หมายเหตุ: บทวิจารณ์ต่อไปนี้เป็นของคุณนฆ ปักษนาวินครับ ใครที่อ่านหนังสือเล่มไหน สนใจอยากให้รักชวนหัวเอามาแปะไว้ที่บลอคนี้ ก็ติดต่อมาได้เลยครับ
ตอนที่นิยายเรื่องนี้ออกใหม่ๆ นับว่าหายากมากในภูเก็ต แล้วในที่สุดผมก็เจอที่ร้านหนังสือที่เมืองบางกอกโน่นเชียว อ่านบทแรกในโรงแรม อ่านบทที่สองบนรถไฟ แล้วก็ค้างเอาไว้ เมื่อรถไฟไปถึงเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็วุ่นวายจนกลับมาภูเก็ตแล้วจึงได้อ่านต่อ แล้วผมก็อ่านต่อจนรวดเดียวจบ ความสนุกตื่นเต้น(ในแบบของผม)เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อมาถึงหน้าสุดท้ายก็พบว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เอาหัวใจผมไปแล้ว
โครงเรื่องคร่าวๆ - เด็กชายคนหนึ่งถูกแม่กับพ่อบุญธรรมนำไปที่วัด พวกเขาคิดว่าเหตุที่เด็กชายมีนิสัยผิดแปลก เพราะถูกผีเข้า เพื่อฝากให้พระช่วยดูแลปัดเป่าเหตุร้ายทั้งมวลออกไปจากตัวเด็กชาย หลังจากนั้นเรื่องเล่าทั้งหลายจะเกิดขึ้นผ่านถ้อยคำบอกเล่าของเด็กชาย (และมีการป้องปากพูดคุยกับคนอ่านเป็นระยะๆ)
เรื่องเล่าของเด็กชายย้อนไปยังอดีตรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ เรื่อยมาจนคนรุ่นเขาเกิดขึ้น มาถึงปี2535 (ปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น) เด็กชายเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นพอดี
นวนิยายแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นห้าภาค จากภาคแรก กำเนิดจากเรื่องเล่า/ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง/ในป่าหิมพานต์/ฌาปนกิจความจริง/เถ้าอังคารของความลวง
ต้องบอกด้วยว่าในภาคแรกๆ กำเนิดจากเรื่องเล่า-ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง ผมอาจจะค่อนข้างมีปัญหากับการเล่าเรื่องนิดนึง ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ แต่ว่าไม่ชินมากกว่า ในภาคแรกๆ จะมีการใช้ภาษาที่ดูค่อนข้างห่างไกลจากตัวเรื่องเล่าในภาคต่อๆมาไปนิดนึง มีการใช้ภาษาแบบเรียงความอยู่เป็นระยะๆ
แต่พอพ้นจากนี้ไปแล้ว ในภาคที่สาม นวนิยายเรื่องนี้ก็ดึงดูดผมให้ติดกับดักของเรื่องเล่าได้อย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งและใจสลาย ยิ่งตอนท้ายๆ ผู้เขียนให้เค้าลางกับเงื่อนงำ (ต้องใช้คำนี้ครับ คือ ทั้งมีเงื่อนงำที่อาจเป็นกูญแจ พาผู้อ่านคาดเดาไปยังจุดจบ กับทั้งให้เค้าลาง ของความอับอายและความเสื่อมของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของตัวละครเด็กชายเป็นอย่างดี)
การที่ผู้เขียนใช้วงเล็บเพื่อป้องปากพูดคุยกับคนดูเป็นระยะๆ ทำให้เราค่อนข้างผูกพันกับตัวละครคนนี้มากเป็นพิเศษ (แหงหละ บวกกับในเมื่อเขาเป็นเจ้าของเรื่องเล่านี่นา)
เสน่ห์ของเรื่องนี้อาจจะอยู่ตรงนี้ครับ คือในเมื่อเด็กชายทำให้เรารู้สึกร่วมเอาใจไปกับเขาแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำให้เราพึงใจมากหรอกครับ เขากลับไปเล่าเรื่องพี่ชายของเขาจนเรารู้สึกอินและบางครั้งก็นอกใจไปเชียร์พี่ชายที่ชื่อแก่งคอยของเขา แต่พอสุดท้ายแล้วเด็กชายก็ทำเรื่องบางอย่างจนเรารู้สึกจงชังจงแค้นการกระทำของเขาเสียเหลือเกิน แล้วเรื่องเล่าก็พลิกไปจนความลึกซึ้งใจสลายเกิดขึ้นในตัวเราอีกระลอก หลังจากจุดพลิกผันอ่อนแรงลงไปแล้ว (หลังจากนี้เล่าไม่ได้แล้วครับ มันจะสปอยด์ ใครอ่านจบแล้วก็คงรู้นะครับว่ามันเป็นยังไง เราถูกเรื่องเล่าโบยตี แล้วเราก็อยากให้มันโบยตีอีกครั้งเพราะมันยังไม่สาแกใจ (เหมือนนางเอกเรื่องจำเลยรักเลยครับ 55) แล้วเรื่องเล่าก็ให้เราได้อีกครั้ง
ความดีอีกอย่างก็คือ การใช้ความเปรียบของเขาครับ เห็นได้ชัดในภาคสามภาคสี่ที่เรื่องเล่าไม่ได้ "เล่าความจริง"แบบภาคหนึ่งภาคสองแล้ว แต่การใช้ความเปรียบของเรื่องเล่าในภาคนี้ ได้ "สร้างความจริง" ขึ้นมา ตัวภาษาของผู้เขียนในภาคนี้นั้น ไม่ได้ใช้เพื่อรองรับการเล่า"ความจริง" แต่ได้ใช้เพื่อการสร้างความจริงขึ้นมาใหม่ ตรงนี้แหละครับ ผู้เขียนเหมือนเป็นพระเจ้าที่คอยบงการให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นและสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอธิบายได้ด้วยภาษาของพระเจ้าเท่านั้น ผมอาจจะยกตัวอย่างหน่อยนะครับ
การละเล่นประหลาดเปิดเผยตัวมันอย่างหมดเปลือกแล้ว ภูตผีสองตนในป่าร้างชื้นเย็น อุบัติเหตุหนึ่งของการหายใจออกเพียงเฮือกเดียวกำเนิดขึ้น ....
...ผมเหมือนเดินทางอยู่ในป่าหิมพานต์ ลอบมองเทพารักษ์สององค์อาศัยจังหวะลับตาคนออกมาร่ายรำ สิ่งที่เห็นไม่ใช่กิจของมนุษย์ควรกระทำ เป็นเรื่องของภูตผีหรือไม่ก็เทวดา เพราะพวกนั้นไม่มีเพศ
แล้วก็มีอีกหลายตอนนะครับ ที่ผู้เขียนดึงความรู้สึกตะลึงพรึงเพริดของผู้อ่านออกมาได้ ด้วยการใช้ความเปรียบแบบ "พระเจ้าแห่งความเปรียบ" แบบนี้ เขียนได้ยังไงพี่ (ผมอยากกราบที่ตักซักทีจริงๆ)
สิ่งที่อาจทำให้เห็นชัดว่าผู้เขียนมีอำนาจเหนือต่อเรื่องเล่าของเขาเพียงใด (หรือพูดใหม่ว่า เรื่องเล่าของเขาไม่สยบยอมต่อความจริงได้อย่างไร) สังเกตให้จาก การใช้ภาษาพูดของตัวละคร แม่(พิทย์) สังเกตดูเถอะครับ ว่ามีบางตอนผู้เขียนให้แม่พูดภาษาอีสาน กับบางตอนที่แม่เปลี่ยนมาพูดภาษากลาง (ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก) สำหรับบางคนอาจคิดว่านี่ไม่สมจริง แต่ตรงนี้แหละครับ ที่ชี้ว่า อำนาจในการเข้าถึงความจริง ไม่ใช่อยู่ที่การเข้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามเนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่่ตัวผู้เขียนต่างหาก และความสมจริงในโลกของภาษาและเรื่องเล่าในเรื่องนี้กำเนิดขึ้นมาจากจุดนี้ครับ
นวนิยายหนาเกือบห้าร้อยหน้า ผมคงอธิบายความดีของมันได้ไม่ละเอียดถี่ถ้วน นอกจากชี้ชวนให้คุณๆหามาอ่านกันนะครับ
ถ้าให้สรุปสั้นๆก็อย่างที่บอกครับ
นวนิยายเรื่องนี้ได้เอาหัวใจของผมไปแล้ว
1 comment:
my companyanchor great post to readfind out here weblinkvisit our website
Post a Comment