ตะกวด กับคบผุ (นิคม รายยวา)


ตะกวด กับคบผุของคุณนิคม เปิดฉากมาด้วยศพลึกลับ ตอนแรกก็สงสัยว่านิยายเล่มนี้จะเข้าทำนองโรแมนซ์ชนบท คือชาวบ้านดีแสนดี ส่วนคนร้ายก็เป็นผู้มีอิทธิพลจากกรุงเทพ ที่เลี้ยงเจ้าหน้าที่ไว้ในฝ่ามือ อ่านจบบทที่สอง ที่สาม ถึงเพิ่งตระหนักว่านิยายเล่มนี้ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดายังไง ผ่านไปร้อยยี่สิบหน้าแรก นักแสดงนำสองคนในเรื่องยังแทบไม่ได้เปิดตัวต่อหน้าคนอ่านเป็นจริงเป็นจังเลย ช่วงแรกของตะกวด กับคบผุคือตัวละครร้อยแปดนามผ่านเข้าออกหน้าหนังสือ มีแต่บทสนทนาฉุบฉับ พอจับเรื่องคร่าวๆ ได้ว่าหมอนี่โกรธกับคนนี้ ยายนี่มีลูกเป็นโจรอยู่ในคุก ไอ้นี้กำลังหนีตำรวจ ส่วนตานี่ไม่มีข้าวกิน ลักษณะเรื่องที่เต็มไปด้วยบทพูดจ่ายกันไปจ่ายกันมา แต่ปราศจากตัวละครแบบนี้เหมือนงานภาพยนต์ของโรเบิร์ต อัลแมนผู้กำกับชั้นครู

ลักษณะการเล่าเรื่องเช่นนี้แทบไม่เคยพบเห็นในงานเขียนมาก่อน ทั้งในนิยายไทย และฝรั่ง แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่าตะกวด กับคบผุไม่ใช่หนังสือธรรมดา

ผ่านไปสักร้อยกว่าๆ เกือบสองร้อยหน้า เราถึงได้รู้จักสมคิด และประวิง นักแสดงนำสองคนในเรื่อง ประวิงเป็นลูกมหาเศรษฐีทำสวนปาล์มหลายร้อยไร่ เผชิญปัญหาร้อยแปดประการทั้งเรื่องการปกครองลูกน้อง และพวกโจร อิทธิพลข่มขู่ สมคิดเป็นชาวนาสวนยางเล็กๆ ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกินเหล้า ถกปัญหาความโสมมในโลก สมคิดมีทฤษฎีหัวชนฝาว่าความเลวร้านนั้นมาจากตะกวด (หรือ "เหี้ย" นั่นเอง) เมื่อคนกินตะกวดลงไป ก็เลยรับเอาความเลวร้ายนั้นเข้ามา สมคิดเป็นชาวบ้านคนเดียวที่ไม่ยอมกินเนื้อตะกวด กระนั้นตั้งแต่ต้นเรื่อง เขาออกตามล่าตะกวดมาตลอด คงเพราะรังเกียจ ต้องการกำจัดความเลวร้าย แต่ไม่อยากรับเอาสิ่งนั้นเข้ามาอยู่ในตัว (ความคิดชายหนุ่มถูกสื่อผ่านผลงานจิตรกรชาวกรุง ผู้ชอบวาดรูปคนตัวใสๆ ข้างในท้องมีตะกวด)

กระนั้นตะกวด กับคบผุก็ไม่ใช่นิยายชีวิตบัดซบ ประเภทตัวละครต้องมานั่งรับผลกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อตั้งแต่ต้นยันท้ายเรื่อง แล้วสุดท้ายก็ปล่อยให้ผู้ร้ายสุขเกษมมีชัยไป ในทางตรงกันข้าม จะพูดว่านี่คือนิยายแห่งความดีงามก็คงไม่ผิดนัก เป็นความดีงามที่แฝง และปะปนอยู่กับความชั่วช้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ออก ดังสรุปได้ในฉากซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง เป็นฉากอะไร เก็บไว้อ่านกันเอาเองดีกว่า

อีกฉากที่ชวนให้พูดถึงเป็นพิเศษคือตอนที่มีคนเข้าไปทำลายสวนปาล์มของประวิง และชายหนุ่มต้องการพิสูจน์ความจริงกับสนอง ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงาน และผู้ต้องสงสัย (หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น) ไม่อยากเล่าเต็มๆ แต่ใบ้ให้แล้วกันว่าเป็นฉากเลียนแบบไคลแมกนิทานเรื่องวิลเลียม เทลส์ เป็นฉากผู้ช๊าย ผู้ชายที่ถ้าเขียนออกมาไม่ดี จะน่าหมั่นไส้ และดูไร้สาระมากๆ แต่คุณนิคมก็สามารถเขียนฉากลูกผู้ชายแบบนี้ออกมาได้อย่างงดงาม เคล็ดลับประการหนึ่งคงอยู่ที่ความแห้งของเนื้องาน ตั้งแต่ต้นเรื่องประวิงก็ไม่ใช่ตัวเอกประเภทพูดพล่าม ศีลธรรมจัด หรือออกตัวว่าเป็นคนดีหนักหนา บางครั้งก็ทำอะไรไร้สติ และเผลอรับเอา "ความเหี้ย" เข้ามาอยู่ในตัวได้ คนเราจะดี จะเลว บางครั้งอยู่ที่โอกาส สถานการณ์ และโชคช่วย

หมายเหตุ 1: เสียเวลาแทบแย่กว่าจะหารูปน้องตะกวดน่ารักๆ มาประดับบลอคเราได้

หมายเหตุ 2: ในหนังสือเล่มนี้มีฉากที่ "คนในป่า" บุกเข้ามายิงถล่มสถานีตำรวจ จนแม่ชราซึ่งมาเฝ้าลูกชายในคุก ถูกคานไม้ทับขาหักด้วย

1 comment:

Riverdale said...

เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มที่ซื้อเอาไว้นานมาก (เกินสิบปีแล้วมั้ง) แต่ไม่ได้หยิบมาอ่านซะที จำได้ว่าซื้อมาเพราะอ่าน ตลิ่งสูง ซุงหนัก แล้วประทับใจสุดๆ ตอนนี้คงต้องไปขุดมันมาอ่านซะหน่อยแล้ว แต่ไม่รู้ไปเก็บไว้ตรงไหนสิเนี่ย