รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ตอนที่ 1 (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร)


(หมายเหตุ: จริงๆ แล้ว รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ของอาจารย์ไชยรัตน์ก็ไม่ได้ยาวถึงขนาดต้องแบ่งอ่านเป็นสองช่วงหรอก แต่มันอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาดีๆ จนเรากลัวว่าถ้าอ่านจนจบแล้วค่อยมาเขียนถึงรอบเดียว จะหลุดประเด็นสำคัญไปอย่างน่าใจหาย)

มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เราเริ่มรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังวิกฤติก็เมื่อประมาณปี 2548 ตอนนั้นอ่านนิตยสารสัพเพเหระฉบับหนึ่ง คอลัมน์สอนวิธีป้องกันตัวให้กับหญิงสาว จุดที่น่าขบคิดเกี่ยวกับคอลัมน์นี้คือผู้เขียนเกริ่นด้วยการชักจูงให้ผู้หญิงเห็นความจำเป็นของศิลปะการต่อสู้ โดยพูดประมาณว่า "ในสังคมทุนนิยมที่ผู้แข็งแรงคอยแต่จะรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า จำเป็นอย่างมากที่ผู้หญิงจะเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอาไว้" กรามล่างเราแทบจะหลุดลงไปกองกับพื้น ตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ยที่อดัม สมิธสอนให้ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง

ขออีกเรื่องแล้วกัน สมัยรัฐประหารใหม่ๆ ตอนนั้นเรายังอยู่ที่อเมริกา น้องๆ ในชมรมคนไทยนัดมาเจอกันเพื่อพูดถึงสถานการณ์บ้านเมือง หนึ่งในน้องคนนั้นต้องการแสดงให้เห็นความไร้ศักยภาพของรัฐบาล สื่อวีดีทัศน์ที่เขานำมาเปิดก็คืออีเมลฉบับหนึ่งซึ่งรวมภาพตัดต่อ เอาหน้าคุณทักษิณมาใส่ในโปสเตอร์หนังดังๆ แล้วก็เปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่ (ที่จำได้แม่นยำมากคือเอาหน้าคุณทักษิณไปใส่คอมัดหมี่ แล้วเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เป็น "แม้วเหี้ย")

ที่เล่ามายาวเหยียดสองเรื่องนี้เพราะอยากบอกว่า ประเทศไทยที่เราเติบโตมา เป็นคนละประเทศเสียแล้วกับประเทศไทยของอาจารย์ไชยรัตน์ หรือพูดให้ถูกกว่านี้ เป็นคนละประเทศกับของประเทศไทยอาจารย์ไชยรัตน์ สมัยที่ท่านเขียน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ (บทความที่อ่านมาแล้วครึ่งเล่ม ใหม่สุดจะอยู่ประมาณปีพ.ศ. 2540) นี่อาจเป็นหนังสือบทวิเคราะห์การเมืองภาษาไทยที่เราอ่านแล้วไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเกรงขามในความรู้ ความเป็นพหูสูตรของผู้เขียนซึ่งอัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยม

ก็จะไม่ให้เกรงขามได้อย่างไร ในเมื่อไม่ว่าจะเป็นฟูโกต์ อัลทูซาร์ เราเองก็อ่านมาเหมือนอาจารย์ เพียงแต่ถ้าเราอ่านฟูโกต์ 5 เล่ม อาจารย์ท่านก็อ่านไปเสีย 20 เล่ม!

หัวใจของ รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ว่าด้วยความฉ้อฉลของความรู้ อาจารย์ไชยรัตน์อิงแนวคิดของฟูโกต์ที่บอกว่าความรู้ไม่ใช่เรื่องของสัจจะ หรือความเป็นกลางทางวิชาการแบบที่นักวิทยาศาสตร์ชอบอ้างกัน แต่เป็นเพียงองค์ประกอบของวาทกรรมซึ่งเต็มไปด้วยอคติและผลประโยชน์ของผู้สร้าง ยกตัวอย่างเช่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ไอ้หลักกงหลังการที่รัฐบาลยกมาอ้าง แท้ที่จริงก็เป็นเครื่องมือทางอำนาจประเภทหนึ่ง ซึ่งจงใจใช้กีดกันหรือบังคับให้คนในชาติดำเนินตามแผนที่ผู้นำวางไว้

เราเห็นด้วยกับอาจารย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็อดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทยแบบที่อาจารย์วิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้ มันไม่ "ประจักษ์" อีกต่อไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงสิบ สิบสองปีที่ผ่านมาคืออินเตอร์เนต ทำให้ปีศาจที่น่ากลัวกว่าในปัจจุบันไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นวาทกรรมต่างหาก

สังคมปัจจุบันคือสังคมที่วาทกรรมมีอิทธิพลเหนือความรู้ และนักการเมืองทั้งในและนอกสภาต่างอ่านฟูโกต์จนแตกฉาน พื้นที่ของความรู้ในปัจจุบันไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรือหนังสือวิชาการอีกต่อไป แต่เป็นอินเตอร์เนต (ในที่นี้ "อินเตอร์เนต" รวมไปถึงสื่อหรือ "พื้นที่" อื่นๆ ซึ่งโดยขนาดและความครอบคลุมแล้ว เมื่อสิบปีก่อนเทียบไม่ติดฝุ่น) และแน่นอนว่าความรู้ในอินเตอร์เนตแท้ที่จริงก็คือวาทกรรม เป็นวาทกรรมล้วนๆ ถ้วนๆ ที่ไม่แม้แต่เสียเวลาปิดบังตัวเองว่าเป็นความรู้ (ตัวอย่างเช่นบลอครักชวนหัว และบลอคอื่นๆ ก็คือแหล่งผลิตวาทกรรมดีๆ นี่เอง)

เรื่องที่เราเล่ามาในตอนแรก เพราะต้องการบอกว่าวิกฤติของสังคมไทยเกิดจากการผลิตวาทกรรมที่มากล้นจนเกินไป และเมื่ออินเตอร์เนตเปิดโอกาสให้ใครต่อใครเข้าไปเขียน ไปอ่านความคิดของใครต่อใคร การเผยแพร่วาทกรรมในอินเตอร์เนตจึงมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่มหาวิทยาลัยหรือผู้มีอำนาจจะนึกฝันในอดีต

โปสเตอร์ "แม้วเหี้ย" ก็คือวาทกรรมอย่างหนึ่ง เป็นวาทกรรมที่ต้องการสื่อว่า "คุณทักษิณเป็นคนไม่ดี" โดยความคิดตรงนี้ไม่ต้องมีพื้นฐานจากการพิสูจน์หรือการยอมรับโดยใครทั้งนั้น เพียงแค่อาศัยนักตัดต่อภาพสักคน องค์ความรู้ที่ว่า "คุณทักษิณเป็นคนไม่ดี" ก็ได้ถูกเผยแพร่เข้าไปในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าองค์ความรู้กระแสหลักแบบที่อาจารย์ไชยรัตน์พูดถึงใน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ด้วยซ้ำ เนื่องจากถ้าให้ยกวาจาอมตะของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ "ความคิดยิ่งโง่และยิ่งง่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าถึงคนหมู่มากได้เท่านั้น" (สังเกตว่าแม้แต่ในหมู่คนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ คงจะคุ้นเคยกับโปสเตอร์ "แม้วเหี้ย" มากกว่าข้อเขียนหรือความคิดของอาจารย์ธีรยุทธ คุณหมอประเวศ)

อีกตัวอย่างที่อยากยกขึ้นมา คือการ "ไม่เชื่อ" ปรากฎการณ์โลกร้อนในสหรัฐอเมริกา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีนักวิชาการกระแสรองบิดผันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อมาหลอกชาวอเมริกันว่าปรากฎการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง สมัยก่อนที่อัล กอร์จะได้รางวัลโนเบล วาทกรรมตัวนี้มีอิทธิพลไม่น้อยเลย เวลาพรรครีพับลิกันจะคัดง้างกฎหมายควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหล่าผู้สนับสนุนก็จะยกวาทกรรมตัวนี้ขึ้นมาเอ่ยอ้าง (ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นการบิดผันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างน่าละอาย)

