รักทรยศ...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ

ไปดูละคร รักทรยศ (...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ) ที่ Democrazy Theatre มา รักทรยศ ดัดแปลงมาจากบทละครของนักเขียนรางวัลโนเบล ฮาโรล พินเตอร์ เรื่อง Betrayal ภายใต้โครงการณ์ Demo Classic ซึ่งดัดแปลงบทละครคลาสสิคของนักเขียนต่างชาติมาเป็นภาษาไทย

รักทรยศ เปิดเรื่องด้วยการพบกันระหว่าง ยุทธ และ มล ในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ผู้ชมรับรู้ว่าสองคนนี้เคยเป็นคู่รักกันมายาวนานถึงเจ็ดปี ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็มีครอบครัวแล้ว และสามีของมลเองก็คือ ณต เพื่อนรักของยุทธ ปัจจุบันทั้งคู่เลิกติดต่อกันมาสองปี ในตอนจบของฉากแรก ยุทธทราบว่า เมื่อคืนมลสารภาพเรื่องราวระหว่างทั้งคู่ให้ณตฟัง ด้วยความตกใจ ยุทธโทรศัพท์เรียกเพื่อนรักมาเคลียร์ และได้รู้ความจริงที่น่าตื่นตระหนกเข้าไปใหญ่คือ ไม่ใช่แค่เมื่อวาน แต่ณตทราบเรื่องนี้ตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว! (สองปีก่อนยุทธและมลจะเลิกกันเสียอีก) ในอีกเจ็ดฉากที่ตามมา คือเหตุการณ์ย้อนหลัง กลับไปวันที่ยุทธเลิกกับมล วันที่ณตรู้ความจริง กลับไปกระทั่งถึงวันแรกที่ยุทธและมลเริ่มเป็นชู้กัน

พูดถึงข้อดีก่อนแล้วกัน สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดในการชมละครเวทีเมืองไทย คือ space ของกลุ่มละครที่ผุดขึ้นมาตรงนู้น ตรงนี้ เป็นโชคดีในโชคร้าย คณะละครไทยไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ไม่มีที่ทาง หรือโรงละครเป็นของตัวเอง ก็ได้แต่มาอาศัยเล่นตามหลืบตามซอก Democrazy Theatre นั้น ไม่ถึงกับเป็นหลืบเป็นซอก แต่ถ้าดูจากปากซอยสะพานคู่ จะไม่มีทางเดาได้เลยว่า ข้างในตึกแถวนี้มีโรงละครอยู่

และก็เป็นโรงละครชั้นดีเสียด้วย! น่าตบมือให้ทีมงาน Democrazy (ซึ่งจริงๆ แล้วคงเปลี่ยนทุกโปรดักชั่น แต่ก็ยังอยากตบมือให้อยู่ดี) ตั้งแต่เด็กยกฉาก จนถึงคนออกแบบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ ดูละครเวทีที่นี่มาสี่เรื่อง และทุกเรื่อง ทีมงานแสดงให้เห็นถึงการจัดสรรพื้นที่อย่างมีรสนิยมและทรงประสิทธิภาพ หากทั้งสามเรื่องที่ดูมาก่อนหน้านี้ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ รักทรยศ ละครมีทั้งหมดเก้าฉาก ต้องเปลี่ยนเซตติ้งใหม่ทุกฉาก และทีมงานก็ทำออกมาได้อย่างสวยงามและเป็นธรรมชาติ

ในส่วนการแปรบทละครและถ่ายทอด ยังมีความลักลั่นอยู่บ้าง การเอารายละเอียดไทยๆ เช่น ชื่อตัวละครหรือสถานที่ มาปนกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ("มันยอดเยี่ยมไปเลย!") และวัฒนธรรม (ผู้ชายไทยอายุสามสิบกว่าๆ ที่ไหนเขานัดตีเทนนิสกันบ้าง) แต่เมื่อดูโดยรวมแล้วก็อินไปกับละครพอสมควร จนอภัยให้ได้

นักแสดงทั้งสาม (รวมถึงผู้ดัดแปลงบท) ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในฉากที่ conflict เปิดเผยโต้งๆ เช่น เมื่อยุทธและมลบอกเลิกกัน หรือตอนที่ณตรู้ความจริงว่าภรรยาตัวเองเป็นชู้กับเพื่อนสนิท แต่ยังก้ำกึ่งอยู่สำหรับฉากที่ conflict แฝงอยู่อย่างคลื่นใต้น้ำ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเข้าใจว่าฉากเหล่านั้น เป็นกุญแจสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ในฉากสี่ซึ่งเป็นครั้งแรก (และแทบจะเป็นครั้งเดียว) ที่เราได้เห็นตัวละครทั้งสามอยู่บนเวทีพร้อมกัน ณตรู้ความจริงแล้ว และมลก็รู้แล้วว่าณตรู้ แต่ทั้งคู่ก็ยังช่วยกันปิดบังทุกอย่างต่อหน้ายุทธ เพราะอะไร ทำไมณตถึงได้ใจกว้างขนาดนั้น และทำไมมลซึ่งรู้ความจริงแล้ว ถึงไม่ยอมบอกยุทธ เพราะต่างทนเพื่อลูกๆ (ของทั้งสองครอบครัว)? เพราะณตและยุทธเป็นเพื่อนรักกัน? เพราะณตเองก็มีบ้านเล็ก? เพราะณตรู้ว่าชีวิตแต่งงานระหว่างเขาและมลไม่มีทางราบรื่น? เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ? จุดที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของละคร กลับ lost in translation ไปอย่างน่าเสียดาย

เหมือนผู้กำกับตีความว่า สาเหตุมาจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองเพื่อนสนิท คือยุทธและณต ณตจึงไม่อยากทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย รักทรยศ สื่อเป็นนัยๆ ด้วยซ้ำ ว่านี่คือความรักที่เกินเพื่อน เราลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เนตดู ไม่มีนักวิจารณ์กล่าวถึง Betrayal ในแง่นี้ ประกอบกับการที่มันมาจากชีวิตจริงของพินเตอร์ ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีประเด็นเพศที่สามแฝงอยู่ในบทละคร

กระนั้นเราก็ไม่ได้มีปัญหากับการตีความ แต่น่าจะสื่อออกมาได้ละมุนและชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะฉากเจ็ด ที่ณตและยุทธเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก หลังจากณตรู้ความจริง เขาลังเลว่าจะเปิดเผยเรื่องมลต่อหน้ายุทธดีหรือไม่ แต่จนแล้วจนรอด ก็เฉไปพูดเรื่องงานการ เรื่องหนังสือแทน จุดอ่อนของ รักทรยศ คือไม่สามารถสื่อถึงชีวิตการงานของสองหนุ่มได้เลย เราพอรู้คร่าวๆ ว่า ทั้งคู่น่าจะเป็นบรรณาธิการ และคงมีปัญหากับอุดมการณ์ทางวรรณกรรม ในฉบับดั้งเดิมมีการกล่าวถึงกวี Yeat แต่ในละคร กลับใช้กวีสมมติ "ป. ร่มแก้ว" แทน ซึ่งยิ่งลดความนุ่มลึกลงไปใหญ่ การก่นด่าวรรณกรรมสมัยใหม่ของณตน่าจะสื่อถึงความในใจบางอย่าง แต่ผู้ชมจับความหมายของสัญญะตัวนี้ไม่ได้เลย

ส่วนตัว เราตีความว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สองสามีภรรยาปิดบังเรื่องราว ก็ด้วยทั้งคู่รู้ว่ากำลังติดอยู่ในชีวิตสมรสที่ไม่มีทางออก อย่างน้อยปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างหาความสุขตามยถากรรมก็ยังดีกว่า ฉากที่เราว่าทรงพลังที่สุดคือก่อนจบครึ่งแรก ยุทธเดินออกจากเวที ณตที่นั่งอยู่บนโซฟากระเถิบตัวลงไปนอนกอดและหนุนตักมลอย่างเหนื่อยล้าพร้อมกับไฟเวทีค่อยๆ ดับลง บางทีอาจเป็นความลับที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกันปกปิด ที่ยืดชีวิตสมรสของทั้งคู่ออกไป

ในส่วนของการเล่าย้อนหลัง (Reverse Chronology) ตอน Betrayal ออกมาใหม่ๆ ดูเหมือนจะได้รับคำชื่นชมมากมาย แต่เราก็ยังมองไม่เห็นว่าในเชิงโครงสร้าง มันตอบโจทย์อะไรนัก (คล้ายๆ กับที่เราไม่เก็ตภาพยนตร์ 5x2 ของโอซอง) ในเมื่อพีคของละครอยู่ที่ฉากห้าถึงเจ็ด อีกสองฉากที่เหลือเลยกลายเป็นแอนไทร์ไคลแมกไปเสียมากกว่า

Demo Classic ยังเหลือละครอีกสองเรื่องคือ A Thread in the Dark ของเฮลลา เฮสเสอะ (เดือนกันยา) และ The Misunderstanding ของกามูส์ (เดือนตุลา) ไม่น่าพลาดทั้งสองเรื่อง