ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า...มีไหม? (หลายคนเขียน)


เพิ่งบ่นเรื่อง ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ มาหยกๆ พอได้อ่าน ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า…มีไหม? ถึงค่อยรู้สึกว่า “นี่ มันต้องอย่างนี้” ขนาดภาพประกอบ และปกในเล่มนี้ยังลงตัวกว่าเลย

ส่วนเนื้อใน ผลประโยชน์ยกให้คุณแดนอรัญ กับเรื่องสั้น แมวผี่ ที่ดึงคนอ่านได้อยู่หมัด แม้จะใช้ภาษาเหน่อสุ่พรรณ เล่าความทรงจำหนังกลางแปลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “แมวผี่” มาเกือบยี่สิบหน้า ตอนท้ายค่อยตัดมาเป็นเรื่องน่ากลัว ถือเป็นความสร้างสรรค์ใน genre ที่เฝือสุด (รองลงมาคือเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์) ส่วน ทำไมต้องมาลงที่หล่อน ก็เป็นเรื่องสั้นชีวิตคนเมืองน่าสนใจตามแบบคุณจำลอง

ผลงานหน้าใหม่ที่น่าจับตามองคือ เซ็กส์ในสวยเซ็น ของนก ปักษนาวิน เหนือชั้นตรงผู้เขียนจับอารมณ์หวิวๆ ลอยตัวแบบไฮคุแล้วนำมาใช้กับเรื่องสั้นได้ อีกเรื่องคือ เทพบุตรคืนลวง ของปั้นคำ ซึ่งเราสนใจนักเขียนคนนี้มาตั้งแต่อ่านรวมเรื่องสั้น บางหลืบสมรภูมิ ปั้นคำไม่ได้มีตัวหนังสือที่แข็งกร้าวแต่กลับสามารถบอกเล่าเรื่องราวอันเฉือดเชือน

มีเรื่องสั้นประเภท “ความล้มเหลวที่ยังน่าติดตาม” เช่น ลิงลพบุรี เหมือนคนเขียนแบ่งย่อหน้า ใช้ภาษาไทยแผลงๆ ยังไงไม่ทราบ ซึ่งกลายเป็นน่าสนใจเพราะอ่านจบแล้วอยากอ่านเรื่องสั้นอื่นๆ ของคุณปานศักดิ์ เพื่อจะได้รู้กันไปเลยว่านี่จงใจ หรือผิดพลาด พระพุทธเจ้า…มีไหม? อ่อนยอบแยบแป้งเปียก แต่ก็มีหลายอย่างคล้าย ขอบคุณแรมโบ้ ใน วันปลดปล่อยผีเสื้อ บางทีถ้าได้อ่านผลงานคุณชิด ชยากรเยอะๆ อาจจับสไตล์แกออก แล้วเริ่มชอบมันขึ้น ที่นี่มีบุหรี่จำหน่าย โดยนักเขียนหน้าใหม่เอี่ยมถอดด้าน ถือว่ายังต้องเดินเส้นทางนี้อีกไกล แต่ก็เป็นก้าวแรกที่น่าจับตามอง น่าคิดด้วยว่ากองบรรณาธิการพบเห็นศักยภาพอันใดในตัวนักเขียนท่านนี้

เล่มนี้มีเรื่องสั้นวิถีชนบทเยอะ เรื่องหนึ่งดี แต่อีกสองเรื่องอ่อน และยาวเกินเหตุ รู้สึกเสียดาย แกมแปลกใจว่าแนวนี้คนไทยเขียนกันมาเกือบๆ จะห้าสิบ หกสิบปีแล้ว ทำไมถึงยังย่ำอยู่กับที่ นักเขียนที่อยากเขียนแนวนี้จริงๆ ลองกลับไปอ่านผลงานอาจารย์มนัส แล้วถามตัวเองก่อนดีไหมว่า “มีอะไรนำเสนอมากไปกว่านี้หรือเปล่า” ถ้าไม่มีหาให้เจอก่อน แล้วค่อยเริ่มลงมือเขียนดีไหม