หรือพวกเราจะไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย


ประมาณเดือนก่อน ผมไปกินข้าวกับรุ่นพี่คนหนึ่ง ในร้านอาหารเปิดโทรทัศน์ สัมภาษณ์อดีตนายกสมัคร (ซึ่งตอนนั้นท่านยังเป็นนายกอยู่) รุ่นพี่คนนั้นหันมาถามผมว่า "ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือ กับการที่เมืองไทยมีนายกชื่อสมัคร"

พอทราบข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงวันสองวันที่ผ่านมา ผมโทรศัพท์ไปคุยกับแม่ แม่ถามผมว่า "พวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลยหรือ"

"พวกเรา" ในที่นี้หมายถึงคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาจไม่พอใจอดีตนายกทักษิณ อดีตนายกสมัคร หรือไม่ชอบนายกสมชาย แต่ก็ไม่คิดว่าประเทศชาติจะลุกเป็นไฟ หรือจมลงผืนสมุทร หากปล่อยให้รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศต่อไปอย่างสงบอีกสักระยะ คนที่ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ไม่อยากเห็นประชาชนลุกขึ้นมาทำร้ายกัน ไม่อยากเห็นตำรวจทำร้ายประชาชน ไม่อยากเห็นประชาชนตกเป็นเครื่องมือของใคร คนที่อยากให้เรื่องเหลวไหลนี้จบลงได้แล้ว

คนอย่างพวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงเลยหรือ

วันนี้ผมจึงขอเอาคำถามของแม่ และของรุ่นพี่คนนั้น มาผนวกกันเป็นคำถามใหม่ "ในฐานะที่เราเป็นนักเขียน พวกเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือ กับการที่คนไทยลุกขึ้นมาทำร้ายซึ่งกันและกัน"

ผมไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การฟัง หรือเล่าความข้างเดียว ใครที่ติดตามบลอคนี้มาตลอด คงพอทราบจุดยืนทางการเมืองของผม วันนี้ผมจะขอพูดสิ่งที่ตัวเองไม่เคยพูดมาก่อน ผมไม่ชอบหลักการของพันธมิตร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับได้กับการปล่อยให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบ ผมไม่คิดว่าแกนนำของผู้ชุมนุมประท้วงมีความหวังดีต่อประเทศชาติ แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองหลายคนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสมควรถูกขับไล่ ผมไม่อยากให้ตำรวจทำร้ายประชาชน (ไม่ว่าจะโดยหน้าที่หรือไม่ก็ตาม) แต่ก็ไม่อยากให้พวกเราจงเกลียดจงชังกัน โดยหลงลืมไปว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็บาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย

จริงๆ ถ้าเรารับข่าวสารอย่างเปิดกว้าง เราจะรู้ว่าไม่มีฝ่ายใดหรอกครับที่ผิด หรือถูก หรือน่าเข้าข้างสุดโต่ง คนที่เชียร์เสื้อเหลือง ก็จะลืมๆ หรือทำเป็นไม่เห็นข่าวตำรวจถูกทำร้าย ข่าวที่คนเสื้อเหลืองใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ หรือก่อนหน้านั้นพกอาวุธเข้าบุกยึดสถานีโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน คนที่รังเกียจพันธมิตร ก็จะไม่อ่านข่าวผู้บาดเจ็บ ล้มตาย เพราะโดนลูกหลงจากการยิงแก๊สน้ำตาของตำรวจ ฝ่ายแรกโทษว่ามือที่สามที่ใช้ระเบิดเป็นคนของรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายหลังบอกว่าเป็นแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงนี่แหละต้องการสร้างสถานการณ์

ความเศร้าอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือ คดีที่ใหญ่ระดับนี้ จะไม่เคยมีการเปิดเผยตัวว่าใครเป็นคนทำ เราคงไม่มีวันรู้หรอกว่าใครอยู่เบื้องหลังคาร์บอมที่สังหารนักศึกษาเอแบค ไม่มีทางรู้ว่าใครโยนระเบิดเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่เหนือคำว่า "ใครเป็นผู้ผิด" แล้ว คำถามที่ควรถามในขณะนี้คือ "ใครกำลังจะเป็นผู้เสียหายรายต่อไป" ต้องให้ตำรวจตายสังเวยสักคน ประชาชนอีกสักสองสามรายใช่ไหม กว่าจะรู้สึกตัวกัน ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย

สุดท้ายขอยกย่อง มติชน หนึ่งในสำนักข่าวไม่กี่สำนักที่นำเสนอข่าวสองด้านตลอดมา

1 comment:

Anonymous said...

มาสอนหนังสืออยู่ที่ไซตามะ

วันเสาร์ที่มาถึงคำถามแรกที่อาจารย์คนญี่ปุ่นถามที่สนามบินก็คือ ปัญหาการเมืองของไทยดีขึ้นหรือยัง

วันจันทร์มาทำงานวันแรกรายงานตัวกับรองอธิการบดีเสร็จก็พากันไปกินข้าว คำถามแรกบนโต๊ะอาหารก็เป็นคำถามประเด็นเดิมอีก

เชื่อมั้ยว่าตอบเหมือนเดิมทั้งสองครั้ง

"ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วเยอะ อย่างน้อยนายกฯ คนใหม่ก็ดูจะไม่ก้าวร้าว หรือใช้ความรุนแรงเหมือนคนที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป หนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกเขาว่า โนบิตะ ผมหวังว่าเขาจะอ่อนโยนเช่นเด็กคนนั้น"

เมื่อวานโทร.กลับบ้าน แม่เล่าละล่ำละลักให้ฟังทางโทรศัพท์ เพราะทีวีกำลังรายงานวุ่นกันใหญ่ แต่พี่ๆ น้องๆ ยังไม่กลับบ้าน เหลือแม่เฝ้าบ้านอยู่กับหลานสองคน

จากที่ไม่คิดจะติดตั้งอินเตอร์เน็ตในห้องนอนที่หอพัก เลยต้องรีบวิ่งหาสายแลน หารหัสล็อคอิน เข้าไปอ่านข่าว

เศร้า... เป็นอะไรไปอีกแล้ว ประเทศไทย

เช้านี้ เข้าไปที่ห้องทำงานรวม อาจารย์คนเดิมที่ไปรับที่สนามบินถามว่า "สถานการณ์ทางเมืองไทยเป็นยังไง"

"คงยังไม่จบง่ายๆ และผมได้เรียนรู้ว่า นายกฯโนบิตะคนนั้นกลายเป็นนักการเมืองทรราชย์เต็มตัวเสียแล้ว"

ไม่รู้ว่าคลาสวันศุกร์ที่ต้องสอนเด็กปริญญาตรีของที่นี่ จะมีคำถามแบบนี้อีกหรือเปล่า

ถ้ามี ผมควรตอบและอธิบายเพิ่มเติมอย่างไรดี