ช่อการะเกด 42 (หลายคนเขียน)


มาแรงมากๆ กับช่อการะเกด reloaded ชนิดที่ว่าในเวปไซต์วรรณกรรมถึงกับโหวตหาเรื่องสั้นดีเด่นประจำเล่มเลยทีเดียว จริงๆ เห็นคนอ่านหนังสือเราก็ชื่นใจ แต่อย่าให้กระแสนี้มันตายไปกับช่อการะเกด 43 44 ก็แล้วกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นกับทีมงาน และที่สำคัญตัวผู้เขียนเองจะผลิตผลงานดีๆ ส่งไปให้ช่อฯ ส่วนผู้เขียนคงช่วยอะไรไม่ได้ แต่ส่วนทีมงาน ยอมรับเลยว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง แง่รูปเล่ม ปก เนื้อหา แล้วก็โลกหนังสือ ซึ่งเป็นสรุปข่าวแวดวงวรรณกรรมไทย เทศท้ายเล่ม ทำออกมาได้ดี จุดเดียวที่อยากเตะ เอ้ย! อยากติคือรูปประกอบ ให้เดานะ บางรูปไม่ได้วาดจำเพาะเรื่องใช่ไหม เพราะไม่เห็นมันจะเข้ากันกับเนื้อหาตรงไหน (นอกจากจะแถๆ ถูๆ ไถๆ กันจริงๆ )

เรื่องที่ชอบสุดในเล่มคือ ข้อได้เปรียบของการเป็นดาราอาวุโส เขียนดี เรื่องสั้นที่เอาความตายมาเป็นธีมแบบนี้หายากในเมืองไทย เรื่องนี้นอกจากจะพูดถึงความตายแล้ว ยังใช้ตัวละครเป็นนักแสดง คือผู้สวมบทบาทจริงๆ (ซึ่งต่างจากดารา หรือคนดัง) ไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวของอาชีพนี้เท่าไหร่ สงสัยมากว่าคุณวยากรเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และอายุเท่าไหร่ ทำไมถึงได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ และถ่ายทอดมาได้ดี รองลงมา ใช่เพียงชื่อตัวละคร เป็นเรื่องสั้นชวนหัวที่ขำแตกใช้ได้ ภาษาผู้เขียนเรียบๆ แต่บทจะปล่อยหมัดฮา ก็กระทุ้งยอดอกคนอ่าน เรื่องสั้นขำขันที่มีบรรยากาศจริงจังเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นในแวดวงวรรณกรรมไทย อีกเรื่องที่อาจจะไม่ถึงกับชอบมาก แต่น่าพูดถึงคือ ข่าว ชัด รัฐ นิวส์ ซึ่งด้วยวิธีนำเสนอเก๋ไก๋ (แม้จะไม่แปลกใหม่นัก) ก็ช่วยให้เรื่องนี้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่เข้าขั้นชอบ และเกือบดีมากๆ คือ อิสตรี เป็นเรื่องสั้นสไตล์คุณเดือนวาด ทั้งวิธีเขียน และสาร ในเรื่องนี้มีสองเหตุการณ์เกิดพร้อมๆ กัน ซึ่งแม้แต่ละส่วนจะไม่แข็งนัก แต่พออยู่รวมกันแล้วช่วยส่งเสริมกันได้ดี ปัญหาคือยาวไป แทนที่จะได้เห็นธีม เป็นปมชัดๆ อาการเลยเหมือนอ่านไปต้องมานั่งตั้งคำถามไปว่าจะเล่าให้ฉันฟังทำไมเนี่ย อีกเรื่องที่ปัญหาคล้ายๆ กันคือ มือสังหาร ด้วยภาษาเข้มข้นถึงใจ ติดที่ตรงลำดับการเล่าเรื่อง อ่านแล้วยังไม่ถึงอารมณ์เท่าที่ควร

ที่สงสัยกว่าเพื่อนคือ ตับ รู้สึกว่าถ้าผู้อ่านตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร คงไม่มีใครยอมฝืนกล้ำกลืนเช่นนั้น ยิ่งถ้าวิธีแก้ไขง่ายนิดเดียว หากผู้เขียนวางหมากใหม่ ให้ "ผม" ในเรื่องได้มีโอกาสเปิดอกกับพ่อตาสักครั้ง คงช่วยให้การตัดสินใจตัวละครสมจริงสมจังกว่านี้ อีกเรื่องที่อ่อนกว่าเพื่อนคือ ปาฏิหาริย์แห่งประเทศโลกที่สาม แม้จะดีใจที่ได้เห็นพี่ประชาคมลองเรื่องสั้นแบบใหม่ๆ แต่เรื่องยังไม่ถึงในแง่เสียดสีสังคม นึกอยู่นานก็นึกไม่ออกว่าเสียดสีแง่ไหนกัน จะเล่นประเด็นจตุคาม หรือประเด็นหวย หรือจะเป็นเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนเป็นเรื่องสั้นพยายามเสียดสีสังคมที่ยังตอบโจทย์ไม่แตกมากกว่า

นอกนั้นแม้จะธรรมดา แต่พูดได้เต็มปากว่าช่อการะเกด 42 ไม่มีเรื่องไหนแย่

2 comments:

laughable-loves said...

ขออนุญาตเอาโพสของคุณ black forest มาแปะไว้ในนี้ครับ และขอเปลี่ยนแปลงนิดหนึ่งเพื่อปิดบังชื่อจริงของรักชวนหัว

"แวะเข้ามาบอกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องผู้ไร้เหย้าในช่อการะเกด รู้สึกทึ่งในพลังการเขียนของมากๆ ไม่รู้เอาวัตถุดิบในการเขียนเหล่านี้มาจากไหน แม้แต่ชื่อเมือง ชื่อตัวละคร และชื่อสถานที่ก็ไพเราะอลังการ การใช้คำและการเรียงร้อยเรื่องราวก็มีจังหวะจะโคนที่น่าหลงใหล เวลาอ่านนี่แทบจะลืมหายใจ สติหลุดนิดนึงก็ไม่ได้เพราะจะตามเนื้อเรื่องไม่ทัน

อีกอันนึงที่น่าสนุกก็คือการต้องคอยเดาว่าตัวละครเอกในเรื่องสั้นเรื่องนี้นั้นมีตัวตนจริงๆ หรือไม่ ใช่คนที่เราคิดหรือเปล่า คนเขียนเขียนล้อชีวิตของคนที่มีชื่อเสียง เขียนขึ้นจากจินตนาการ หรือจริงๆ แล้วมันคือเรื่องจริงก็ไม่รู้เหมือนกัน"

potemkin said...

ขอบคุณครับ