หนี้เลือด (ปราชญา ปารมี)


ก็เป็นไปตามคาดสำหรับหนังสือรางวัลชมเชยการประกวดนิยายสืบสวนสอบสวนของนานมีบุ๊ค ชนิดว่าตั้งแต่เห็นประกาศรับสมัครผลงาน เราก็คาดเดาได้เลยว่านิยายที่ผ่านการประกวดจะต้องมีปัญหาตรงนี้แน่ๆ ปัญหาที่ว่าก็คือความยาว ไม่รู้เหมือนกันว่าผีสางตนใดดลบันดาลทีมงานจัดประกวดให้ตั้งกติกาสติเฟื่องว่า “ความยาวอย่างน้อย 300 หน้ากระดาษเอสี่”

นิยายนักสืบสำคัญสุดคือโมเมนตัมครับ สังเกตว่าไม่มีอกาธาคริสตี้เล่มไหนเลยที่หนาเกิน 400 หน้ากระดาษพิมพ์ (ซึ่งก็ประมาณ 200 หน้าเอสี่) หนังสือพวกนี้จะสนุกไม่สนุกอยู่ที่การตบเท้ากันเข้ามาของข้อมูล ถ้าอ่านแล้วเยิ่นเย้อก็จบกัน ช่วงแรกของ หนี้เลือด น้ำท่วมทุ่งมากๆ มิหนำซ้ำนางเอก ซึ่งเป็นนักสืบ ยังดูโง่ๆ อีกต่างหาก เพราะต้องปล่อยให้ฆาตกรสำแดงเดชไปสามรายแล้วถึงค่อยสรุปว่านี่คือฆาตกรรม ไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย พอเข้าใจคนเขียนอยู่เหมือนกันที่ต้องยืดเรื่องให้เป็นไปตามกติกา ดังนั้นความผิดตรงนี้แบ่งรับกันไปทั้งทางผู้จัดพิมพ์ และคนเขียนแล้วกัน

อันที่จริงข้างในหนังสือเล่มนี้ก็พอมีนิยายสืบสวนสอบสวนชั้นดีซ่อนอยู่ ตั้งแต่ภาษาของคุณปราชญาที่ลื่นไหล สมกับเคยมีผลงานเรื่องยาวตีพิมพ์ หรือพอถึงครึ่งหลัง นิยายเล่มนี้ก็พอจะกลายเป็น page turner หรือ “อ่านแล้ววางไม่ลง” ได้อยู่เหมือนกัน

ติหยิบติย่อยก็เช่นในแง่ genre ของมันแล้ว นิยายเรื่องนี้เดาฆาตกรได้ค่อนข้างง่ายครับ เพราะตัวละครน้อย ถ้าตัดตัวเลือก และตามอ่านดีๆ ยังไง๊ยังไงก็น่าจะเก็ตผู้ร้ายได้ก่อนคนเขียนจะเฉลย อีกปัญหาหนึ่งคือความซ้ำซาก ถ้าให้นับฉากที่นางเอกเรียกตัวละครพิริยะมาสอบปากคำ ก็น่าจะได้เป็นโหล หนี้เลือดจัดเป็นนิยายสืบสวนซึ่งดำเนินรอยตามนิยายนัวร์แบบอเมริกัน มากกว่า who dun ‘it หรือ “ใครฆ่า” ของอังกฤษ ซึ่งตามแบบนิยายนัวร์แล้วน่าจะเน้นปมมืด และความชั่วร้ายในใจมนุษย์มากกว่านี้ ทั้งที่จริงๆ แก่นของมันก็วนเวียนอยู่กับปัญหาครอบครัว ความแตกแยก สันดานเจ้าชู้ของผู้ชาย แต่คุณปราชญาดูจะเล่าเรื่องนี้แค่พอผ่านๆ

ถ้าพูดว่านี่คือก้าวแรกของนิยายสืบสวนสอบสวนไทย ก็ถือว่าน่าจับตามองครับ คิดว่าในปีหน้าทางนานมีเองก็คงจะรัดกุมกับกติกามากกว่านี้