ทุนเก่า ทุนใหม่ กลางเก่า กลางใหม่


ตั้งแต่ปะทะกันช่วงต้นเดือนตุลา เหมือนสองสามอาทิตย์นี้ กรุงเทพยังสงบอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ก็ไม่รู้จะเป็นความสงบก่อนพายุร้าย ดังที่โหรทำนายไว้หรือเปล่า แม้จะแค่ชั่วคราว แต่ความสงบก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะความสงบ มักนำมาซึ่งปัญญา อาทิตย์ที่แล้ว ได้อ่านบทความซึ่งเขียนจากมุมมองของ "ปัญญา" ไม่ใช่จากมุมมองของ "อารมณ์" ดังเช่นบทความใส่ร้ายป้ายสีกัน

บทความที่มาจากมุมมองของปัญญาได้แก่ ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ ของอาจารย์เกษียร บทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ และการปรับระบบการเมืองของอาจารย์นิธิ อยากให้ไปอ่านเองทั้งสามลิงค์ครับ เพราะฟังผมตีความ ก็ต้องฟังหูไว้หูกันบ้าง ที่อยากหยิบมาเล่าให้ฟัง และชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญซึ่งแตกต่างกันระหว่างสามบทความนี้ เพราะมันอาจช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างจะแจ้งขึ้น

เริ่มจากบทสัมภาษณ์ก่อน อาจารย์สุลักษณ์มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือละครหุ่นซึ่งถูกเชิดโดยผู้มีอำนาจสองฝ่าย คือ "กลุ่มทุนเก่า" และ "กลุ่มทุนใหม่" กลุ่มทุนเก่านี้ พูดแบบไม่กลัวเกรงใคร ก็ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มศักดินาที่พันธมิตรชอบเอาไปใช้แอบอ้างนั่นแหละ ซึ่งคำว่า "กลุ่ม" (แน่นอนคือไม่ใช่คนคนเดียว ดังนั้นอาจจะมีใครบางคนในกลุ่มที่ไม่ได้เห็นด้วยกับพันธมิตร ก็ยังไม่ถือว่าการตีความของอาจารย์สุลักษณ์ผิดเพี้ยนไปนะครับ) ส่วนกลุ่มทุนใหม่มีสัญลักษณ์คืออดีตนายกทักษิณ โดยไม่จำเป็นว่าคุณทักษิณต้องเป็นผู้นำกลุ่ม หรือมีอำนาจสูงสุดในกลุ่มเสมอไป คนเหล่านี้ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจ และเพื่อการนี้ จึงจัดฉาก จัดละคร ดึงประชาชนมาเป็นหุ่น เป็นนักแสดง เป็นวีรบุรุษ วีรสตรี หรือผู้ร้ายอะไรก็ว่ากัน

ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน มีหลายส่วนคล้ายคลึงกับบทสัมภาษณ์ โดยอาจารย์เกษียรมองว่าความขัดแย้งนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาชน และเป็นความตั้งใจของประชาชนเอง โดยไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นหุ่นชัก หุ่นเชิดของใคร ประชาชนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย และอีกกลุ่มอยู่ข้างสถาบันสูงสุด ถ้ามองว่าตอนนี้เสียงส่วนใหญ่ อันเป็นหลักถาวรของประชาธิปไตยอยู่ในมือกลุ่มทุนใหม่ จะตีว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนกลุ่มทุนใหม่ และทุนเก่าเหมือนกับในบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ก็ย่อมได้

แต่ต้องระวังนิดหนึ่งคือ กลุ่มขั้วตรงข้ามกับพันธมิตร ไม่ได้จำเป็นว่าต้องสนับสนุนทุนใหม่ หรือคุณทักษิณเสมอไป บางคนโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบพรรคพลังประชาชนอย่างออกนอกหน้าด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก พวกเขาเลยจำยอมต้องยืนอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มทุนใหม่ไปโดยปริยาย (เช่นอาจารย์ใจ ที่ท่านบอกว่าไม่ได้เลือกพลังประชาชน แต่เมื่อพรรคชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องทำตามกติกา)

การปรับระบบการเมือง ของอาจารย์นิธินั้น ถือเป็นสุดขั้วอีกทางหนึ่งเลยกับบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์นิธิไม่ได้พูดถึงทุนใหม่ ทุนเก่าด้วยซ้ำ แต่มองว่านี่คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางในเมืองหลวง (ผมขอเรียกสั้นๆ แล้วกันว่า "กลุ่มกลางใหม่" และ "กลุ่มกลางเก่า") กล่าวคือเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มกลางใหม่มีจำนวนมากขึ้น อำนาจอธิปไตยเลยถูกโยกย้ายจากกลุ่มกลางเก่า เข้าไปหากลุ่มกลางใหม่ พันธมิตรก็คือกระบอกเสียงของกลุ่มกลางเก่าที่ต้องการเอาอำนาจบางส่วนโดยเฉพาะ "การถอดถอน" รัฐบาลกลับคืนมา (เหมือนดังที่เราได้ยินมาตลอดว่า คนต่างจังหวัดมีหน้าที่เลือกผู้นำ ส่วนคนกรุงเทพมีหน้าที่ขับไล่ผู้นำ)

ขออนุญาตยกกรอบปรัชญาทางประวัติศาสตร์มาสรุปความแตกต่างระหว่างราษฎรอาวุโสทั้งสามท่าน บทสัมภาษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์คือการติความประวัติศาสตร์แบบคลาสสิค ใช้ "ชนชั้นนำ" (ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐี หรือนายทุนก็มีศักยภาพเป็นชนชั้นนำพอๆ กับเจ้า) มาอธิบายปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ ส่วนของอาจารย์นิธิ เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบจิตร ภูมิศักดิ์ (หรือแบบมาร์ก) โดยอิงปรากฎการณ์บนโครงสร้างทางสังคม ส่วนของอาจารย์เกษียรเหมือนเป็นการประนีประนอมระหว่างสองขั้วที่แตกต่างกันนี้

ไม่มีใครผิด หรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าดูจากความพรักพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ของกลุ่มพันธมิตร แน่นอนว่าต้องมีผู้ออกทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจับต้องได้กว่าผู้บริจาคเงินทีละแสนสองแสน (เคยมีคนประมาณว่าพันธมิตรเป็นม็อบที่สิ้นเปลืองที่สุดม๊อบหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก) เช่นเดียวกับที่กลุ่มเสื้อแดงสามารถขอใช้พื้นที่สนามกีฬาเมืองทองได้ เราไม่อาจมองข้ามตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย หรือเพราะเขาเป็นกลุ่มกลางใหม่ ที่อิงผลประโยชน์กับกลุ่มทุนใหม่นี้ คนที่ใส่เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเดินขบวนอยู่บนท้องถนน คงมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอก ถูกเชิดด้วยละครน้ำเน่า สมดังที่อาจารย์สุลักษณ์เอ่ย แต่ก็คงมีอยู่มากที่มองเห็นอนาคตของตนแขวนอยู่บนความขัดแย้งคราวนี้

การที่เราตระนักถึงความซับซ้อนตรงนี้ จะเกิดประโยชน์โภคผลใดๆ กับตัวเรา หรือประเทศชาติหรือเปล่า อาจจะไม่เลยก็ได้ครับ และผมก็เชื่อด้วยว่า ถ้าจะตีแตกมิติปัญหา ยังสามารถมองได้จากหลายมุมยิ่งกว่านี้อีก แต่อย่างน้อย ให้ตระหนักว่าคำตอบของความขัดแย้งนี้ ไปไกลกว่า "ความจงรักภักดี" หรือ "กำจัดขี้ข้าทักษิณ" แค่นี้ก็เป็นคุณอย่างเหลือเฟือแล้ว

No comments: