เรื่องสั้นศตวรรษ (มนัส จรรยงค์)


วันก่อนเพิ่งได้คุยกับอาจารย์ที่เคารพถึงอิทธิพลเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อันมีต่อวัฒนธรรมวรรณกรรมบ้านเรา หรือท้ายที่สุดแล้วมันกลายเป็นจุกอุดตัน เป็นเหตุและผลที่ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน (ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจรรย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง “ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!”

หรือจะตอบกันง่ายๆ ก็ได้ว่าอาจารย์เป็นอัจฉริยะที่ฟ้าส่งมาเกิดเมืองไทย

ไม่รู้จะวิจารณ์อย่างไรกับ เรื่องสั้นศตวรรษ ปกสวย รูปเล่มกระชับมือ กระดาษอ่านง่าย เรียงพิมพ์สะอาด แต่เวลาอ่านเรื่องสั้นไทยเก่าๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามีรูปประกอบเท่ๆ คงได้อรรถรสกว่านี้ (ท่าจะเป็นนิสัยเสียที่ติดมาจากหนังสือครูเหม)

ส่วนเนื้อในนะรึ สำหรับอาจารย์มนัส และนักอ่านคนนี้ บอกได้คำเดียวว่ามันอยู่เหนือบทวิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรต้องติ ถ้าจะชมก็เป็นเรื่องเดิมๆ เช่น อาจารย์เขียนเรื่องมนุษย์ เรื่องของคนจริงๆ ไม่ได้อิงกรอบศีลธรรมโจ่งแจ้งแบบนักเขียนรุ่นหลัง 14 ตุลาฯ (ใครที่เคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ของคุณลาว คำหอม ลองหา พลายทอง ของอาจารย์มนัสมาอ่านเปรียบเทียบดู)

พูดถึงการคัดเลือกดีกว่า ภายใต้กรอบลิขสิทธิ์ และวันเวลาซึ่งดูดกลืนหลายเรื่องสั้นให้สาบสูญ (ว่ากันว่าอาจารย์เขียนมาพันกว่าเรื่อง ที่เราเคยอ่านยังไม่ถึงร้อยเลยกระมัง) สำนักพิมพ์มติชนทำได้น่าปรบมือ เรื่องหลักๆ อย่าง ซาเก๊าะ จับตาย ติดขวาก ท่อนแขนนางรำ แม่ยังไม่กลับมา มีหมด จริงๆ พวกนี้ก็อ่านมาเกือบหมดแล้ว แต่พออ่านอีกรอบ รู้สึกเหมือนกับวัวชนใน ซาเก๊าะ คือประหนึ่งว่ามีใครเอาลูกตาลมาฉาบไว้บนใบหน้า ยิ่งอ่านเท่าไหร่ ความหวานก็ยิ่งซาบซึมเข้าปาก ยิ่งได้อรรถรสเท่านั้น ส่วนเรื่องรองๆ แม้ไม่ถึงกับชอบเท่า แต่ด้วยความเป็นอาจารย์มนัส ให้หอก หักยังไงก็น่าอ่าน ในแง่หนึ่ง รู้สึกว่ามติชนไม่ได้เลือกเรื่องที่ดีที่สุดมาจริงๆ (เพราะเคยอ่านที่ดีกว่านี้มาแล้ว) แต่ก็อย่างที่บอก คงเป็นปัญหารายละเอียดยิบย่อยมากกว่า

สำหรับเรื่องที่ยังไม่เคยอ่าน ที่น่าพูดถึงคือ คู่ทุกข์-คู่ยาก เรื่องสั้นตีพิมพ์เรื่องแรก ซึ่งไม่ดี (แฮะๆ ) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสั้นที่ไม่ดีที่สุด ได้อารมณ์ผลงานอาจารย์ยาขอบมากกว่า ล่องนา เป็นเรื่องสั้นคอมมิดี้พลิกแพลง และหลุดโลก ชนิดคาดไม่ถึงสมัยนั้นเขียนอะไรแบบนี้ก็ได้ ค่อนข้างหลุดสไตล์อาจารย์มนัสที่เราคุ้นเคย ปู่ทะเล มีประเด็นน่าสนใจ เล่าเรื่องได้กระชับตอบโจทย์ดี

อ่านเรื่องสั้นอาจารย์ทีไร ได้กลิ่นลูกทุ่งแปลกๆ เหมือนไม่ใช่ประเทศไทยที่เราคุ้นเคยตามหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ เห็นการฉุดคร่าสาว (อย่างถูกธรรมเนียม) ดงเสือ สาบผีสาง ปืนลูกซอง เป็นกลิ่นอายชนบทขนานแท้ปราศจากอุดมการณ์ ศีลธรรมปรุงแต่ง แค่มนุษย์อุจจาระเหม็นรัก โลภ โกรธ หลง แค้น

คุณวานิชเคยบอกว่าเพลงลูกทุ่งตายไปพร้อมกับพุ่มพวง เป็นอีกหนึ่งประโยคของแกซึ่งถูกใครหลายคนด่า ซึ่งเราขอยอมรับคำด่าแต่โดยดี และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว

ส่วนสาเหตุการตาย ไว้ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูดแล้วกัน