สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (วินทร์ เลียววาริณ)


มาอีกแล้ว บทวิจารณ์หนังสือแรนดอม จริงๆ เล่มที่อ่านอยู่ขณะนี้คือ อินไซด์มิสเตอร์เอนเดอบี้ ของแอนโธนี เบอกัส หนังสือไม่หนามาก จริงๆ ไม่ควรใช้เวลานานนักหรอก แต่เกรงว่าช่วงนี้ติดภาระปะปัง

เล่าพื้นความหลังระหว่างผมและวินทร์ เลียววาริณหน่อยดีกว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนเป็นหนังสือของวินทร์ที่ผมอ่าน หลังจากไม่ยอมแตะต้องหนังสือ เรื่องสั้นใดๆ ของเขามาเกือบสิบปีแล้ว ย้อนความหลังไปวันที่ประชาธิปไตยบนเส้นขนานได้รางวัลซีไรต์ (ซึ่งผมไม่ชอบ) จนได้มีโอกาสพบปะนักเขียนตามที่ต่างๆ ไม่ถูกจริตแกเท่าที่ควร ซ้ำเมื่อสิ่งมีชีวิตฯ ได้รางวัลซีไรต์อีกสองปีถัดมา ทำให้วินทร์กลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่สองของประเทศไทย ผมก็เลยเกิดอาการหมั่นไส้ ไม่ยอมอ่านอะไรที่แกเขียนเอาเสียดื้อๆ

ที่อ่านสิ่งมีชีวิตฯ หลังเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งทศวรรษ เพราะเพื่อนสองคนย้ำนักย้ำหนาว่าเฮ้ย! ดีจริงๆ นะแก ก็เลยยอมลดอคติตัวเอง หยิบรวมเรื่องสั้นซีไรต์เล่มหน้ากว่าสามร้อยหน้าขึ้นมา

แล้วเป็นไงรึ แปลกใจมากครับที่ตัวเองชอบ! ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเขียนวิจารณ์รวมเรื่องสั้นยังไง เอาเป็นพูดแตกทีละประเด็นแล้วกัน

1) คุณวินทร์ได้รับฉายาว่านักเขียนช่างค้น เรื่องสั้นแทบทุกเรื่องมีอารมณ์ ลักษณะตัวละครที่แตกต่างไป บางทีก็เป็นเรื่องของนักเขียนนิตยสารสยิว เพชรฆาต คนงานบริษัท ผู้ก่อการร้าย คนป่วยอัมพาต ถึงใครๆ จะหาว่าฉาบฉวย ผมกลับคิดว่ามันช่วยให้เราอ่านแต่ละเรื่องสั้นได้ไม่รู้เบื่อ ไม่เหมือนนักเขียนอย่างคุณเรวัฒน์ คุณขจรฤทธิ์ และคุณมาโนช ซึ่งจริงๆ ผมชอบผลงานแต่ละท่านมาก แต่เวลาอ่านรวมเรื่องสั้นทั้งเล่มทีไรเล่นเอาเหนื่อยพอตัว เนื่องจากมันคล้ายคลึงกันไปหมด ทั้งอารมณ์ สภาพตัวเอก กระทั่งบางทีคอนฟลิกก็ออกทำนองเดียวกัน (ลองหยิบชีวิตสัมมะหาอันใด สายลมบนถนนโบราณ คนรักเก่ามาอ่านดูนะครับ) ผมคิดว่าสไตล์การเขียนแบบคุณวินทร์ เป็นสไตล์คนรุ่นใหม่ซึ่งน่าสนับสนุน พอกันทีการเขียนอิงแต่ประสบการณ์ ไม่รู้หรือไงว่าประสบการณ์คนเรานี่แหละ คับแคบที่สุดแล้วในโลก

2) คุณวินทร์ตั้งใจเขียนเรื่องสั้นแทบทุกเรื่อง บอกตามตรงว่าโคตรประทับใจเลย เห็นมาเยอะแล้วนักเขียนที่รวมเรื่องสั้นเหมือนศิลปินแกรมมี่ออกเทป กะให้เพราะเพลงเดียวพอ ที่เหลือเขียนอะไรก็ได้ยัดลงไปให้ครบๆ ร้อย สองร้อยหน้า ผมอาจไม่ได้ชอบทุกเรื่องสั้นในสิ่งมีชีวิตฯ แต่อย่างน้อยก็สัมผัสได้ว่าแต่ละเรื่องถูกกลั่นกรองมาจากหยักสมอง และแรงงาน ไม่ใช่ถือว่าตัวเองเป็นนักเขียนดังแล้ว จะปั่นอะไรออกมาก็ได้ตีพิมพ์หมด อาจจะฟังดูเหมือนนอกเรื่อง ตั้งแต่คุณปราบดาได้ซีไรต์ กระแสการเขียนเรื่องสั้นเริ่มเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่หลายคนเชื่อว่าเขียนอะไรมั่วๆ ซั่วๆ ออกมาก็ได้ เดี๋ยวคนก็ไปตีความเป็นเลิศเป็นเลอเอง

3) คุณวินทร์กล้านำเสนอประเด็นชวนถกเถียง แกไม่ใช่นักเขียนเด็กดี เชื่ออะไรตามตำราเรียนไปหมด หลายเรื่องสั้นของแกมีบทสรุปที่น่าขบคิด ใคร่ครวญ หลายครั้งผมไม่เห็นด้วยกับแก เช่นในกระถางชะเนียงฯ เหมือนแกตั้งใจจะสรุปว่าถ้าคนเรามีชีวิตบัดซบจริงๆ การฆ่าตัวตายก็ดูจะเป็นทางออกเดียว หลายทีรู้สึกเหมือนแกพยายามยัดประเด็นซึ่งตัวเองต้องการสื่อเข้าหาคนอ่านมากเกินไป แทนที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบกลางๆ ให้คนอ่านได้สัมผัสข้อขัดแย้ง และสรุปคำตอบด้วยตัวเอง เรื่องสั้นแบบวินทร์ เลียววาริณมีการผูกเรื่อง เพื่อนำไปสู่คำตอบหนึ่งเดียว โชคดีที่อย่างน้อยคำตอบนั้นก็ไม่ใช่อะไรโหลๆ ซึ่งพูดกันไปแล้วไม่รู้จบ อย่างคนจนมีน้ำใจ ทำดีได้ดี กรุงเทพสู้ต่างจังหวัดไม่ได้

4) จุดที่ไม่ชอบในสิ่งมีชีวิตฯ คือบทความปะหน้าเรื่องสั้น ประหลาดใจตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะเพื่อนที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ย้ำนักย้ำหนาว่ามันดีที่บทความ ไม่ชอบเพราะมันดูอวดรู้เกินเหตุ คุณวินทร์เอาเรื่องง่ายๆ อย่างหมาของพาบลอฟ มาปลุกปั้น เขียนให้ดูวิชาการเลิศเลอ ทั้งที่จริงๆ เด็กแทบทุกคน ถ้าพอมีการศึกษาหน่อย หรือเคยอ่านการ์ตูนซีเอ็ต ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องนี้เป็นธรรมดา นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง ชอบสไตล์บทความแบบประภาส ปราบดามากกว่า คือทำสิ่งซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เรื่องง่ายๆ อ่านสนุก

อ่านจบแล้วก็อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าได้อ่านสิ่งมีชีวิตฯ ตั้งแต่เมื่อแปดเก้าปีที่แล้ว จะชอบมันขนาดนี้ไหม คุณวินทร์เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีจริง หรือว่ามาตรฐานเราต่ำลงกันแน่ ตั้งแต่อินเตอร์เน็ตเปิดวัฒนธรรมเรื่องสั้นออนไลน์ หนังสือทำมือ โอกาสถูกเปิดให้นัก "อยาก" เขียนระดับฐานปิรามิดมากขึ้น เพราะแบบนี้หรือเปล่า เราถึงรู้สึกว่าหนังสืออย่างสิ่งมีชีวิตฯ ถ้าเทียบกับหลายปก หลายผลงานซึ่งเกลื่อนท้องตลาดอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก

1 comment:

Boat said...

เราว่าย้ายมาบล็อคนี้แล้วดูดีว่ะ