ธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมในงานศิลปะไทย (ตอนแรก)


1.

ในใบปลิวที่พิพิทธภัณฑ์ศิลปะแห่งลอสแองเจลิสแจก มีการพูดถึงพัฒนาการของผู้กำกับภาพยนต์ เบลา ทาร์จากนักธรรมชาตินิยม (naturalist) มาเป็นนักรูปแบบนิยม (formalist) ตอนที่ผมอ่านข้อความนี้ครั้งแรกก็งงอยู่พักใหญ่ว่ารูปแบบนิยม มันต่าง หรือตรงข้ามกับธรรมชาตินิยมตรงไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะพอได้ยินธรรมชาตินิยม ผมไพล่ไปนึกถึงความหมายในเชิงชีววิทยา พวกธรรมชาติ พืชพันธุ์ (ซึ่งถ้าเป็นความหมายในแง่นั้น ก็น่าจะตรงข้ามกับอุตสาหกรรมนิยม (industrialist) มากกว่า) ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าผลงานรุ่นแรกของเบลา ทาร์เป็นการถ่ายภาพภูเขา หรือป่าไม้นะครับ ธรรมชาตินิยมให้แปลตรงตัวคือลักษณะหนึ่งของงานศิลปะที่เน้นการเสพย์ และสร้างงาน "อย่างเป็นธรรมชาติ" ตรงข้ามกับรูปแบบนิยมที่เน้นการ "วางแผนผัง"

แต่เอาเข้าจริง อะไรเล่าคือการสร้าง และเสพย์ศิลปะ "อย่างเป็นธรรมชาติ" ธรรมชาติของงานศิลปะบางชิ้นเรียกร้องให้เราดูมันจากภาพรวม แต่ก็มีเหมือนกัน งานศิลปะที่ผู้เสพย์ถูกบังคับให้เสพย์ไปทีละน้อย ทีละชิ้นส่วน นิยามที่ชัดเจนกว่าของธรรมชาตินิยม เลยน่าจะเป็นงานศิลปะที่เน้นการเล่าเรื่อง "ตามลำดับเวลา" ซึ่งก็ไม่ได้ขัดแย้งกับนิยามข้างบน เพราะความคิด "ตามลำดับเวลา" คือธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว นิวตันบอกว่ามนุษย์เรามีอิสระที่จะเคลื่อนที่ใน "อวกาศ" (space) แต่ถูกจำกัดให้ไหลไปกับ "ห้วงเวลา" (time)


2.

หลายปีมาแล้ว orange ออกโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งโด่งดังมาก เป็นรูปขาวดำ มีสองข้อความสั้นๆ กำกับความคิดที่มองต่างมุม ติดตาสุดคือรูปน้ำครึ่งแก้ว เสร็จแล้วก็มีคำพูดประมาณ "เหลือน้ำครึ่งแก้ว" (มองโลกในแง่ดี) และ "หายไปตั้งครึ่งแก้ว" (มองโลกในแง่ร้าย) จริงๆ โฆษณาชุดนี้ออกมาเยอะมาก แต่ผมจำไม่ค่อยได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง อีกอันที่จำได้ และอยากหยิกยกมาพูดถึงคือ ผู้ชายสองคนมองภาพติดผนัง คนหนึ่งแต่งตัวแบบนักธุรกิจมองไกลๆ มีคำพูดว่า "ราคาเท่าไหร่" ส่วนอีกคนไว้ผมเผ้า หนวดเครายาว ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ "ทำอย่างไร" จุดประสงค์ของสปอตตัวนี้คงเพื่อแสดงว่าของชิ้นหนึ่งมีคุณค่าได้ทั้งในแง่เงินตรา และแง่ความงาม แต่ที่ผมติดใจมากๆ คือทำไมถึงเหมารวมว่าคนที่มองงานศิลปะห่างๆ ต้องตีความในเชิงธุรกิจไปหมด (ไม่นับว่าทำไมคนแต่งตัวดีๆ ถึงต้องคิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ แล้วมีแต่พวกซำเหมา ไว้หนวดเคราเท่านั้นรึ ถึงจะเรียกตัวเองว่าศิลปินได้) คนที่มองอะไรห่างๆ ก็น่าจะจัดเป็นผู้นิยมชมชอบงานศิลปะได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างรูปนางรำสีน้ำของอาจารย์จักรพันธุ์ คุณสามารถมองมันให้สวยได้สองแบบ แบบแรกคือเพ่งเข้าไปใกล้ มองความถี่ยิบของจุดแต้มแต่งสี วิธีผสมน้ำให้เกิดความเข้ม และเจือจาง รายละเอียดเครื่องประดับนานาที่เธอสวมใส่ มองความอ่อนช้อยของลายเส้น ทั้งหมดนี้คือการมองรายละเอียด ซึ่งไม่สามารถกระทำได้พร้อมๆ กันทั้งรูป แต่ต้องค่อยๆ ดู "ตามลำดับเวลา" ("ลำดับเวลา" ในที่นี้อาจฟังดูแปลก เพราะภาพวาดไม่ใช่วรรณกรรม หรือภาพยนตร์ที่มีก่อน และหลังชัดเจน)

ขณะเดียวกัน กุญแจสำคัญที่ทำให้ภาพนางรำนี้ออกมางดงามคือความลงตัวขององค์ประกอบใหญ่ ตำแหน่งของ "หาง" เส้นรัศมีที่ลากเข้าหาศูนย์กลางช่วยดึงสายตาผู้ชมให้จับจ้องไปที่ผู้รำ ใบหน้าสีขาวท่ามกลางเครื่องแต่งกายสีสันสดใส รวมไปถึงความอสมมาตรของแขนซ้ายขวาช่วยรักษาน้ำหนักของภาพ องค์ประกอบเหล่านี้ผ่านเข้าการรับรู้เรา "พร้อมๆ กัน" ไม่สามารถแบ่งแยกก่อนหลังได้

อะไรคือ "ธรรมชาติ" ของการชมงานศิลปะ เข้าไปดูใกล้ๆ หรือมองห่างๆ


3.

วัฒนธรรมไทยเน้นการชื่นชม และสร้างสรรค์ศิลปะแบบธรรมชาตินิยม รูปฝาผนังวัด อุโบสถคือจิตรกรรมที่ผู้ชมควรสำนึกถึง หรือมีพื้นความรู้ในเรื่องราว นิทานที่จิตรกรต้องการสื่อสาร ฝาผนังวัดพระแก้วยาวไม่รู้กี่กิโลเมตร แท้จริงก็คือสมุดวรรณคดี พร้อมภาพประกอบ เราสามารถบอกได้ว่าตำแหน่งไหนมาก่อน มาทีหลัง ยิ่งเสริมกับ medium กำแพงวัดซึ่งจำกัดขอบเขตการรับรู้ (ถ้าไม่อาศัยเทคโนโลยี คงไม่มีมนุษย์ตนใดรับเอาภาพวาดรามเกียรติทั้งหมดเข้ามาได้พร้อมๆ กัน) ขณะเดินวนรอบกำแพง แวะทำนู่นทำนี่ นั่งพักเหนื่อย ซื้อดอกไม้ธูปเทียน ไหว้พระ แล้วก็ "อ่าน" รามเกียรติไปพลาง ผู้ชมดังกล่าวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลำดับเวลา

สมัยก่อนแม่ผมทำงานอยู่แถวสนามหลวง ทุกเช้าจะเอาผม และพี่เลี้ยงมาปล่อยที่วัดพระแก้ว ก็เดินวนเดินชมมาตั้งแต่เล็ก เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง จนบัดนี้ เติบโตขึ้น ได้เห็นอะไรมากมาย ก็ยังคงรู้สึก ความมหัศจรรย์ของงานศิลปะธรรมชาตินิยมชิ้นนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลังคาโบสถ์ซิซทีนแม้แต่น้อย

ไม่จำเป็นว่าจิตรกรรมฝาผนังจะต้องมีลำดับเวลา ภาพวาดอุโบสถด้านหลังพระประธานคือตัวอย่างผลงานรูปแบบนิยม ลองหลับตาจินตนาการว่าคุณกำลังจะเข้าไปไหว้พระในอุโบสถสักแห่ง เอาวัดพระแก้วก็ได้ วาดภาพอุโบสถวัดพระแก้วคือพระประวัติของพระพุทธเจ้า ถอดรองเท้าวางไว้ด้านหน้า ยกขาก้าวข้ามธรณีประตู เดินเข้าไป สิ่งที่คุณเห็นคือแท่นบูชาพระแก้วมรกต ถัดไปด้านหลังเป็นภาพวาดพระประวัติ คุณสมควรอ้าปากค้าง ชื่นชมความอลังการ นี่คือความสวยงามที่กระแทกจักษุประสาทในคราวเดียว สัมพันธภาพระหว่างสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และการตกแต่งภายใน หลังคา คานไม้ กำแพงอุโบสถ ผนัง ตำแหน่งพระประธาน ชั่ววินาทีนั้นความเฉิดฉายจุดประกายให้คุณอยากดำเนินรอยตามทางของพระศาสดา

เพื่อการเปรียบเทียบที่ชัดเจน ลองเหลียวซ้ายขวา จะเห็นกำแพงอุโบสถซึ่ง "บอกเล่า" พระประวัติ งามเหมือนกัน แต่งามคนละแบบ ใช่ไหมครับ


4.
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมีเคยเขียนถึงพัฒนาการของงานศิลปะแขนงต่างๆ อธิบายแรงบันดาลใจช่างแต่ละสมัย ด้วยความคิดสั้นๆ คือ "ทำอย่างไร ถึงจะให้งามกว่าที่คนรุ่นก่อนเขาทำกัน" บางครั้งเทคโนโลยีก็เป็นตัวแปรง่ายๆ เอื้อให้ช่างยุคหลัง ซึ่งกระทำแบบเดียวกันกับช่างยุคก่อนนั่นแหละ แต่เพราะเครื่องไม้ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทันสมัยกว่า ผลงานก็เลยออกมาวิไลกว่า ถ้าพูดถึงประติมากรรม อาจารย์ธีรยุทธยกให้พระพุทธรูปหล่อของสุโขทัยคือสุดยอดแล้วในเชิงนี้ ตัวอย่างเช่นพระพุทธรูปปางลีลาที่คนรู้จักกันดี หรือพระนอนวัดบวร (แต่รูปข้างบนไม่ใช่นะครับ นี่เป็นผลงานอาจารย์เขียน ยิ้มศิริซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะสุโขทัย บวกแนวคิดตะวันตกลงไปด้วย) นี่คือความงามรูปแบบนิยม นำรูปทรงเรขาคณิตที่ถูกปรับแปรให้อ่อนช้อยมาวางคู่ขนานกันอย่างลงตัว

พอถึงสมัยอยุธยา เมื่อช่างไม่อาจพัฒนารูปทรงให้เลิศล้ำไปกว่าคนรุ่นก่อน ช่างยุคนั้นจึงรับอิทธิพลขอม เพิ่มเครื่องประดับ เครื่องทรงแก่พระพุทธรูป หรือไม่ก็แกะสลักแท่นให้วิจิตรพิสดาร ความงามของประติมากรรมอยุธยาก็เลยเป็นแบบธรรมชาตินิยม ที่น่าคิดก็คือการที่ช่างให้ความสำคัญกับรายละเอียด เลยทำให้ภาพรวมของงานอ่อนด้อยลงไปด้วยหรือเปล่า ก็คงต้องทิ้งไว้เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลก็แล้วกัน ใครที่คิดว่ารูปทรงประติมากรรมสุโขทัย หรืออยุธยา แบบไหนงดงาม อ่อนช้อยกว่ากัน

แต่ที่แน่ๆ คือความขัดแย้งระหว่างธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมมีอยู่จริง เมื่อช่างยุคใหม่เริ่มเบื่อหน่ายการลงรายละเอียดแบบธรรมชาตินิยม และอยากกลับไปหาความงามดั้งเดิม ในที่สุดก็เลยเกิดเป็นศิลปะยุคใหม่ เช่นลัทธิรื้อถอนโครงสร้าง (deconstruction) ความงามแบบเรียบง่าย (minimalist) และศัพท์ยากๆ อื่นๆ อีกมากมาย


5.

เทียบกับศิลปะแขนงอื่นๆ สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นในฐานะที่มันอิงอยู่กับทั้งเทคโนโลยี และธุรกิจ จะสร้างตึกขึ้นมาสักหลัง ต้องอาศัยวิศวกรรมศาสตร์ และเงินตรา ในแง่สุนทรีศาสตร์ สถาปัตยกรรมก็เป็นงานศิลปะที่เส้นแบ่งระหว่างธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมแทบไม่ปรากฎ

ต้องบอกไว้ก่อนว่า ที่พูดมายาวเหยียด ไม่ใช่ว่าเราสามารถเอากฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้ตัดสินงานศิลปะได้ กระทั่งภาพวาดกำแพงวัด ต่อให้คุณค่าของมันจัดอยู่ในเชิงธรรมชาตินิยม แต่ถ้าองค์ประกอบโดยรวมขัดหูขัดตา ถึงเล่าเรื่องได้ รายละเอียดดีแค่ไหน ถ้าไม่น่ามองเสียตั้งแต่แรก ก็ถือว่าล้มเหลว ขณะเดียวกัน พวกกราฟฟิคดีไซเนอร์ซึ่งชอบอะไรแบนๆ สองมิติ ก็สามารถมองความสวยงามของกำแพงวัดเป็นรูปแบบนิยมได้ งานศิลปะทุกชิ้นมี "ธรรมชาติ" ของการเสพย์ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งธรรมชาตินิยม (มองที่รายละเอียด) หรือรูปแบบนิยม (มองโดยรวม) การที่เรามอง "ธรรมชาติ" ด้วยสายตาประเภทหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าผู้อื่น หรือตัวเราเองจะไม่สามารถมอง "ธรรมชาติ" ด้วยสายตาอีกประเภทหนึ่งได้

สถาปัตยกรรมคือตัวอย่างของงานศิลปะที่เป็นได้ทั้งธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยม ทันทีที่เราเห็นอาคารหลังหนึ่ง เรารับทั้งหมดของมันเข้าไป ความใหญ่โต รูปทรงอันน่าเหลือเชื่อ แสงเงา ความสัมพันธ์กับท้องถนน สวน หรือลานจอดรถ วัสดุซึ่งนำมาใช้ก่อกำแพง จะสวยไม่สวย ขึ้นอยู่กับว่าสถาปนิกวางสมดุล (หรืออสมดุล) ได้ลงตัวแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม ทันทีที่เราเข้าไปอยู่อาศัย ทำงาน หรือแค่เยี่ยมชมภายใน เราเห็นเสา ประตู ผนัง หลังคา ความอลังกายภายนอกค่อยๆ เลือนหายไป หน้าต่างเปิดรับแสงได้ดีแค่ไหน ลิฟต์ บันไดจัดไว้อย่างสวยงาม สะดวกสบายหรือเปล่า แต่ละปีกของตึกอยู่ในตำแหน่งที่มันควรจะอยู่ไหม ทางเดินภายในชัดเจน หรือสับสนวกวนเป็นเขาวงกต (แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ สถาปัตยกรรมที่ตั้งใจให้คนเดินหลงนิดๆ เพื่อจะได้ชื่นชมความงามได้นานๆ )

มีต่อนะครับ คราวหน้าได้พูดถึงวรรณกรรม วรรณคดีเสียที

1 comment:

Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.