ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)
ก็แปลกดีเหมือนกัน คิดเล่นๆ ว่าถ้าได้เจอตัว หรืออ่านงานเขียนของอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ช่วงสาม สี่ปีก่อน คงได้มีการประหมัดทางความคิด (ด้วยอาวุโสแตกต่าง เราก็คงผงกศีรษะหงึกๆ รับฟังสิ่งที่แกพูดถ่ายเดียว) พอเวลาผ่านเลย เกิดปรากฏการณ์ทักษิณ vs สนธิ ล่วงมาถึงรัฐประหาร ไปๆ มาๆ ทั้งเรา และแกกลับมาเห็นพ้องต้องกันได้
ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา รวมบทความช่วงสาม สี่ปีของอาจารย์ศิโรตม์ โดยหนังสือแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือบทความล่าสุดซึ่งเขียนตอบโต้กรณีรัฐประหาร บทที่สองว่าด้วยปัญหาภาคใต้ และบทที่สามพูดถึงการเมืองซึ่งสะท้อนในวัฒนธรรมอื่นๆ นอกเหนือบริบทของมัน ตั้งแต่ 30 ปี 14 ตุลา จนถึงภาพยนตร์ แฟนฉัน และ องค์บาก (พูดกันขำๆ คือเป็นบทความจับฉ่ายที่ไม่เข้าพวกกับสองบทแรกก็พอได้) ซึ่งจริงๆ แล้วบทที่สอง และสามมีอายุเก่าแก่ว่าบทแรก
เรื่องที่เห็นด้วยกับอาจารย์ ไม่ขอพูดเพิ่มเติมแล้วกัน เพราะคนที่อ่านบลอคนี้ประจำ ก็คงพอรับทราบองศาการเมืองของเรา พูดถึงที่แตกต่างดีกว่า อย่างกรณีปัญหาภาคใต้ ดูเหมือนอาจารย์จะโทษรัฐบาลฝ่ายเดียว มองข้ามปัจจัยภายนอก (หมายถึงการลุกฮือของมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลกอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 สงครามในอัฟกานิสถาน และอิรัก) ซึ่งยังไงเราว่ามันก็ต้องเกี่ยวบ้างแหละ เผลอๆ เกี่ยวเยอะเลยด้วย เคยคุยกับเพื่อนคนจีน และเนเธอแลนด์ บ้านเมืองเขาก็ประสบปัญหาผู้ก่อการร้ายในลักษณะคล้ายๆ บ้านเราในช่วงห้า หกปีให้หลังนี้ รวมถึงอีกหลายความเห็นที่น่าจะพิสูจน์เชิงสถิติได้โดยง่าย แต่เท่าที่เห็น เหมือนอาจารย์จะพอใจแค่เอ่ยอ้างลอยๆ (หรือเพราะเป็นบทความลง Aday Weekly ก็เลยใช่ที่ ถ้าจะต้องค้นตัวเลขให้วุ่นวาย)
อีกประเด็นก็คือกรณี 14 ตุลา อาจารย์ศิโรตม์บอกว่าคนไทยมองอะไรวีรบุรุษนิยมเกินไป ควรกระจายเครดิตไปสู่ประชาชน คนธรรมดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุนนักศึกษาด้วย พูดอีกอย่าง 14 ตุลา ไม่ใช่เป็นของ "ปัญญาชน" เท่านั้น ถ้าทำเช่นนั้น 14 ตุลา จะมีภูมิคุ้มกันทางประวัติศาสตร์สูงกว่า คือเมื่อเวลาผ่านไป คนตุลาชราภาพลง คนรุ่นหลังจะมองเหตุการณ์นี้เฉกเช่นที่ทุกวันนี้เรารู้จักมัน
แต่ถ้าตัดปัจจัยวีรชนออก และรวมบริบททางสังคมอย่างเป็นกลางจริงๆ แน่ใจหรือว่าจะไม่มีกระแสต่อต้านของคนธรรมดาในยุคนั้น (เฉกเช่นเดียวกับที่การเคลื่อนไหวบุบผาชนในอเมริกา ทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด และกลายเป็นเรื่องไร้สาระขึ้นทุกที) เพราะเอาเข้าจริงๆ 14 ตุลา เป็น 14 ตุลาเพราะคนไทยต้องการวีรบุรุษ
สนใจมากว่าทุกวันนี้อาจารย์ศิโรตม์ยังเชื่อแบบเดิมอยู่หรือเปล่า สำหรับคนที่ต่อต้านปรากฏการณ์สนธิแบบ "เรา" อาจารย์ไม่รู้สึกหรอกหรือว่า 14 ตุลานี่เหละ "ตัวแสบ" สุดๆ แล้วในวัฒนธรรมทางปัญญาบ้านเรา จะพูดว่าเป็นจุดกำเนิดรัฐประหาร 2549 ที่อาจารย์ไม่เห็นด้วยก็คงไม่ผิดนัก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
14 ตุลานี่เหละ "ตัวแสบ" สุดๆ แล้วในวัฒนธรรมทางปัญญาบ้านเรา
ประโยคข้างบนนี่ให้ A++++
ให้ในความกล้า มากกว่าความถูกใช่ไหมครับ :P
Post a Comment