คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ (ศิริวร แก้วกาญจน์)


และแล้วก็มาถึงเล่มสุดท้ายของซีรีส์ซีไรต์ 2549 พรีวิวล์ล่วงหน้าก่อนนิดหนึ่งคือขณะนี้กำลังอ่านเดอะฟิฟธ์ไชล์ (เด็กคนที่ห้า) ของดอริส เลสซิ่ง เล่มไม่หนามาก คิดว่าคงจบในอีกวันสองวันนี้ เตรียมอ่านบทวิจารณ์ได้เลยครับ

เคยพูดไว้แล้ว คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ เป็นหนังสือเข้ารอบซีไรต์ที่เราชอบน้อยที่สุด โดยผิวเผินหนังสือทำท่าเหมือนจะเป็นราโชมอน เล่าเรื่องกรณีฆาตกรรมฯ โต๊ะอิหม่ามซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลายมุมมอง หลายตัวละคร ที่ต้องใช้คำว่า "ทำท่า" เพราะจุดด้อยสุดๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ จากตัวละครสิบกว่าตัวที่ผลัดกันมาออกความเห็น แทบทั้งหมดมีความคิดคล้ายๆ กัน แบ่งเป็นสองฝ่ายคร่าวๆ คือชาวบ้านและทางการ ซึ่งก็โทษกันไปโทษกันมา อาจจะต่างดีกรีเท่านั้นว่าโทษมากโทษน้อย อ่านไปได้ครึ่งเล่มก็รู้สึกเหมือนอ่านจบแล้ว เพราะประเด็นที่เหลือก็ซ้ำซาก วนเวียน

ประเด็นที่ว่านี้ก็แสนจะเบาบาง สรุปคือทั้งสองฝ่ายต่างก็ปรารถนาสันติภาพด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีความหวาดระแวงซุกซ่อนอยู่ในจิตใจ เป็นข้อสรุปที่พื้นฐานยังไงพิกล ต่อให้ไม่ต้องหยิบจับหนังสือเล่มนี้ คนอ่านก็น่าจะรู้ตั้งแต่แรกมิใช่หรือว่าปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นทางตีบตัน ที่ไม่ใช่สะสางกันง่ายๆ หรือว่าสังคมไทยปัจจุบันมันสุดโต่งถึงขนาดต้องมีคนออกมาตักเตือนแล้วว่าทุกอย่างมีสองด้านในตัวเองเสมอ ไม่มีสิ่งใดดีพร้อม หรือเลวล้วน

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างดังกว่าซีรองเล่มอื่นๆ เพราะเคยเป็นเรื่องสั้นซึ่งถูกตีตกจากประกวดพานแว่นฟ้า ด้วยเหตุผลทางการเมือง น่าเสียดาย เพราะถ้าเป็นเรื่องสั้น คดีฆาตกรรมฯ คงเป็นเรื่องสั้นที่น่าสนใจ กะทัดรัดและตรงจุด แต่พอเอามาขยับขยายเป็นเรื่องยาว ก็เหมือนผันน้ำเข้าทุ่ง ปลูกผักบุ้งอุดช่องว่าง (ถึงแม้คนเขียนจะยืนยันว่า เขียนนิยายก่อนเรื่องสั้น คนอ่านอย่างเราก็ยืนยัดหัวเด็ดตีนขาดเหมือนกันว่าไม่เชื้อ ไม่เชื่อ )

หนังสือจบโดยไม่ได้เฉลยว่าใครเป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรม ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในเมื่อวางโครงเรื่องมาจากคดีจริงๆ ถ้าคดีนั้นไขไม่ได้ คนเขียนก็คงไม่กล้าเดาสุ่มว่าเกิดอะไรในกอไผ่บ้าง ในแง่หนึ่งก็น่ายกย่องการวางตัวเป็นกลาง แต่อีกทางหนึ่ง ก็ทำให้คดีฆาตกรรมฯ จบอย่างเบาโหวงยังไงพิกล ตัวละครผ่านเข้าผ่านออก ไม่ได้ต่อเนื้อต่อเรื่องไปไหน อ่านจบเล่มแล้วก็อ่านเลยไป รู้สึกเหมือนไม่ได้อ่านอะไร

เท่าที่ได้ข่าวมา กรรมการที่เป็นนักข่าวชอบหนังสือเล่มนี้มาก ขณะที่กรรมการอาจารย์อักษรก้ำๆ กึ่งๆ ก็เข้าใจได้ว่านักข่าวคงชอบอะไรแบบนี้แหละ หยิบจับสถานการณ์การเมืองมาเขียน แต่อย่าลืมว่าคุณค่างานศิลปะไม่ได้อยู่ผิวเผินเพียงเปลือกนอก ไม่ได้อยู่ตรงหนังสือสะท้อนสังคมหรือไม่ ดีใจที่กรรมการซีไรต์ไม่ได้ทำผิดพลาดแบบกรรมการออสการ์ ซึ่งคิดว่างานศิลปะที่ดีต้องเสพแล้วตีความออกมาเป็นบทเรียนได้เสมอ

No comments: