7 เล่มซีไรต์ 2551 ในใจเรา
ประกาศออกมาแล้วกับ 9 เล่มซีไรต์ ปีนี้ต้องถือว่าพลิกโผมากๆ เพราะที่เดาๆ ไว้ ซื้อมาอ่านล่วงหน้า ผิดหมดเลย จาก 9 เล่ม มีตั้ง 4 แน่ะ ที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน ก็ต้องนับถือในความใจกว้างของกรรมการชุดนี้ครับ ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ และไม่ได้ยึดติดกับชื่อเสียงนักเขียน ที่เลือกซีไรต์ในใจเรา ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับ 9 เล่มนี้นะ แต่ขออนุญาตพูดถึงซีไรต์ 7 เล่มในดวงใจเราสำหรับปี 2551 แล้วกัน
1. เคหวัตถุ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)
ขอพูดถึงเล่มที่ความคิดเห็นตรงกับกรรมการก่อนก็แล้วกัน เป็นแฟนพี่ต้นมาตั้งแต่ H2O แล้ว จนถึง ลอนดอน กับความรักในรอบจูบ สมควรอย่างยิ่งที่พี่จะได้ก้าวขึ้นเป็นนักเขียนซีรอง (หรือซีไรต์) กับเขาเสียที โดยส่วนตัวถ้าเทียบกับผลงานชิ้นก่อนๆ รู้สึกว่า เคหวัตถุ ออกอาการเผาเล็กน้อย หลายเรื่องเหมือนจงใจใส่เข้ามาให้เต็มเล่ม แต่พี่ต้นฝีมือเที่ยงขนาดว่างานเผาๆ ยังออกมาหอมกรุ่นชวนชิม สมเป็นนักเขียนยอดกุ๊กจริงๆ
2. เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า (จำลอง ฝั่งชลจิตร)
คงไม่ใช่การประกวดวรรณกรรมไทย ถ้าไม่มีหนังสือเพื่อชีวิตสักเล่ม ผลงานของคุณจำลองช่วยฝ่าทางตันให้กับแวดวงเพื่อชีวิต ที่นับวันจะยิ่งตกสมัยไปทุกที ชอบชื่อเล่มนี้มาก และคิดว่ามันใช้อธิบายผลงานได้ดี นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ผู้เขียนตอกย้ำกับคนอ่านตลอดเวลาว่า "เฮ้ย นี่เรื่องจริงนะ ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นในสังคมจริงๆ " คิดว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่สุดท้าย เรื่องที่เราชอบสุดในเล่มกลับคือ เป็นไข้ตัวร้อน ซึ่งในความไม่จริงของมัน สะท้อนปัญหาสังคม และความพยายามแก้ไขออกมาได้จริงกว่าเรื่องอื่นๆ
3. แสงแรกของจักรวาล (นิวัต พุทธประสาท)
ความน่าชื่นชมของคุณนิวัตอยู่ตรงการจับกระแสแห่งกาลสมัย อ่านเรื่องสั้นในเล่มนี้แล้วนึกถึงเมื่อสิบปีก่อน สมัยค่าเงินบาทตก คนไทยเพิ่งรู้จักมุราคามิ นิตยสาร aday ถือกำเนิด เรื่องเพศถูกเปิดเผยมากขึ้น นักดูหนังกระแสหลักได้รู้จักหวังเจียเว่ย ค่ายเบเกอรีกำลังโด่งดังสุดขีด หนุ่มสาวชนชั้นกลางหัดฟังเพลงนอก และอยากเป็นอาร์ติสกันหมดทั้วบ้านทั้วเมือง มีนักเขียนหลายคนไหลไปกับกระแสตรงนี้เช่นคุณทินกร คุณอุทิศ ซึ่งแต่ละคนก็โดดเด่นในหนทางของตัวเอง สำหรับคุณนิวัต เรายกย่องแกในรายละเอียด ว่าเข้าใจห้วงเวลาเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และถ่ายทอดมันออกมาได้ทุกแง่มุม
4. ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ (เงาจันทร์)
ถ้าพูดถึงทั้งเล่ม บอกตรงๆ ว่ายังไม่ค่อยโดนนัก เหมือนผู้เขียนจงใจใช้ความงดงามของภาษา และการพรรณนา ทดแทนด้านอื่น กระนั้นถ้าให้พูดถึง ดอกหางนกยูง ยอมรับว่านี่คือหนึ่งในเรื่องสั้นไทยที่ดีสุดที่เราเคยอ่าน อาจชอบมากกว่า บ้านเรานี้อยู่ซอยเดียวกัน ของคุณวาณิชด้วยซ้ำ (แปลกที่เรื่องนั้นก็ใช้โมทีฟดอกนางนกยูง บังเอิญหรือเปล่า) เป็นโลลิต้าฉบับไทย ที่อ่านจบแล้วอินไปกับตัวละคร รู้สึกเหมือนโดนใครฉีกอก แหวกดวงใจไปจริงๆ เรื่องผิดศีลธรรม แต่ก็เป็นการมองมนุษย์ด้วยสายตาอันอ่อนโยน แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ยอมแล้วที่จะให้ทั้งเล่มติดซีไรต์ในใจเรา
5. ที่อื่น (กิตติพล สารัคคานนท์)
ชอบเล่มนี้มากๆ ถ้าได้เข้าชิงนะ จะถวายหัวเชียร์เลย เคยเขียนถึงไปแล้วในบลอค หาอ่านได้จากในสารบัญครับ คร่าวๆ คือเป็นรวมเรื่องสั้นไทยที่สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความตาย ประเด็นนี้ก็ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึงนัก เท่าที่ได้ยินพรายกระซิบมา แม้เล่มนี้จะไม่ได้ชิงจริงๆ แต่ก็เป็นที่สนอกสนใจของกรรมการพอสมควร อยากให้กำลังใจคุณกิตติพล เขียนหนังสือต่อไปด้วย
6. สัมพันธภาพ หรือ ทุกข์หฤหรรษ์ (เดือนวาด พิมวนา)
คุณเดือนวาดเป็นตัวอย่างนักเขียนที่ยิ่งเขียนหนังสือก็ยิ่งเก่ง มองกลับไปแล้วเสียดายมากๆ เธอไม่ควรได้ซีไรต์จาก ช่างสำราญ เลย เป็นผลงานที่เรารู้สึกแค่ว่าสอบผ่านเท่านั้น ไม่รู้ว่าที่กรรมการไม่ให้คุณเดือนวาดได้ชิง เพราะอยากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือเพราะเป็นปัญหาที่ตัวผลงานจริงๆ ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลไหนเราก็เข้าใจได้ ทั้ง สัมพันธภาพ และ ทุกข์หฤหรรษ์ มีเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ปนอยู่กับเรื่องสั้นที่เราว่าไม่ไหว (ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานยุคแรก) เชื่อว่าคุณเดือนวาดยังมีผลงานมาสเตอร์พีชรออยู่ตรงหน้า
7. คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)
ถึงจะชิงมาแล้วหลายเล่ม ถึงคนอื่นจะว่าเชย หรือฝีมือเหมือนไม่พัฒนา ถึงจะเขียนแต่เรื่องแนวเดิม เราก็ยังชอบพี่ประชาคม และคิดว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ด้อยกว่าชินเก่าๆ มิหนำซ้ำ แกยังอุตส่าห์หาประเด็นใหม่ๆ มาเล่นได้อีก เคยเขียนถึงไปแล้วเช่นกัน เป็นอีกผลงานรวมเรื่องสั้นที่ชอบมากๆ ในรอบสามปีนี้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment