ตูมตามส่งท้ายปี 2006


เบอทราน รัสเซลเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเคยพูดไว้น่าฟังว่า "ปัญหาของโลกใบนี้คือ คนฉลาดไม่เคยแน่ใจอะไรเลย ส่วนคนโง่ก็ (เสือก) รู้ไปหมดทุกอย่าง" ถ้าวัดด้วยมาตรฐานของรัสเซล ผมก็คงเป็นคนฉลาด เพราะหลังจากได้ข่าวการระเบิดส่งท้ายปี 2006 ในกรุงเทพ รู้สึกสับสนไปหมด (แม่ง) ไม่แน่ใจอะไรเลยสักอย่าง อนาถตัวเองจริงๆ

ลังเลอยู่นานว่าจะเขียนบลอคตัวนี้ดีหรือเปล่า เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับหนังสือ แต่เกิดจากอารมณ์คุกรุ่นซึ่งอยากนำไปปะทุที่ไหนสักแห่ง

หลังจากไปอ่านความคิดเห็นของนักเขียน นักวิจารณ์ และคนที่มาโพสตอบตามเวปไวซ์ข่าว ผมก็ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลคมช. น่าจะได้รับการจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นรัฐบาลที่เสื่อมความนิยมรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่แรกเริ่มรับอำนาจพร้อมกับเสียงปรบมือ (เพราะได้ชื่อว่าขับไล่ทรราชทุนนิยม) แม้จะมีคนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรม แต่เอาเถอะ คนไทยแกล้งลืมๆ กันไปก่อนก็ได้ เพียงแค่สามเดือน รัฐบาลคมช. ได้นำตัวเองลงไปสู่หุบเหวแห่งความไว้เนื้อเชื้อใจ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจ (โคตร) ผิดพลาด การที่ไม่สามารถดำเนินคดีอดีตนายกทักษิณ จับตัวท่านมาคล้องคอ ขึ้นขื่อเหมือนภาพสุดท้ายของซัดดัม ฮุสเซน งบลับห้าร้อยล้านที่หายวับไปกับสายลม และมาตอนนี้ก็เรื่องวินาศกรรมก่อการร้ายในเมืองกรุง เรียกว่ากลายเป็นขี้ปากประชาชนไม่แพ้ชุดก่อนๆ ขาดก็แต่คุณสนธิ จะลงมาปลุกระดมมวลชนขับไล่เท่านั้นเอง

บอกได้คำเดียวว่าน่าเป็นห่วงครับ

ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลคมช. รู้สึกว่านโยบายเศรษฐกิจ (ซึ่งเลียนแบบมาจากชิลี หนึ่งในประเทศที่ด้วยพัฒนาที่สุดในโลก) สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากกว่าทุนนิยมของคุณทักษิณ แต่สิ่งที่ตัวเองไม่อยากเห็นที่สุดในชีวิต คือภาพคนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลชุดนี้ เพราะมันจะทำให้ประชาชมเสื่อมศรัทธาในอำนาจบริหาร ในเมื่อผู้นำจากการเลือกตั้งก็ไม่ดี จากกองทัพก็ไม่ไหว ถ้าปล่อยไว้แบบนี้เดี๋ยวก็กลายเป็นอนาธิปไตยกันพอดี คือประชาชนไม่เอาใครทั้งสิ้น ฉันจะร่างกฏหมาย บริหารของฉันกันเอง บรรยากาศเช่นนี้แหละที่นำไปสู่การนองเลือดในฝรั่งเศสช่วงต่อศตวรรษที่ 18 และ 19

คงไม่มีน้ำวิเศษเยียวยาสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ได้ ประการหนึ่งคือถ้าร่นการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น อาจช่วยบรรเทาความกดทันที่สังคมมีต่อรัฐบาล แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยในตอนนี้ "ศรัทธา" การเลือกตั้งแค่ไหน เราจะยอมรับหรือไม่ ถ้าเลือกกันออกมาแล้วก็เป็นหน้าเดิมๆ (ซึ่งมีสิทธิเป็นไปได้มาก) คำถามสุดท้ายเลยคือคนไทยเคารพกฎกติกาแค่ไหน เลือกตั้งปี 04 ในอเมริกา ฝรั่งได้ผู้นำเป็นชายซึ่งประชาชนเกือบครึ่งประเทศรังเกียจเดียจฉันท์ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังเคารพกติกาพอจะปล่อยให้ตานั่นบริหารประเทศ (อย่างเฮงซวยเสียด้วย พูดกันตรงๆ ) นั่นเป็นสิ่งดีงามหรือเปล่า หรือพวกฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาอเมริกาควรลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากัน

ผมขอทำตัวฉลาดๆ แล้วก็ไม่ตอบคำถามข้างบนแล้วกันครับ

No comments: