โต้ "สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร"


แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับใจความหลักของสังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร แต่คำถามว่าคนไทยจะไปไหนต่อภายหลังวิกฤติการเมืองนี้ ก็วนเวียนอยู่ในหัวเรามาตลอด จึงอยากขออนุญาตนำบทความของคุณศรีพงศ์มาย้อนแย้ง และต่อยอด พูดถึงสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ หรือบทเรียนอะไรที่เราได้รับในช่วงสามสี่ปีให้หลัง

คุณศรีพงศ์พูดถึงคุณูปการของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งก็คือการสร้างกระแส "การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนประชาชนที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำของผู้ใช้อำนาจรัฐ" ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ระดับรากหญ้าอื่นๆ เช่น "การลุกขึ้นทวงถามต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรดานักการเมืองของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ " โดยสรุปก็คือพันธมิตรทำให้ "ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจ...ได้อีกต่อไป"

คุณศรีึพงศ์คงตระหนักถึงข้อโต้แย้ง จึงเสริมไว้ด้วยว่า "หลายคนอาจบอกว่าการเรียกร้องเหล่านี้ก็มีมานานแล้ว ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดหลังจากมีขบวนการพันธมิตร แต่หากย้อนไปทบทวนการเคลื่อนไหวทั้งทางปริมาณและคุณภาพแล้วจะพบว่ามีหลายสิ่งเปลี่ยนไป" ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็เป็นเหตุและผลหลักที่เราอยากนำมาพูดถึงในบทความนี้ แน่นอนว่าอะไรคือ "ความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ และคุณภาพ" คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักสถิติ นักสังคมศาสตร์ ไปวิเคราะห์ข้อมูลกันต่อว่าประเทศไทยก่อนและหลังปี 2550 มีการต่อสู้ของประชาชนมากขึ้น หรือน้อยลงเพียงใด เราไม่ทราบคำตอบ และเนื่องจากคุณศรีพงศ์ไม่ได้หยิบยกหลักฐานมาประกอบด้วย เราจึงขอสมมติแล้วกันว่าคุณศรีพงศ์เองก็คงไม่ทราบคำตอบแน่ชัด

ตรงข้ามกับคุณศรีพงศ์ เรากลับมองว่าการลุกฮือของประชาชนคู่กับประชาธิปไตยไทยมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว ด้วยนิสัยของคนไทยเป็นขบถเงียบ ไม่ยอมรับผู้ที่อยู่เหนือกว่า และพึงใจนิดๆ เมื่อได้ทำอะไรนอกกฎหมาย ประกอบกับการถูกปลูกฝังว่า "นักการเมือง และผู้มีอำนาจ (ในระบอบ) เลวทุกคน" เมื่อเราไม่พอใจรัฐบาล ก็จะออกมาประท้วงกัน (ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกลาง เหมือนวลีอมตะที่ว่า "ชาวชนบทเลือกรัฐบาล ชาวเมืองขับไล่รัฐบาล") ในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง ซึ่งภาคภูมิใจในยอดโดมโคมประทีปของความเป็นประชาธิปไตย เมื่อนักศึกษาไม่พอใจร้านค้าในโรงอาหาร สิ่งที่พวกเขาทำคือ "ลุกขึ้นมาประท้วง" (แทนที่จะปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ของมัน)

เราจึงอยากสรุปว่าพันธมิตรไม่ใช่ต้นกำเนิดของการขับไล่ผู้มีอำนาจ แต่เป็นพยาธิสภาพของความเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยคืออะไรในสังคมไทย (ด้วยเหตุนี้ขบวนการพันธมิตรจึงเป็นศูนย์รวมพยาธิสภาพของโรคอื่นๆ เช่นการใช้วาจาหยาบคายสร้างความจงเกลียดจงชัง พฤติกรรมแฉเรื่องส่วนตัว หรือการเล่นไสยศาสตร์งมงาย)

ถ้าพันธมิตรจะมีคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตยไทย น่าจะมาจากการตั้งคำถามมากกว่าว่า "อะไรคือการเมืองภาคประชาชน" นับแต่อดีตการเมืองภาคประชาชนถูกยกย่องให้เป็นยาวิเศษที่แก้ไขได้ทุกปัญหา แต่การเมืองภาคประชาชนคืออะไร กระทั่งใน การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ของอาจารย์เสกสรรค์ ก็เหมือนอาจารย์จะไม่ได้เจาะลึกว่าส่วนประกอบของยาวิเศษนี้มีอะไรบ้าง นอกจากใช้เหตุผลครอบจักรวาลว่า เนื่องจากประชาธิปไตยในระบอบไม่สามารถตอบสนองทุกกลุ่มชน และรับประกันความขาวสะอาดของผู้นำได้ การเมืองภาคประชาชนจึงบังเกิดขึ้นมา

น่าสนใจว่าปกหนังสือ การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นรูปฝูงชนรวมตัวกันบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าปกนี้จะเป็นความตั้งใจของอาจารย์เสกสรรค์เองหรือไม่ แต่คล้ายทางสำนักพิมพ์สื่อกลายๆ ว่าการเมืองภาคประชาชนก็คือการชุมนุมประท้วงนี่เอง

ผู้ที่นิยามการเมืองภาคประชาชนได้อย่างชัดเจนสุดคืออาจารย์สุลักษณ์ ในบทสัมภาษณ์ อาจารย์พูดถึงการเมืองภาคประชาชนว่าต้องมาจากรากหญ้า อาจารย์มองว่าความผิดพลาดของขบวนการพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็คือการละทิ้งรากหญ้า ซึ่งเป็นความผิดพลาดเดียวกันกับของคุณทักษิณ เราขออนุญาตต่อคำอาจารย์จากตรงนี้ไปว่า การเมืองภาคประชาชนต้องมาจากรากหญ้า และควรอยู่แค่ในระดับรากหญ้าเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจพอๆ กับความสำเร็จของพันธมิตร (ในแง่การดึงดูดผู้คน ตั้งแต่ชนชั้นกลาง ถึงชาวชนบทบางภาค) คือความล้มเหลวเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 7 จนถึงสูตรการเมืองใหม่ ประการเดียวที่คนพวกนี้ทำเป็นคือต่อต้านสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แต่ไม่อาจกำหนดนโยบาย หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาทนแทนได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะขาด "กลุ่มมันสมอง" (เนื่องจากจากแกนนำระรานนักวิชาการไปทั่ว ถ้าไม่เห็นด้วยกับตน ก็จะลุกขึ้นมาประกาศกร้าว แฉนู่นแฉนี่) แต่ที่สำคัญกว่าคือด้วยความเป็นการเมืองภาคประชาชน (หรือเราอยากเรียกมันว่า "สุ้มเสียงของคนกลุ่มน้อย") คงไม่ยุติธรรม ถ้าจะให้คนกลุ่มนี้มากำหนดชะตาชีวิตของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ

พันธมิตรมีคุณูปการ เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ และศึกษาได้จากตัวอย่างที่ไม่ดีพอๆ กับตัวอย่างที่ดี การเมืองภาคประชาชน และองกรณ์อิสระต้องอยู่คู่กับสังคมไทย และในอนาคตข้างหน้า ถ้าจะมีใครลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างขบวนการพันธมิตรอีก ก็หวังว่าคงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในวันนี้

No comments: