คารวะอาจารย์


อาจารย์นิธิครับ ผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์ ไม่เคยเจออาจารย์ตัวเป็นๆ ได้แต่อ่านบทความของอาจารย์ตามเวปไซต์ และในหนังสือพิมพ์ วันนี้ขอคารวะอาจารย์ ด้วยการเอาบทความเศรษฐกิจพอเพียงที่ประเสริฐสุด เท่าที่คนไทยคนหนึ่งเคยเขียนขึ้นมา เอามาลงในบลอคผม โดยไม่ตัด ไม่ทอน และไม่คอมเมนต์ครับ
ประชานิยมในเศรษฐกิจพอเพียง

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 รัฐบาลทุกชุดได้ทุ่มงบประมาณลงไปให้แก่ "เศรษฐกิจพอเพียง" เสมอมา รัฐบาลชุดปัจจุบันถึงกับเปลี่ยนชื่อของโครงการพัฒนาชนบทให้เป็น "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปเลย

แน่นอนคำนี้ให้ประโยชน์ทางการเมือง นอกจากแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ทำอะไรกับเงินก้อนนี้ก็ได้ เพราะปลอดพ้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์

เคยมีการถกเถียงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์สมัยรัฐบาลหุ่นของ คมช. ว่า แนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญา อุดมการณ์ หรือเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจกันแน่

ผมไม่สู้จะเข้าใจจากการถกเถียงนักว่า เป็นอะไรแล้วจะทำให้แตกต่างอย่างไร แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ส่วนสำคัญของแนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการผลิตด้านเกษตรกรรม การผลิตอาหาร และการจัดการเศรษฐกิจระดับมหภาคให้สิ้นเปลืองน้อย (เมื่อย้อนกลับไปดูพระราชดำรัส - เช่น ไม่นำข้าวจากเชียงรายมารวมไว้ที่กรุงเทพฯ แล้วส่งย้อนกลับไปขายให้คนเชียงรายใหม่)

อย่างไรก็ตาม จะพัฒนาแนวคิดนี้ไปสู่การผลิตด้านอื่น เช่น ในภาคบริการ ภาคการเงิน หรือภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ จนถึงนาทีนี้ผมยังไม่เคยเห็นการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในภาคอื่นๆ ส่วนที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอว่า การประยุกต์ใช้ในภาคอื่นๆ หมายถึงการลงทุนอย่างรอบคอบไม่สุ่มเสี่ยง ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ความซื่อตรงจริงใจต่อคู่ค้า ฯลฯ นั้น จะว่าเป็นหลักการพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดีอยู่แล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และความจริงก็มีอยู่ในตำราด้านธุรกิจอยู่แล้ว

หากประยุกต์ใช้ในภาคอื่นไม่ได้เลย "เศรษฐกิจพอเพียง" ย่อมเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐไม่ได้ (ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไรก็ตาม) เพราะเศรษฐกิจไทย - ไม่ว่าจะมองจากแง่ของเงิน หรือของแรงงาน - ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม

ผมจำได้ว่า เคยมีพระราชดำรัสด้วยว่า ไม่ได้ทรงมุ่งหวังว่าเศรษฐกิจไทยทั้งระบบจะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียง มีเพียง 25% ของประชากรที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง เราก็จะมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจแล้ว

ก็พอจะมองเห็นได้นะครับว่า 25% ดังกล่าวคือ ประชากรในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่ในภาคเกษตรกรรมเองก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด การทำเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะคนที่ทำแล้วได้กำไร อยู่ได้ สบายดี ก็คงน่าจะทำต่อไป และแน่นอนว่าต้องเผชิญความเสี่ยงของตลาด แต่เพราะได้กำไรดีอยู่แล้ว ก็ต้องบริหารจัดการด้านการเงินของตัวให้ดี เพื่อเผชิญความเสี่ยงนั้นเอง

ในแง่นี้ "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นคำตอบของเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าไปต่อรองกับตลาดได้อย่างมีพลัง แต่ถูกบังคับหรือล่อหลอกให้เข้าไปผลิตป้อนตลาด จึงประสบความขาดทุนตลอดมา "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้คำตอบว่า ลดการพึ่งพาตลาดลง มีหลักประกันด้านอาหารให้แก่ตนเองและครอบครัว เอาทรัพยากรและเวลาส่วนที่เหลือไปผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนในตลาด แต่แลกเปลี่ยนโดยมีอำนาจต่อรอง เพราะอย่างน้อยก็ไม่อดตายแน่ ซ้ำยังเพิ่มอำนาจต่อรองนั้นได้อีกมาก หากวางแผนการผลิตให้ดี เช่น เลือกผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการในระยะยาวได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งผลิตมันสำปะหลังหรืออ้อยไว้ยาไส้เป็นปีๆ ไป

คำตอบให้แก่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเช่นนี้ มีผู้เสนอและทำสำเร็จให้เห็นมานานแล้ว เราคงนึกถึงท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม, พ่อคำผาย สร้อยสระกลาง, พ่อคำเดื่อง ภาษี, ฯลฯ และคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย แต่ละคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และพึ่งตลาดน้อยลง หากแต่ละคนย่อมมีเทคนิควิธีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยซึ่งไม่เหมือนกัน

"เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นคำตอบแก่เกษตรกรรายย่อย แน่นอนว่านัยยะของแนวคิดนี้ย่อมกว้างกว่านั้นในบางเรื่อง เช่น ส่วนหนึ่งเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม (อันเป็นสิ่งที่ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านั้นได้พูดถึงเหมือนกัน) อันที่จริงหากพิจารณาแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้านซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องเช่นนี้มาก่อน ยังมีนัยยะที่กว้างกว่านั้นเสียอีก เช่น การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองของท่านให้ยั่งยืนไปถึงลูกหลานได้ ย่อมหมายรวมถึงการจัดระบบการศึกษาที่แตกต่างจากที่จัดกันอยู่ หมายรวมถึงการสร้างความรู้ใหม่บางด้าน หมายรวมถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากระบบความสัมพันธ์ของทุนนิยม ฯลฯ

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ระหว่างพระราชดำรัสกับแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้าน อย่างไหนมาก่อนกัน อย่างไหนกว้างกว่ากัน แต่ทั้งสองอย่างเกื้อหนุนกันและกัน พระราชดำรัสให้พลังแก่แนวคิดนี้อย่างสำคัญ เป็นพลังที่ทำให้สังคมควรคิดถึงกลุ่มคนซึ่งถูกละเลยในกระบวนการพัฒนาของประเทศมานาน นั่นก็คือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากกลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดได้อย่างดี ก็จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งส่วนหนึ่งให้แก่เศรษฐกิจไทย ให้สามารถเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดีขึ้น

ตรงกันข้าม การไปขยายแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้กลายเป็นอุดมการณ์ของชาติ โดยไม่จับประเด็นสำคัญคือการสร้างอำนาจต่อรองในตลาด กลับทำให้พลังของแนวคิดนี้ในการปกป้องเกษตรกรรายย่อยอ่อนลง เพราะแทนที่จะไปทำให้เกิดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นไปได้ สำหรับการทำ "เศรษฐกิจพอเพียง" กลับไปทุ่มโฆษณานโยบายเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อสถาบันของรัฐบาล

ยกตัวอย่างเงื่อนไขที่เห็นๆ กันอยู่สักเรื่องหนึ่งก็ได้ การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองหรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในเงื่อนไขที่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นยังอุดมสมบูรณ์ แต่รัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกษตรกรไร้ที่ทำกินยังมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน (หรืออาจจะมากกว่านั้น หากนับรวมเกษตรกรที่สูญเสียที่ดินจนต้องเปลี่ยนอาชีพไปแล้วด้วย) การปล่อยให้ภาคการผลิตอื่นทำลายคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ, อากาศ, ป่า หรือทรัพยากรชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นประจำวัน โดยรัฐไม่สามารถจัดการแก้ไขอะไรได้เลย (หรือตั้งใจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ด้วยซ้ำ)

จะมีประโยชน์อะไรที่ลงเงินเป็นพันล้านเพื่อส่งเสริม "เศรษฐกิจพอเพียง" โดยไม่พยายามอนุรักษ์เงื่อนไขพื้นฐานของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไว้

และหากจับประเด็นสำคัญของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้ คือการเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด จะทำให้ภาคบริการ การเงิน และอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยก็ได้ นั่นคือการทำให้ภาคการผลิตเหล่านี้มีอำนาจต่อรองในตลาดโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงจัง การกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อทำให้ตลาดภายในเข้มแข็งพอจะรองรับการผลิตได้ในสัดส่วนสูงขึ้น การชักนำและกดดันให้ผู้ผลิตลดต้นทุนที่เป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

"เศรษฐกิจพอเพียง" ต้องการรัฐนะครับ ไม่ใช่การกลับไปสู่เศรษฐกิจสมัยอยุธยา รัฐมีอะไรที่ต้องทำอีกมากเพื่อทำให้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เกิดขึ้นและเป็นไปได้ หลายอย่างที่ทำก็อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของทุนซึ่งครอบงำ ทั้งพรรคการเมืองและคณะรัฐประหารอยู่ ข้อโจมตี "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งดูจะมีน้ำหนักมากที่สุดก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" คือการปล่อยให้คนเล็กๆ ต่อสู้เอาชีวิตรอดไปเอง โดยรัฐไม่ต้องแบ่งทรัพยากรไปช่วยใช่หรือไม่?

ข้อโจมตีนี้มีน้ำหนักก็เพราะว่า รัฐบาลทุกชุดที่ยกย่องเชิดชู "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่ายกย่องเชิดชู และปล่อยชะตากรรมของเกษตรกรรายย่อยไปตามยถากรรม ประหนึ่งว่ารัฐไม่สามารถมีบทบาทหน้าที่อะไรใน "เศรษฐกิจพอเพียง" มากไปกว่า การย้ำโฆษณา

ในระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเข้าไปช่วยก่อตั้งพรรค ทรท. คุยกับผมถึงแนวทางการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ สรุปก็คือไปเสริมพลังการผลิตของภาคประชาชน ทั้งเพื่อทำให้ฐานะเศรษฐกิจของคนระดับล่างดีขึ้น และเพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าสู่ประเทศแทนธุรกิจระดับใหญ่ ซึ่งขณะนั้นง่อยเปลี้ยเสียขาไปมาก และนั่นคือที่มาของนโยบาย ทรท.หลายอย่าง เช่น โอท็อป การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การผ่อนปรนภาระหนี้สิน ฯลฯ

นโยบายที่เรียกว่า "ประชานิยม" เหล่านี้ของ ทรท. เป็นตรงกันข้ามกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" นั่นคือแทนที่จะถอยออกมาจากตลาด กลับมุ่งเข้าสู่ตลาดโดยตรง เพียงแต่มุ่งเข้าไปโดยมีรัฐคอยหนุนช่วย (ส่วนจะช่วยจริงหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาพากันนิยมรัฐแบบ ทรท.ตรงกันข้าม รัฐแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง" หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา คือรัฐที่พร่ำบอกเพียงว่า "อย่าไปเลย ตลาดมันหลอก จะบอกให้" แต่รัฐกลับไม่มีบทบาทอย่างไรในการเกื้อกูลให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ แก่คนจำนวนมากในเมืองไทย (เช่น แรงงานซึ่งต้องทำงานสองกะ จะพอเพียงได้ก็เพียงแค่เลิกเหล้า เลิกยา ประหยัด รัฐช่วยอะไรเขาไม่ได้สักอย่าง)

นโยบายประชานิยมทำใน "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้หรือไม่? ผมคิดว่าได้ แต่ทำยาก เพราะชนชั้นนำไทยนั้นได้ผลประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดโดยไม่พร้อมของคนไทยระดับล่างอยู่มาก ซ้ำผูกพันผลประโยชน์กันเป็นเครือข่ายที่ใหญ่โตและซับซ้อน (แค่สมุนไพรยังกลายเป็นสารอันตราย - แก่กระเป๋าของพ่อค้ายาฆ่าแมลง - ได้) ประชานิยมในเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องการความเด็ดเดี่ยวเชิงนโยบาย ไปพร้อมกับความสุขุมคัมภีรภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ

มิฉะนั้นแล้ว ประชานิยมก็เหลือแค่การแจกเงิน

No comments: