คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เล่ม ๑ (สายชล สัตยานุรักษ์)


เราถูก "ข่มขืนทางความคิด" ครั้งแรกตอนมัธยมหก เมื่อได้อ่าน ไผ่แดง นั่งอ่านในร้านดอกหญ้านี่แหละ ตอนแรกก็คิดว่าแค่บทสองบท แล้วค่อยซื้อกลับไปต่อที่บ้าน ไปๆ มาๆ รวดเดียวถึงปกหลัง เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ติดขนาดอ่านจบในร้านได้ ไผ่แดง ส่งอิทธิพลรุนแรงชนิดว่าคงไม่มีคำไหนอีกแล้วเหมาะสมไปกว่า "ข่มขืน" เราเห็นโลกต่างไป จากดำขาว อยู่ดีๆ เหมือนอาจารย์คึกฤทธิ์เข้าไปเปิดทีวีสีในหัว อะไรที่เคย "ถูก" กลับกลายเป็น "จริงหรือ" และอะไรที่เคย "ผิด" เปลี่ยนเป็น "เข้าใจอยู่"

ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าไม่ได้ถูก "ข่มขืนทางความคิด" ปัจจุบันชีวิตเราจะสะดวกสบายกว่าไหม คงสามารถเข้าไปรวมกลุ่มกับฝูงชน ทำอะไรแบบที่ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างไม่ติดขัด ไม่ต้องทะเลาะกับพ่อ กับแม่ กับเพื่อนด้วยเรื่อง "การเมือง" โอ้! ใช่แล้ว "การเมือง" นี่เองซึ่งฉีกทึ้งครอบครัวแม่พลอย และคุณเปรมเป็นชิ้นๆ

...ว่าเข้าไปนั้น

คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เป็นหนังสือวิชาการ ถูกเขียนโดยคนไม่ชอบคึกฤทธิ์ แต่สำหรับเราที่เป็นแฟนอาจารย์แล้ว นี่คือหนังสือซึ่ง "ยกย่อง" คึกฤทธิ์ได้อย่างไม่มีผู้ชื่นชมคนไหนเขียนได้ เพราะว่ากันตรงๆ ความเจ๋งของอาจารย์ไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์ ทรัพย์สิน หรือบารมี แบบที่คนไทยทั่วไปมองกันว่าเจ๋ง คึกฤทธิ์เจ๋งตรงไหน ตรงที่ปากกาล้วนๆ ก็ไขว่คว้าตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองมาได้

แต่เดี๋ยวก่อนสิ จะพูดว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่มีอุดมการณ์เลย อย่างที่อาจารย์สายชลพยายามโต้แย้ง เราก็ไม่เห็นด้วยนัก "บาป" ของอาจารย์ที่หนังสือเล่มนี้พยายามชี้แจงคือการเปลี่ยนแปลงท่าทีความคิดทั้งกรณีต่อสถาบันกษัตริย์ และรัฐบาลทหาร อาจารย์สายชลชี้ว่าสำหรับนักการเมืองตัวเปล่าเล่าเปลือย หนทางเดียวที่จะสู้กับจอมพล และกลุ่มอดีตเสรีไทย/คณะราษฎรคือต้องสร้าง "อำนาจทางปัญญา" ขึ้นมา อาจารย์คึกฤทธิ์นำเสนอภาพตัวเองให้เป็นผู้รู้วัฒนธรรมไทยผ่าน สยามรัฐ และนิยาย หลังจากนั้นใช้ภาพลักษณ์ตรงนี้โจมตีคู่แข่งทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์แล้ว ปลายปากกาพร้อมจะเล่นงาน หรือเคียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


ท่าทีเช่นนี้ จะตำหนิว่า "กลับกลอก" ก็คงไม่ผิด แต่ลองมองสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันบ้าง ความผันผวนทางความคิดทำให้ทุกวันนี้นักวิชาการ และปัญญาชนเลือกยืนข้างกันไม่ถูก ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองแท้ๆ คนไทยก็ต้องมาเผชิญกับสองทางเลือกเสรีนิยม หรือสังคมนิยม ยังไม่นับเผด็จการทหาร และอนุรักษ์นิยม ความ "กลับกลอก" ของคึกฤทธิ์ส่วนหนึ่งก็ต้องโบ้ยไปให้ความ "ผันผวน" ของสังคมในขณะนั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์มีอุดมการณ์นะครับ นั่นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อให้อาจารย์สายชลจะมองว่าเป็นแค่การโจมตีศัตรูทางการเมืองอย่างอาจารย์ปรีดี เราก็ยังรู้สึกว่า ไผ่แดง และ สี่แผ่นดิน น่าจะมาจากความเชื่อลึกๆ ของคึกฤทธิ์ มากกว่าอิทธิพลของอาจารย์ปรีดี ซึ่งนับวันจะยิ่งเบาบางลงตั้งแต่ท่านถูกเนรเทศไปอยู่ประเทศจีน

อีกจุดหนึ่งที่อดสงสัยไม่ได้คือ อาจารย์สายชลให้ความสำคัญกับนวนิยายเกินไปหรือเปล่า จริงอยู่ว่าสยามรัฐอาจเป็นกระบอกเสียง เป็นสรรพอาวุธชั้นหนึ่ง แต่ในประเทศที่คนปัจจุบันอ่านหนังสือปีละเจ็ดบรรทัด (ไม่ต้องพูดว่าสมัยนั้นอ่านกันปีละกี่คำ) ไผ่แดง และ สี่แผ่นดิน จะส่งผลอะไรต่ออาชีพการเมืองได้ขนาดนั้น

โดยรวมๆ แล้วชอบหนังสือเล่มนี้ ชอบถึงขนาดเพิ่งไปซื้อเล่ม ๒ มา และคิดว่าคงได้อ่าน ได้เล่าให้ฟังอีกในเร็ววันนี้แน่ เราเห็นด้วยกับอาจารย์สายชลในหลายๆ แง่ แน่นอนว่าเพื่อผลประโยชน์แล้ว อาจารย์คึกฤทธิ์คงเสกสรรค์ปั้นแต่ง "ความเป็นไทย" หลายอย่างขึ้นมา จะมากน้อย และมีอิทธิพลต่อสังคมแค่ไหน โดยเฉพาะเทียบกับ "บรรทัดฐาน" ที่อาจารย์ปรีดี จิตร และนักศึกษารุ่นหลังสร้างขึ้นมาตอบโต้ ตรงนั้นกระมังที่จุดยืนระหว่างเรา และอาจารย์สายชลแตกต่างกัน

1 comment:

saim said...

Congratulations for posting Such A Useful blog. Your Blog Is not only informative purpose aussi Extremely artistic too. There are Usually Extremely couple of Individuals Who Can not Write Articles That Creatively so easy. Keep Up the good writing!



natural minerals
best naturals
buy curcumin