เหยี่ยวนรกทะลทราย (โก้วเล้ง)


...ปึงน้อยที่น่าตาย ขณะที่ท่านมองดูสตรี ไฉนมักมีทีท่าตัดไม่ขาดยากสลัดรอน ท่านไฉนมองดูพวกนาง ไฉนไม่ยินยอมมองดูเราให้มากไว้

ถ้าบอกว่าเป็นแฟนโกวเล้งจะมีใครเชื่อไหมนี่ เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกที่เราอ่านของมังกรโบราณ แต่เป็นผลงาน "โนเนม" ชิ้นแรก (คือไม่ได้นำแสดงโดยพระเอกชื่อดังอย่าง ชอลิ้วเฮียง ลี้คิมฮวง เอี๊ยบไค โป้วอังเสาะ เล็กเซียวหง หรือ เซียวฮื้อยี้) พระเอกของเรื่องเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ย ฉายาปึงน้อยที่น่าตาย ฉากของนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่ดินแดนกังหนำ แต่เป็นทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ธรรมชาติอันโหดหิน เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับสงครามชิงแผ่นดินระหว่างปักฉังปานา นักรบชาวธิเบต ฉายาเทพธนูห้าสี "ดอกหนึ่งแข็งแกร่งดั่งทองคำ ดอกหนึ่งอ่อนโยนดุจลมฤดูใบไม้ผลิ ดอกหนึ่งหยาดเยิ้มราวรอยแย้มยิ้ม ดอกหนึ่งร้อนแรงปานเปลวอัคคี ดอกหนึ่งแหลมคมเช่นสว่านเหล็ก" และเทพินทร์ไพบูลย์ ผู้หลงใหลความบริสุทธิ์ของทองคำ

ความน่าสนใจของเหยี่ยวนรกทะเลทราย ซึ่งแตกต่างกับนิยายกำลังภายในเล่มอื่นๆ คือมังกรโบราณค่อนข้างเทบทบาทให้ "ตัวร้าย" อย่างเทพินทร์ไพบูลย์ หลายคราวก็ดูเหมือนฝ่าย "พระเอก" อย่างปักฉังปานาก็เด็ดขาด โหดเหี้ยม อำมหิตไม่แพ้กัน การที่คนดี คนร้ายปะปนคละเคล้าแยกกันไม่ออกถือเป็นเสน่ห์ส่วนตัวของโกวเล้ง ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนอย่างกิมย้ง เคยคุยกับเพื่อน เขาบอกว่าตั้งแต่เด็ก พ่อไม่สนับสนุนให้อ่านโกวเล้ง แต่ชอบให้อ่านกิมย้ง เพราะพ่ออยากสอนให้ลูกชายมีความพยายาม พระเอกโกวเล้งเปิดเรื่องมาก็มักเก่งกาจตั้งแต่ต้น ขณะพระเอกกิมย้งค่อยๆ ไต่เต้า ฝึกปรือวิทยายุทธไปเรื่อย ฟังแบบนี้แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าใจจริงคุณพ่อคงไม่อยากให้ลูกชายสัมผัส "คุณธรรมสีเทา" ตามแบบฉบับมังกรโบราณมากกว่า (ขณะที่ตัวละครกิมย้งมักแบ่งขาว แบ่งดำชัดเจน)

พูดถึงเรื่องพระเอกเก่งตั้งแต่ต้น ความพิเศษอีกประการของเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ยไม่ใช่พระเอกโคตรเก่งอย่างลี้คิมฮวง หรือชอลิ้วเฮียง ถึงจะฝึกปรือวิชากระบี่ แต่จวบจนจบเรื่องก็เก่งแค่ระดับกลางๆ เท่านั้น

โกวเล้งยังคงผนวกปรัชญาเซนกับการต่อสู้ ได้อย่างหมดจดงดงามเช่นเคย "สงบสยบเคลื่อนไหว" คำพูดสุดฮิตซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากมังกรโบราณ ฉากที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือช่วงท้ายๆ เรื่องเมื่อเทพินทร์ไพบูลย์ส่งสามนักฆ่า หมายเลขสาม สิบสาม และสามสิบสาม ไปสังหารปึงอุ้ย ความสุดยอดของฉากนี้ถือเป็นอีกมณีชิ้นเอกในผลงานของโกวเล้งก็ว่าได้

สิ่งหนึ่งซึ่งผู้เขียนเข้าใจเป็นอย่างดี คือการต่อสู้ในนิยายไม่ได้สำคัญว่าจะประมือกันอีท่าไหน พระเอก ผู้ร้ายใช้ท่วงท่า กลยุทธ์ หรือสติปัญญาเพียงใด สิ่งสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ซึ่งค่อยๆ นำไปสู่ฉากไคลแมกซ์ต่างหาก ถ้าคนเขียนสามารถสร้างอารมณ์ได้สุดขีดจริงๆ บางครั้งแลกอาวุธกันเพียงพริบตา ก็สนุกสนานน่าตื่นเต้นกว่าบรรยายยืดยาวสามสี่ห้าหน้าเป็นไหนๆ (ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านฤทธิ์มีดสั้น จะรู้ว่าฉาก "ไคลแมกซ์" ระหว่างลี้กิมฮวง และซัวกังกิมฮ้ง เหนือชั้น สูงสุดคืนสู่สามัญแค่ไหน )

เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ได้ไร้ซึ่งจุดอ่อนโดยสิ้นเชิง หลายตอน อ่านดูก็พอรู้ว่ามังกรโบราณท่านด้นสด เขียนไปมั่วไป อย่างป๊กเอ็งตัวละครสำคัญในครึ่งแรกของเรื่อง พอมาถึงครึ่งหลังหายสาบสูญไปเฉยๆ บ้างก็อาจคาดเดาได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ป๊กเอ็งนั่นแหละ เป็นอีกภาคหนึ่งของเทพินทร์ไพบูลย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกในนิยายโกวเล้ง บางครั้งเพื่อนกลับกลายเป็นศัตรู คู่อาฆาตแค้นที่เพิ่งต่อสู้เมื่อสองสามหน้าก่อน มาบัดนี้กลับเป็นมิตรสหายคู่ใจ

อ่านนิยายโกวเล้ง ก็เหมือนย่ำเท้าลงลำธาร คนเราไม่อาจเหยียบผิวน้ำซ้ำซากได้ฉันใด นิยายของโกวเล้งแปรรูปไปได้ฉันนั้น

หมายเหตุ: เรียงลำดับนิยายของโกวเล้งที่ชอบที่สุดห้าเรื่องแรก
1) ฤทธิ์มีดสั้น
2) ชอลิ้วเฮียง ตอนกวนอิมศิลา
3) จอมดาบหิมะแดง (ฤทธิ์มีดสั้น ภาคสุดท้าย)
4) ชอลิ้วเฮียง ตอนถล่มวังค้างคาว
5) เหยี่ยวนรกทะเลทราย

No comments: