ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน (สุนัย จุลพงศธร)
เด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจ ทั้งชีวิตไม่เคยพานพบอุปสรรค ย่อมไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ฉันใดฉันนั้นทฤษฎีหรือวาทกรรมใดที่มีแต่คนอวยตลอด ไม่เคยหรือไม่อาจถูกนำมาโต้แย้งได้ ก็ย่อมไม่สามารถพัฒนาไปเป็นทฤษฎีที่สมบูรณ์หรือใช้ได้จริง ยิ่งกว่านั้น เด็กที่เสียคนเมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ส่วนทฤษฎีที่เสียทฤษฎี วันเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อหรือ ร้ายยิ่งกว่านั้น เครื่องมือทางการเมือง
ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน พูดกันอย่างไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา คือหนังสือที่มีแนวคิดต่างกันอย่างสุดขั้วกับ การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ ซึ่งได้พูดถึงไปแล้ว ชนิดที่ถ้าคนขายเอาไปวางไว้บนชั้นเดียวกัน เผลอๆ จะสันดาบวายวอดกันทั้งร้าน
ความเหมือนในความต่างของหนังสือสองเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลในของ “เหตุการณ์” ทั้งคู่ ดังนั้นจะอ่านก็ต้องระมัดระวังเอาสิบเอาล้านหาร แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นส่วนบุคคลให้ออก ซึ่งส่วนนี้เองดูจะเป็นข้อด้อยของ ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน ภายใต้การนำเสนอและวิเคราะห์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มันก็ยังมีตัวตนของผู้เขียนปนเปื้อนเข้ามาด้วย รวมถึงการวิเคราะห์เชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งแม้เราจะเห็นด้วยกับอาจารย์สุนัยก็ตาม แต่เสียดายที่วาทกรรมเหล่านี้มาแปดเปื้อนความเป็นวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ของหนังสือ
ความคิดศูนย์กลางของอาจารย์สุนัยในการวิพากษ์เศรษฐกิจชุมชนคือ เศรษฐกิจชุมชนในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนเศรษฐกิจชุมชนเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อน กล่าวคือตั้งแต่ประเทศไทยถูกบังคับให้รับเอาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้ สังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมก็ได้แปรผันไป (จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือ อาจารย์สุนัยไม่ได้พยายามแม้แต่น้อยที่จะปกปิดความชั่วร้ายของระบบทุนนิยม ในทางตรงกันข้าม แกกลับวิเคราะห์ ตีแผ่มันอย่างหมดเปลือกว่าทุนนิยมได้ทำฉิบหายและเปลี่ยนแปลงอะไร มากน้อยแค่ไหนในบ้านเรา) จนในปัจจุบัน เมื่อเอาเศรษฐกิจชุมชนมาปรับใช้ จึงมาในแนวดิ่ง คืออิงอยู่บนเงินช่วยเหลือของภาครัฐ แต่เมื่อภาครัฐ ยังไงเสีย ก็ไม่อาจพ้นระบบทุนนิยมโลก จึงเกิดอาการพิพักพิพ่วนแบบ “หนึ่งรัฐสองระบบ” ขึ้นมา
ตัวอย่างเรื่องโรงสีซึ่งทรงพลังอย่างมากที่อาจารย์สุนัยยกมาคือ โรงสีขนาดเล็กตามแบบเศรษฐกิจชุมชนนั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงกว่าโรงสีขนาดใหญ่ (นี่คือเรื่องสามัญสำนึกทั่วไป ผลิตอะไรมากๆ ก็ย่อมเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อย ว่ากันตามตรง แนวคิดทุนนิยมมันก็เกิดมาจากการแลเล็งเห็นช่องว่างและความได้เปรียบดังกล่าว) ดังนั้นโรงสีชุมชนจึงกลายเป็นตัวดูดเงินทุนของรัฐบาล เพราะต้องคอยเอาเงินมาโปะตัวเลขแดงในบัญชี ตรงนี้เลยเกิดปฏิทรรศน์ (paradox) ขึ้นมา กล่าวคือไปๆ มาๆ ค่าใช้จ่ายแบบพอเพียงอาจจะสูงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในระบบทุนนิยมก่อได้ (แต่ก็อย่าลืมว่าสำหรับกรณีโรงสี ค่าใช้จ่ายในระบบทุนนิยมก็ต้องบวกเอาค่าขนถ่าย ค่าน้ำมัน และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายด้วย)
ทีนี้ปัญหาที่ควรจะเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ก็เลยกลายไปเป็นปัญหาทางอุดมคติขึ้นมาว่า ฝ่ายหนึ่งถาม “จ่ายแพงกว่าทำไม” อีกฝ่ายโต้ “ฉันจ่ายแพงกว่าได้ ในเมื่อฉันไม่คิดจะเอากำไรขาดทุนมาประเมินตัวเองตั้งแต่แรก” เราในฐานะคนกลาง คงไม่มาเข้าข้างนั่งเถียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรอก แต่อยากยกตัวอย่างจาก Development as Freedom ของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลว่า ต่อให้เรายึดหลัก “อิสรภาพ” มีคุณค่าเหนือเงินตรา สุดท้ายก็ต้องสร้างมาตรวัดทางปริมาณมาชั่งน้ำหนักไอ้สิ่งที่เรียกว่า “อิสรภาพ” อยู่ดี ดังนั้นเราไม่อาจปฏิเสธ หรือหลีกหนีการตัดสินปัญหานี้ด้วยตัวเลขได้
ส่วนที่เราไม่เห็นด้วยกับอาจารย์สุนัยนั้น คือเราอยากตั้งคำถามว่าเหตุใดอาจารย์สุนัยถึงต้องแยกเศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นน้ำและน้ำมัน เป็นขั้วตรงข้ามกันขนาดนี้ “หนึ่งรัฐสองระบบ” ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เจ้าพ่อเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างจีน (เฮะ เฮะ เฮะ) เขาก็เป็นกัน ในบางโอกาส บางสถานที่ เศรษฐกิจชุมชนนั้นมีข้อดีอยู่มากมาย และน่าจะพยายามค้นหาวิธีให้สองระบบทำงานผสานกัน มากกว่ามองอย่าง “ไม่ใช่พวกเรา ก็เป็นศัตรู” เช่นนี้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment