ที่ที่เรายืนอยู่ (อังคาร จันทาทิพย์)


เอารูปวาดของวิลเลียม เบลคมาใช้ เพราะภาษากวีของคุณอังคารช่างชวนให้นึกถึงกวีอังกฤษโคตรคลาสสิคคนนี้ (สงสัยมากว่าตั้งใจหรือบังเอิญ ในบท อารยะไม่ขัดขืน มีการกล่าวถึงโปรมิธุส ซึ่งวิธีผสานเทพนิยายในกลอนลักษณะนี้แหละคือจุดเด่นของเบลค)

กลอนแบบนี้เรียกว่า prophetic poems แปลไทยมั่วๆ คือ "โคลงกลอนพยากรณ์" แต่ละบทใน ที่ที่เรายืนอยู่ มีน้ำเสียงโฉ่งฉ่าง อึกทึก พูดถึงสวรรค์ นรก เวลา ความตาย นามธรรมประดามีทั้งหลาย ตบเท้าเข้ามาอย่างไม่บรรยะบรรยัง ยกตัวอย่างเช่น จาก ชายขอบ "เหลื่อมลึกและกว้างคว้างอยู่ / รู้กับดัก ลักลั่น / เนียบแนบร้อนหนาว มาราวนิรันดร์ / เหลือกัปเหลือกัลป์ - เยี่ยมกราย" โอ้ว...อะไรจะขนาดนั้น

เราอ่าน ที่ที่เรายืนอยู่ ด้วยความรู้สึกชื่นชม มากกว่าชื่นชอบ ทุกครั้งที่อ่าน prophetic poems ไม่ว่าจะของนักเขียนไทย หรือเทศ รู้สึกเหมือนถูกกระชากคอเสื้อ แล้วตบหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยอิมเมจหนักๆ สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามา ถ้าให้เทียบกับดนตรี ก็คงเป็นร็อคบีตหนักๆ (ขณะที่ โลกในดวงตาข้าพเจ้า เหมือนเพลงลูกทุ่ง ส่วน หมู่บ้านในแสงจันทร์ เหมือนดนตรีคลาสสิค) เนื้อหาเข้าใจยากเพราะนามธรรมเหลือเกิน และบางครั้งเข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจสื่ออารมณ์ มากกว่าความคิด อย่าง ผีเสื้อขยับปีที่กรือแซะฯ ก็ไม่ได้มีสารอะไรเพิ่มเติมไปกว่า คนฆ่ากันตายเป็นเรื่องน่าเศร้า (ไปๆ มาๆ กลอนที่เราชอบที่สุดในเล่มคือ หน้าร้านคาราโอเกะ ซึ่งได้อารมณ์เรียบๆ ส่วนตัวมากกว่าบทอื่น)

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามองงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ genre ต้องยอมรับว่าคุณอังคารมือถึง อารมณ์กลอนฉวัดเฉวียนถึงอกถึงใจ เสียดายว่าถ้ามีภาพประกอบซึ่งแรงส่งเสิรมกัน รวมบทกวีชุดนี้คงสมบูรณ์แบบขึ้น (เบลคนอกจากจะเป็นกวีแล้ว เขายังวาดภาพประกอบให้หนังสือตัวเอง) สำหรับคนชอบฟังโมสาร์ต นานๆ ทีหยิบบองโจวีมาเปิดเล่นก็เข้าทีมิหยอก