ใน รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ อาจารย์ไชยรัตน์ได้นำเสนอมุมมองน่าขบคิดว่า การเมืองใหม่หรือการต่อต้านแนวทางกระแสหลักต้องทำด้วยความระมัดระวัง เป้าหมายของการต่อต้านไม่ใช่การเข้าไปมีอำนาจในสภาหรือพื้นที่แห่งอำนาจเก่า แต่เป็นการนิยามความหมายใหม่ให้กับสังคม (พูดง่ายๆ ก็คือทำการปฏิวัตินิยามและความรู้ ไม่ใช่ปฏิวัติอำนาจ) ถ้ามองสังคมไทยในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายยิ่งว่าสิ่งที่อาจารย์ไชยรัตน์กลัวมันได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือการเมืองใหม่ที่สุดท้ายก็น้ำเน่าพอๆ กับการเมืองเก่า เพราะแม้จะอิงวาทกรรมหรือชุดความรู้ที่ต่างออกไป แต่เป้าหมายหลักก็ยังเป็นการช่วงชิงอำนาจเหมือนเดิม

ซึ่งโศกนาฏกรรมนี้ก็มีสาเหตุของมันอยู่ กล่าวคือไม่ใช่พันธมิตรหรือกลุ่มผู้จัดการหรอกที่เป็นคนคิดค้นวาทกรรมต่อต้านคุณทักษิณ และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่นปช. ด้วยที่คิดค้นวาทกรรมต่อต้านอมาตยธิปไตย วาทกรรมเหล่านี้เกิดมาจากนักวิชาการเช่นคุณหมอประเวศ อาจารย์ธีรยุทธ อาจารย์นิธิ หรืออาจารย์ธงชัย พวกท่านเพียงต้องการเสนอความคิดหักล้างองค์ความรู้ซึ่งครอบงำสังคมอยู่ในขณะนั้นๆ พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นนักต่อสู้เพื่อการเมืองใหม่ดังที่อาจารย์ไชยรัตน์นำเสนอไว้จริงๆ แต่ปัญหาคือ อย่างที่บอกไปแล้วว่านักการเมืองสมัยนี้ ทุกคนช่ำชองฟูโกต์กันหมด ทุกคนรู้ว่าวาทกรรมบริสุทธิ์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือแห่งความรุนแรงได้ วาทกรรมเหล่านี้จึงถูกนำไปเผยแพร่ ผ่านระบบการกระจายเสียงที่ต้องอาศัยเงินลงทุน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการแลกซื้อสิ่งที่นักลงทุนเหล่านั้นปรารถนา ซึ่งก็คืออำนาจ ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากแล้วละ ที่ในปัจจุบันการปฏิวัติมันจะหยุดอยู่แค่นิยามและความรู้

สิ่งที่เราอยากแนะแนวต่อไปนี้ คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับข้อสรุปของ รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ โดยสิ้นเชิง กล่าวคือต้องเอาความเป็นวิทยาศาสตร์ ประจักษนิยม และปฏิฐานนิยมกลับเข้ามาในองค์ความรู้และวาทกรรม ตัวอย่างกรณีโลกร้อน ผู้รับสานส์ควรตรวจสอบข้อมูล เอาความเป็นวิทยาศาสตร์เข้าไปคัดง้าง ทำลายวาทกรรมชวนเชื่อดังกล่าว (ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวาทกรรมดีๆ ที่ปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อนอยู่เลย ขณะเดียวกันวาทกรรมชวนเชื่อที่ขู่ให้คนกลัวปรากฎการณ์โลกร้อนจนเกินจริงก็ใช่ว่าจะไม่เคยได้ยิน) จะต่อต้านทุนนิยมก็ต่อต้านไป แต่ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ เหมือนกับมันเป็นสัจจะที่ทุกคนในสังคมต้องเห็นด้วย และขอทีเถอะ ไอ้อีเมลตัดต่อภาพนี่ลบทิ้งไปซะ ไม่ต้องส่งต่อเลยได้ไหม

No comments: