บทเรียนจากคนเหล็ก
หากจะมีสักวันที่เรายอมรับว่า การเมืองเหลืองแดงเป็นปรากฏการณ์ถาวรในบ้านเรา เราควรปรับตัวเช่นไรให้ทั้งสองสีกลายเป็นกลุ่มการเมืองเพื่อสาธารณะประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ถึงจะมีไฟจราจรเหลืองแดง แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะต้องติดแหง๊กไปไหนไม่ได้ ยกตัวอย่างอเมริกา อเมริกาจริงๆ แล้วก็มีสองสีเหมือนกันคือแดง (รีพับลิกัน) และน้ำเงิน (เดโมแครต) แต่ละรัฐก็มีสีประจำของตัวเอง เช่น รัฐชายฝั่งมักเป็นรัฐสีน้ำเงิน เลือกตั้งกี่ทีๆ ตัวแทนจากเดโมแครตก็คว้าพุงปลาไปกินหมด ส่วนรัฐภายในประเทศเป็นรัฐสีแดง
แคลิฟอร์เนียนั้นถือเป็นรัฐสีน้ำเงิน แต่ความพิเศษของแคลิฟอร์เนียคือแปดปีที่ผ่านมา ผู้ว่าการรัฐคือนายคนเหล็ก อาโนลด์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากรีพับลิกัน (คล้ายๆ กับที่บิล คลินตันเป็นผู้ว่ารัฐอาคันซอร์ ทั้งที่รัฐนั้นเป็นรัฐสีแดง) สาเหตุก็เพราะชาวบ้านชาวช่องเขารู้กันว่าอาโนลด์เป็นรีพับลิกันก็แค่ในนามเท่านั้น นโยบายสำคัญๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานของคนเหล็กใกล้เคียงกับเดโมแครตมากกว่า
กลุ่มสีของอเมริกานั้นไม่ได้เป็นปึกแผ่นชัดแจ้งเหมือนกับของคนไทย ชนิดที่ว่า หยิบคนใส่เสื้อแดงมาคนหนึ่งก็เดาได้เลยว่าหมอนี่อ่านประชาไท เชียร์ทักษิณ เกลียดอภิสิทธิ์ ต่อต้านอำมาตย์ ไม่นิยมเจ้า และอะไรอีกก็ว่ากันไป ซึ่งเอาจริง มนุษย์เรามันซับซ้อนกว่านั้นมาก กว่าเราจะตัดสินใจหยิบเสื้อสีไหนมาใส่ ก็ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในตัวเองเสียมากมาย ในอนาคต เราจึงอยากเสนอให้มีกลุ่มสีอื่นๆ ที่กระจัดกระจายออกไปจากกลุ่มสีหลัก เช่น “เสื้อเหลืองรักทักษิณ” “เสื้อแดงเชียร์ป๋าเปรม” “เสื้อเหลืองอยากคืนสันติภาพสู่เขาพระวิหาร” หรือ “เสื้อแดงปล่อยให้เขายึดทรัพย์มันไปเถอะ” (ฟังดูคล้ายๆ “Jew for Jesus” ไหม)
ที่ผ่านมาต้องชื่นชมกลุ่มเสื้อเหลืองกับบทบาทกรณีต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าโดยรายละเอียดขององค์กรแล้ว ที่พันธมิตรฯ ภาคตะวันออกลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้จนสำเร็จได้นี่รับแรงสนับสนุนมาจากส่วนกลางสักแค่ไหน (เพราะไม่ค่อยเห็นตัวเป้งๆ ในผู้จัดการออกมาอวดอ้างผลงานนี้เท่าไหร่ กลับเป็นประชาไทเสียอีกที่รับลูก เล่นข่าวมาบตาพุดอยู่เนืองๆ ) กรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างว่า ไม่จำเป็นที่คนเสื้อเหลืองทุกคนต้องหมกมุ่นอยู่กับการเอาคุณทักษิณกลับมาติดคุก หรือปกป้องพระเจ้าอยู่หัว อาจจะมีคนเสื้อเหลืองบางกลุ่มที่รู้สึกว่าโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งปล่อยมลพิษทำลายสภาวะแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากกว่า พวกเขาจึงอาศัยเส้นสายในกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น
เราจะได้ยินคำพูดทำนองนี้บ่อยๆ ว่า จะตัดสินกลุ่มการเมืองภาคประชาชนต้องไม่ดูที่ตัวผู้นำ แต่ต้องดูว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมาด้วยเจตนาเช่นไร มันอาจจะจริงในต่างประเทศหรือในภาคทฤษฎี แต่ที่ผ่านมาในเมืองไทย การเข้าร่วมกับสีใดสีหนึ่ง ก็คือการปิดตาข้างเดียวมองข้ามข้อเสียของผู้นำ พลังมวลชนของเราจึงถูกผลักดันไปใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ เช่น ไม่ว่าคุณจะเข้าร่วมกับสีแดงด้วยความคิดเช่นไร คุณคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชื่อและตัวตนของคุณมีส่วนช่วยให้คุณทักษิณล้างบาปในคดียึดทรัพย์ มิหนำซ้ำการเข้าร่วมกลุ่มก็คือการเสพสื่อ เสพไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจากไม่ค่อยเห็นด้วยกับบางนโยบายของผู้นำ ก็เปลี่ยนมาเห็นดีเห็นงาม เหมือนกับชนชั้นกลางมีการศึกษาในกรุงเทพแต่พอใส่เสื้อเหลืองก็มองเห็นประวัติศาสตร์เขาพระวิหารที่บิดเบือนกันหมด
ขณะนี้เรามีคำพูดยอดฮิตว่า “ไม่เล่นกีฬาสี” หมายถึงไม่ฝักใฝ่สีใดสีหนึ่ง และถึงแม้ว่าจากโพลตรวจสอบ คนไทยมีแค่สิบเปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้นที่ยอมรับว่าตัวเองมีสี ในอนาคตข้างหน้าการเมืองเหลืองแดงอาจจะยิ่งปฏิเสธได้ยากในสังคม (ผมไม่เชื่อว่าอีกเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าไม่เล่นกีฬาสีจะไม่แอบเชียร์สีไหนเลย) แม้แต่การเมืองสายหลักก็คงวนเวียนอยู่กับการเมืองภาคประชาชนด้วย นี่ไม่ใช่ความเป็นจริงที่น่ากลัวหรือน่ารังเกียจเสมอไป และการแยกย่อยสีหลักไม่ใช่การทำให้แต่ละสีนั้นอ่อนแรงลง แต่เป็นการใช้ความหลากหลายเพื่อความเข้มแข็งของทั้งกลุ่มการเมืองเองและประเทศชาติต่างหาก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
7 comments:
ขอยืมประโยคที่ Nietzsche เคยพูดไว้ได้มั้ย
(ช่วยยืนยันทีนะ ว่าใช่เขาพูดจริงๆหรือเปล่า)
"A thinking man is not a party man".
ถ้าเราเปลี่ยนเป็นไทยๆ ให้เข้ากับข้อเขียนของคุณ
"A thinking man is not a colored man"
เราจะโดนกล่าวหาว่า racist หรือเปล่า?
เห็นด้วยกับคำพูดนี้นะ แต่เช็คแล้วไม่เห็นเจอเลย ฟังดูไม่ค่อยคุ้นเคยด้วย แต่ถ้าจะเป็นนิทเช่พูดก็คงไม่แปลกใจหรอก
เราไม่เข้าใจว่า ทำไมคนที่ต่อต้านการรัฐประหารหลายคน เช่นคนที่ยอมเรียกตัวเองว่าเป็นเสื้อแดง ต้องควบไปกับการสนับสนุนทักษิณด้วย เราต่อต้านการรัฐประหารเฉยๆ โดยไม่สนับสนุนทักษิณไม่ได้เหรอ
เวลาเราเข้าไปดูพวกเสื้อแดงคุยกันทีไร ก็เห็นพูดกันอยู่นั่นแหละพูดๆๆๆๆๆๆซ้ำไปซ้ำมา อ้างว่าที่สนับสนุนทักษิณเพื่อการต่อต้านรัฐประหาร ราวกับบอกว่า ฉันทำในสิ่งที่ถูกต้องเหลือเกิน ฉันสู้เพื่อประชาธิปไตย ฟังดูก็ดีอยู่นะ แต่มันเหมือนกับบอกว่า เอาล่ะฉันจะหลับหูหลับตาล่ะนะ ว่าคนๆนี้เคยทำอะไรดีไม่ดีมาบ้าง ตราบใดที่เขาเป็นคนที่โดนรัฐประหาร
การปกป้องคนๆหนึ่ง มันก็ต้องมีขอบเขตทางเหตุผลนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนๆนั้นก็มีอีกหลายเหตุผลที่ไม่ควรปกป้อง ซึ่งถ้าเจ๋งจริง ก็ต้องพูดออกมาสิ ว่าทักษิณไม่ดียังไง ทำผิดอะไรบ้างหรือเปล่า สมควรได้รับการลงโทษยังไง พูดออกมาแบบแมนๆเลย พูดออกมาว่า ถึงแม้จะมี flaws ตรงนี้ แต่ฉันก็จะสนับสนุน เพราะแบบนี้ๆๆๆ อย่างนี้สิ น่าสนใจ
แต่นี่ ไม่มีอ่ะ นี่น่ะหรือ กลุ่มคนที่ยกตัว แสร้งว่าตัวเองเคารพกฎกติกาบ้านเมือง เพราะการที่ยอมใส่เสื้อสีแดงนั้น ก็หมายถึงการยอมรับในความเป็นแดงทุกอย่าง
นี่ไม่ได้จะบอกว่า เชียร์เสื้อเหลืองนะ เพราะเสื้อเหลืองก็มี flaws ไม่แพ้กัน
เรารู้สึกว่า คนพวกนี้หลับตาอ่ะ ทันที่ใส่สีเสื้อ ก็เหมือนปิดสวิทช์สมองไปซีกนึงแล้ว ยิ่งมาประกาศตัวเองเย้วๆ เต้นแรงเต้นกา ยิ่งดูยิ่งขำอ่ะ เสียหมดเลย แนวความคิดดีๆที่มีอยู่
อ้อ อีกอย่างนะ ยิ่งตอนนี้มีเรื่องของเขายายเที่ยงนี่ด้วย ยิ่งตลกกับเสื้อแดงที่พยายามเอาผิดให้ได้ เราน่ะสนับสนุนให้เอาผิดกับทุกคนแหละ แต่สำหรับเสื้อแดง เขาก็ควรจะสนับสนุนให้เอาผิดทักษิณด้วยนะ จะได้ทำเพื่อประชาธิปไทยโดยสมบูรณ์ เวลาประกาศตัวปาวๆว่าควรเคารพกฎหมาย จะได้สวยๆหน่อย ไม่งั้นดูไม่งามเลย
จริงๆ เห็นด้วยที่คุณโดนัทพูดทุกอย่างเลย แต่อยากเล่าให้ฟังขำๆ ว่า สาเหตุหนึ่งที่เริ่มเขียนบลอคตัวนี้เพราะไปได้ยินคนเสื้อเหลืองกลุ่มหนึ่ง พูดเรื่องกรณีเขายายเที่ยงว่า ทำไมเราถึงไม่ควรไปเอาผิดคุณสุรยุทธ หรือถ้าเราไปเอาผิดเขา บ้านเมืองพังแน่ๆ เพราะทุกคนก็ทำผิดแบบนี้เหมือนกันหมด
ตลกไหมเนี่ย เหมือนสั่งเซ็ทอาหารญี่ปุ่นที่ฟูจิ ถ้าเป็นเสื้อเหลืองก็ต้องปกป้องคุณสุรยุทธด้วยอย่างนั้นหรือ หรือถ้าเป็นเสื้อแดง ต่อต้านรัฐประหาร ก็ต้องปกป้องคุณทักษิณด้วยใช่ไหม
ผมว่าสุรยุทธ ผิดจริงแหละครับ ถ้าเสื้อแดงจะเล่นประเด็นนี้ ผมว่า โอเคนะ ทำได้ ถูกต้องตามหลักการ
เพียงแต่ ถ้าเสื้อแดงไม่อ้างตัวเองว่าสองมาตราฐาน
ก็ต้องเล่น ที่ดินสนามกอล์ฟ อัลไพน์ด้วยนะครับ
Post a Comment