของสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นักวิชาการชาวเยอรมันหลายคนเชื่อว่าสงครามเท่านั้น ที่จะฝึกสอนมนุษย์ให้รู้จักความอดทน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน และที่สำคัญความรักและภาคภูมิใจในชาติ เผ่าพันธุ์ แน่นอนว่าความคิดแบบนี้ล้าสมัยไปแล้ว แต่วิธีนำเสนอเหตุและผลในนิยาย ก็อดให้คนอ่านอย่างเราลุ้นไม่ได้ว่า พ่อเทวดาขี้เซาจะเอากลวิธีใดมารับมือกับเทวดาตกสวรรค์ เข้าใจว่ากว่าจะออกมาเป็นคุณสงคราม ผู้เขียนคงต้องหาข้อมูล อ่านปรัชญาแนวคิดมาไม่น้อย วิธีเขียนลักษณะนี้ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ซึ่งยังยึดติดกับความล้าหลัง และเดิมๆ ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพื่อชนบท และเพื่อคนจน สาเหตุนี้กระมังทำให้นักวิจาณ์หลายคนรับไม่ได้ จริงๆ ถ้ามองวรรณกรรมตะวันตกชั้นดี หลายต่อหลายเล่มก็เป็นนิยายปรัชญาเสียส่วนใหญ่

อีกประการที่ชอบมากๆ คือการนำเสนอเรื่องราวใหญ่โต ด้วยฉากจำกัด จำเขี่ย คงไม่เกินไปนัก ถ้าจะตีความเทวดาตกสวรรค์ว่าเป็นตัวแทนของซาตาน และการต่อสู้ทางความคิดในที่นี้คืออามาเกตดอน ตามคำทำนายในพระคัมภีร์ เดือนวาด พิมวนาสามารถหยิบจับประเด็นใหญ่โตมโหฬารมาย่อไว้ในนิยายสั้นๆ เรื่องหนึ่งได้ (ซึ่งตอนนี้ยาวเกินไปด้วยซ้ำ) ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่อง

คุณเดือนวาดแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่แน่นัก ช่างสำราญอาจไม่ใช่จุดสูงสุดของชีวิตนักเขียนคนนี้ก็ได้ ถึงแม้จะยังเปรอะเปื้อนไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ก็อยากให้กำลังใจแก เขียนนิยายปรัชญาแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ครับ

2 comments:

Anonymous said...

over at this website Celine Dolabuy you can find out more cheap designer bags replica more information gucci replica bags

smesmaez said...

s9s04z4q73 x6o05y5e74 x8s81k3h69 k9d30u4q36 o2y68q1f03 h0p97o4t03