"นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ"


ที่จั่วหัวไว้ข้างบนนี้คือคำโปรยใหม่ของททท. ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใหม่สักแค่ไหน เพราะเราเพิ่งสังเกตมันแปะอยู่บนหลังรถเมล์ ประกอบภาพครอบครัวขยายมีพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา กำลังสนุกสนานกับการปีนเขา ชมทิวทัศน์ พร้อมทั้งอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นจากภาคต่างๆ (ออกอาการจับแพะชนแกะเล็กน้อย เหมือนแม่เพิ่งไปเที่ยวเชียวใหม่มา ส่วนพ่อไปอุดร ลูกไปปัตตานี แล้วค่อยมานัดเจอกัน)

อย่างไรก็แล้วแต่ เราชอบคำโปรยตัวนี้ไม่น้อยและคิดว่ามันมีนัยยะน่าใคร่ครวญ โดยเฉพาะเมื่อเอาไปประกอบกับสปอตโฆษณาชิ้นอื่นๆ ของททท. ในช่วงนี้ เราจะอ่านได้ถึงท่าทีและความหมายของคำว่า "การท่องเที่ยวไทย" ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน

ชัดเจนสุดก็คือกลุ่มเป้าหมาย ลองเปรียบเทียบกับโฆษณายุค Amazing Thailand หรือ Unseen Thailand ดู จะเห็นว่าโฆษณาของททท. ในยุคนี้มุ่งเป้าหมายไปที่คนไทยด้วยกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ว่ากันว่าตั้งแต่ Amazing Thailand หรือ Unseen Thailand แล้ว จุดมุ่งหมายของสองโครงการณ์ก็ไม่ใช่ว่าชักชวนฝรั่งเข้ามาเที่ยวในประเทศเราสักเท่าไหร่หรอก แต่เป็นการชักชวนคนไทยด้วยกันเองเที่ยวประเทศเราเอง แทนที่จะเอาเงินไปถลุงนอกบ้าน (และเสริมสร้างลัทธิชาตินิยมภูมิใจไทยอยู่กลายๆ ) ดังนั้นโฆษณายุดนี้ของททท. จึงน่าชื่นชมตรงที่มีความจริงใจและเลิกเสแสร้งทำตัวเป็นทูตวัฒนธรรม แต่ให้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่าเราตั้งใจขายคนไทย (ข้อดีของการเลิกเสแสร้งก็คือไม่ต้องประเคนวัฒนธรรมไทยอันฉาบฉวยเข้าไปในโฆษณา)

แต่ประเด็นที่น่าสนใจสุดคือคำโปรยที่จั่วหัวไว้ข้างบน "นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ" สำคัญอย่างไร ถ้าจำไม่ผิดคำโปรยหลักตัวนี้ประกอบอยู่กับคำโปรยย่อยว่า "เศรษฐกิจแก้ไขได้เพียงพวกเราเที่ยวเมืองไทย" อีกนัยหนึ่ง นี่คือการพูดถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวในแง่ของการกระจายรายได้ ซึ่งมีใจความอยู่ข้างลัทธิบริโภคนิยม/ทุนนิยมนั่นเอง

ตรงนี้น่าขบคิดมาก เพราะถ้าตรึกตรองดีๆ จะพบว่าคำโปรยนี้มันแหวกแนวจากขนบคิดในบ้านเราสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการยกย่อง "นักท่องเที่ยว" อันเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้อย่างดูถูกดูแคลนโดยปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง (ในฐานะที่มันตรงข้ามกับ "นักเดินทาง") ให้กลายเป็นบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนให้ผู้ฟังออกไปท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงเพราะทรัพยาการการท่องเที่ยวอันสวยงาม (เหมือนกับ Amazing Thailand และ Unseen Thailand) แต่ยกสถานะการท่องเที่ยวให้เป็นหน้าที่ (ของชนชั้นกลาง) ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับกลไกบริโภค/นิยมนิยม ที่ว่าคนรวยๆ หรือพออยู่พอกินในกรุงเทพก็ต้องออกไปหว่านโปรยเม็ดเงินในต่างจังหวัดนี่แหละ

ไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสานส์แอบแฝงในโฆษณาชิ้นนี้ (ถ้าจะพูดเรื่องนี้จริงๆ คงต้องว่ากันยาว) เพียงแต่เราว่ามันน่าสนใจ (และน่าชื่นชม) อยู่ไม่น้อย กับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวกับนโยบายใหม่ของททท. (แทนที่จะขายความฉาบฉวยต่อไปเรื่อยๆ ให้มันอ้วกแตกกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ)

No comments: