ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)


สั้นๆ ห้าคำกับ ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร คือ “เห็นด้วยทุกตัวอักษร!” ขอย้ำให้ใครที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้าน ต้องไปหามาอ่านกันให้ได้

อาจารย์ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่าในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เราย้ำถึงแต่การ “เสีย” ดินแดน โดยไม่ยอมพูดถึงการ “ได้” ดินแดนเลย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ขำมากๆ เราคุยกันแต่ว่าไทยเสียดินแดนและปราสาทเขาพระวิหารถึงสามครั้งสามครา ต่อให้ “สมมติ” ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยแต่โบราณ มันจะ “เสีย” สามครั้งโดยไม่เคย “ได้” มาเลยได้อย่างไร (น่าสนใจว่าการ “ได้” ครั้งหลังสุดคือการ “ได้” ทางเศรษฐกิจโดยแท้ เป็นการแปรรูป “สนามรบ” ให้เป็น “สนามการค้า” เพราะทั้งคนไทยและคนกัมพูชาก็สามารถค้าขายกันที่ชายแดนเขาพระวิหารได้อย่างสงบสุข เลยน่าขบคิดดีเหมือนกันว่าที่เสียไปครั้งหลังสุดนี่ใครกันแน่เป็นผู้ทำให้เสีย)

อาจารย์ชาญวิทย์พูดถึงบทบาทของ “ประวัติศาสตร์บกพร่อง” ซึ่งก็ชวนให้เราขบคิดต่อ จำได้ว่าสมัยเรียนประถมเวลาครูสอนเรื่องสนธิสัญญาเบาริงค์ ความเจ็บแค้นแสนสาหัสประการหนึ่งก็คือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ถ้าฝรั่งทำผิดในบ้านเมืองเรา ก็จะมีสิทธิไปขึ้นศาลฝรั่งไม่ใช่ศาลไทย (ซึ่งครูสังคมก็จะติ๊ต่างให้เด็กเก็บไปคิดและไปโกรธแค้นกันเอาเองว่าพวกฝรั่งมันคงปกป้องคนผิดของชาติตัวเอง) ซึ่งถ้าเราจำไม่พลาด บทเรียนวิชาสังคมเรื่องนี้มาพร้อมกับบทเรียนวิชาภาษาไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน พูดถึงตอนที่โจทก์ จำเลยต้องดำน้ำแข่งกันเพื่อตัดสินคดีความ ถ้าเอาหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม สี่ ห้า ก็พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ถ้าไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ฝรั่งที่ถูกจับในเมืองไทย ก็ต้องไปดำน้ำแข่งกับคู่กรณี ถึงจะตัดสินถูกผิดกันได้

สั้นๆ (คำไทย)หกคำคือ “เป็นกู กูก็ไม่เอา”

(จริงๆ แล้วนี่เป็นการมองแบบจับแพะชนแกะมากๆ เพราะยุคสมัยของ ขุนช้างขุนแผน กับยุคของสนธิสัญญาเบาริงค์ ก็เป็นคนละสมัยกัน ไม่นับว่าฝ่ายแรกเป็นเรื่องแต่งเสียด้วยสิ คดีความในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อาจถูกตัดสินด้วยกลวิธีอันแยบคายและยุติธรรมกว่านี้ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่พูดถึงการลงโทษบนแผ่นดินสยามด้วยวิธีอันทารุณ)

ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นมันยุติธรรมหรือเปล่า แต่นี่คือตัวอย่างความบกพร่องใน(วิชา)ประวัติศาสตร์ ที่เรามักจะมองด้านเดียวเสมอ ประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องของการศึกษาอุดมคติไป ซึ่งนอกจากจะไม่น่าสนใจ ยังแฝงอคติหลายอย่างเอาไว้ด้วย (เทียบกับการศึกษาในอเมริกา จำได้ว่าสิ่งแรกที่เราเรียนในประวัติศาสตร์ตอนที่ไปที่นั่นใหม่ๆ สมัยอยู่มัธยม 6 คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้ลินคอล์นประกาศสงครามการเมือง ซึ่งการเลิกทาสนั้นเป็นแค่ผลพลอยได้จากการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เท่านั้น)

ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร เป็นหนังสือที่ไม่ได้เกี่ยวพันใดๆ ทั้งสิ้นกับสำนักพิมพ์ที่มีสีชัดเจน เราก็ไม่รู้ว่ามูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทยมีวาระการเมืองแอบแฝงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้น่ายืนยันความเป็นกลางทางด้านวิชาการได้ในระดับหนึ่ง

No comments: