แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม (r.o.d.)


แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม ทำให้เรานึกถึงเรื่องสั้นหนึ่งที่โปรดมากๆ ของคุณกนกพงศ์ จำไม่ได้แล้วว่าชื่อเรื่องอะไร รู้แต่ว่าอยู่ใน ราหูอมจันทร์ เล่มแรก ว่าด้วยตัวละครนักเขียนที่เบื่อหน่ายกับการเขียนเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบเดิมๆ พูดถึงความยากลำบากแบบเดิมๆ ของชาวนาชาวไร่ที่ไม่รู้ว่าพูดกันมากี่ร้อยพันเที่ยวแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องจำยอมเล่าเรื่องความทุกข์ของชาวสวนตาล นี่คือตัวอย่างเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่นอกจากจะพยายามตอบโจทย์คลาสสิคของเพื่อชีวิต (นั่นคือการสะท้อนภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของคนต่างจังหวัด) ยังตระหนักดีถึงความล่าหลังของ genre ตัวเอง ที่นับวันจะกลายเป็นโบราณวัตถุเข้าไปทุกขณะ จุดที่ดีมากของเรื่องสั้นนี้คือเมื่อเอาสองประเด็นมารวมกัน มันบังเกิดประเด็นที่สาม สี่ขึ้นมาว่า นักเขียนก็พูดพร่ำกันแต่เรื่องเดิมๆ มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายพื้นที่ทางวรรณกรรมของคนยากคนจนดูจะกลายเป็นของตกยุคสมัยขึ้นทุกวันๆ (เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของคุณจำลองก็มีลูกเล่นคล้ายๆ กันนี้)

ถึงจะบอกว่า แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม เตือนให้เรานึกถึงเรื่องนั้น แต่ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่านี่คือจุดประสงค์ของผู้เขียน บางทีนี่อาจจะเกิดจากการอ่านไม่แตกของเราเอง ปัญหาหลักของ แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม คือพออ่านจบ เราก็อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองว่า “เออ เรื่องของแม่ใหญ่มันไม่น่าเล่าจริงๆ ด้วยแฮะ” ความแตกต่างระหว่าง แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม กับเรื่องสั้นของคุณกนกพงศ์หรือ เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า อยู่ตรงที่เรื่องน่าเบื่อหน่าย เรื่องที่เหมาะจะเป็นเรื่องจริง (แต่ไม่เหมาะจะเป็นเรื่องแต่ง) นั้น พอผู้เขียนเล่าออกมา กลับจับใจและกระชากคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด ในขณะที่เรื่องของแม่ใหญ่ ก็เป็นดังเช่นที่ “ผม” เตือนเอาไว้จริงๆ คือไม่ได้มีสีสันหรือความน่าสนใจขนาดนั้น เราเห็นต่างจากคุณอนุสรณ์ตรงปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็น “direct approach” เสียทีเดียว ถ้าพูดถึงฝีมือคนเขียนแล้ว ดูจากเรื่องสั้นนี้และเรื่องอื่นๆ ต่อให้เป็น "direct approach" ก็น่าจะใส่อารมณ์ เล่าเรื่องของแม่ใหญ่ให้น่าตื่นเต้นหรือน่าติดตามได้ไม่ยาก แต่เหมือนคนเขียนจงใจเล่าผ่านๆ อย่างไรไม่ทราบ

อย่างที่บอก เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าอะไรคือจุดประสงค์ของเรื่องสั้นนี้ เราคิดว่ามันมีศักยภาพที่จะเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนสังคมชนบทแล้ว ยังจิกกัดวงการน้ำหมึกไปด้วย (ชอบมากตอน “ผม” หยิบยกเอาคำบาลีขึ้นมา ดูมันช่างเลอะเทอะและห่างไกลจากความเป็นจริงนัก) มีอีกจุดหนึ่งที่อยากแนะนำผู้เขียนคือ เท่าที่อ่านดู “ผม” เหมือนจะเป็นลูกชายคนเดียวที่มีการศึกษาสูงกว่าใครเขาในบ้าน ตรงนี้น่าสนใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว

2 comments:

Unknown said...

best replica bags online 2018 replica hermes z5q60t5o56 replica bags online pakistan replica bags forum fake gucci o1w18o7d79 replica bags in gaffar market check this d4y82o1w91 replica ysl handbags joy replica bags review z7k41u9i93

Unknown said...

g8x57q1f83 k0j92e1e42 p1a22v1r48 a7g30s0j25 f6z66m4v74 z6e70k7i16