ล่าลายเซ็น
ใน The Unbearable Lightness of Being มีฉากหนึ่งน่าสนใจ โทมัสเคยเขียนบทความต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งพอคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจ (ด้วยความช่วยเหลือจากรถถังรัสเซีย) เขาก็เลยถูกไล่ออกจากอาชีพหมอ ในฉบับหนังสือ โทมัสได้รับการติดต่อจากลูกชายของเขา ซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ในกลุ่มใต้ดินที่ต่อต้านรัฐบาล โดยลูกชายให้ข้อเสนอว่า ถ้าโทมัสยอมเซ็นชื่อในฐานะปากเสียงของปัญญาชนต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ซึ่งเขาก็เป็นจริงๆ นั่นแหละ) เขาสามารถจัดการใช้เส้นสายให้พ่อได้งานเก่าคืนมา ที่ตลกคือในฉบับภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นลูกชายของโทมัสมายื่นข้อเสนอนี้ กลับเป็นตัวแทนจากรัฐบาล ผู้มีอำนาจ เจ้าของรถถัง ซึ่งวันดีคืนดี ก็มาบอกกับโทมัสว่า ถ้าคุณยอมเซ็นชื่อในฐานะปากเสียงของปัญญาชนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ โทมัสจะได้งานเก่ากลับคืนมา ในฉบับหนังสือ "สุ่มเสียงที่ยั่วเย้า" โทมัสมาจากกลุ่มผู้ต่อต้าน แต่ในฉบับภาพยนตร์ เป็นผู้มีอำนาจเองที่ยื่นข้อเสนอดังกล่าว
จริงๆ ความแตกต่างตรงนี้น่าสนใจมาก รวมไปถึงการตัดสินใจของโทมัสด้วย แต่ไม่ใช่ที่อยากพูดถึงในวันนี้ ที่อยากพูดถึงในวันนี้ คือวาระเรื่องการเมือง และลายเซ็นของนักเขียน ล่าสุดนักเขียนกลุ่มหนึ่งนำทีมโดยอาจารย์ลาว คำหอม ศิลปินแห่งชาติ และคุณวัฒน์ วรรลยางกูร มาขึ้นเวทีเสื้อแดง พร้อมทั้งยื่นแถลงการณ์หนุนชุมนุมกดดันรัฐบาล น่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะทางฝ่ายเสื้อเหลืองเองก็มีนักเขียน "อยู่ในกระเป๋า" แม้ไม่อยากออกชื่อเท่าไหร่ แต่ขอคนหนึ่งที่แน่ๆ คืออาจารย์เนาวรัตน์ มหากวีรัตนโกสินทร์นั่นเอง
เลยอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าคนตัวเล็กอย่างเรา ตอนนี้อยู่เมืองไทย แล้วดันไม่รอดพ้นสายตา "แมวมอง" มีมาขอให้เซ็นชื่อในแถลงการณ์คล้ายๆ กันนี้ ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า ถ้าแมวมองใส่เสื้อเหลือง คงได้สาดเกลือไล่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสื้อแดงเล่า เราจะเซ็นไหม
คำตอบคือ "ไม่"
ถามว่าทำไม ไม่นานมานี้เอง ที่บอร์ดไทยไรเตอร์ มีนักเขียนท่านหนึ่งซึ่งเราชื่นชอบเสียด้วย มาแปะกึ่งจดหมาย กึ่งบทความสนับสนุนเสื้อเหลือง โดยมีหลายคนทั้งเห็นด้วย และโต้ตอบกัน จนบอร์ดลุกเป็นไฟ ถึงขั้นเวบมาสเตอร์ต้องประกาศลาออกเลยทีเดียว ประเด็นหนึ่งที่จับใจเราจากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือคำพูดของนักเขียนท่านนั้น ที่ออกมา "แก้ตัว" ในภายหลัง ทำนองว่า "จริงๆ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายพันธมิตรเสียทั้งหมด ถ้านับกันจริงๆ อาจจะมีที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าก็ได้ แต่..." เราจำไม่ได้จริงๆ ว่าเหตุผลประเภทไหนกันที่อยู่หลังคำว่า "แต่..." สำหรับเราแล้ว เราอยากให้คำพูดตรงนี้เป็นข้อเตือนใจว่า ชีวิตนี้ไม่ขอยุ่งเกี่ยว หรือสนับสนุนกลุ่มบุคลใดๆ ก็ตามที่เราไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วยกับเขาเป็นอันขาด
ขณะนี้ความวินาศสันตะโรในประเทศไทยเกิดจากความคิดดังกล่าว "ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ๋ แต่..." ถ้ามีบางอย่างที่คนกลุ่มหนึ่งทำถูกใจเรา เช่นมีศัตรูคนเดียวกับเรา เราก็พร้อมจะสนับสนุน อุ้มชู ทั้งที่ "ส่วนใหญ่แล้วเราไม่เห็นด้วยกับเขา" ซึ่งไปๆ มาๆ ลายเซ็น และเสียงสนับสนุนของเราก็จะตกเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านั้นเอาไปทำในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย
ดังนั้นถ้ามีแมวมองเสื้อแดง เอาแถลงการณ์มาให้เราเซ็นจริงๆ คงนั่งจับเข่า ดื่มน้ำชา แล้วคุยกันดีๆ ว่า ถึงจะมีหลายอย่างที่เราเห็นด้วย (โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงคือความหวังใหญ่สุดของการทำลายระบอบพันธมิตร) แต่เรายังหวาดระแวงเขา ลายเซ็นของเราจะไปส่งเสริมอำนาจให้คุณทักษิณหรือเปล่า มันจะนำไปสู่การล้มล้างบางอย่างที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมไหม
เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ปัญหาของโลกนี้คือมีหลายสิ่งมากมายเกินไปที่เราต้องการต่อสู้ "กับ" แต่แทบไม่มีเลยที่เราต่อสู้ "เพื่อ" ได้ แต่นี้เป็นต้นไป เราจะไม่ขอต่อสู้ "กับ" อะไรแล้ว แต่จะต่อสู้ "เพื่อ" บางอย่าง ที่มันคุ้มค่าให้ปกป้องรักษา และเพื่อการนี้ "ความเห็นด้วยนิดๆ หน่อยๆ " ไม่อาจเพียงพออีกต่อไป
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
14 comments:
like the part about 'fighting for' instead of 'fighting against'.. BTW.. have you ever listened to songs by Kris Kristofferson, or at least.. taking a look at some of his lyrics?
อยากให้ลองเขียนถึงข้อดีของพันธมิตรบ้างอะคับ
Khun anonymous' suggestion is very interesting.. Laughable Loves.. do you want to give it a try? at least.. what are the issues that moderate Pantamit are fighting for? We don't have to get into the extremist of both sides.. we don't have to get to the strategies they use either coz I have a hunch you're not approved of them.. for sure.. I don't even think you will ever condone the strategies the extremist red shirts use. Let's talk moderate.. and give Pantamit's issues a try. If it leaves too much bad taste in your mouth, you can wash it off with moderate red shirts' issues. And since we're talking issues here instead of praising one group over another in general, I hope that's acceptable and not gonna set your blog on fire.. :)
คมคายมากเลยครับ
เขียนถึงหนังสืออันเป็นที่รัก เลยต้องเข้ามาแจม แต่แล้วก็เจอประเด็นร้อนซะเนี่ย
เห็นว่าทรรศนะนี้น่าสนใจมาก หยุดหาคู่ต่อสู้ แต่หาเป้าหมายดีกว่า :)
สภาพการณ์เมืองไทยที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ปัจจุบัน การที่จะพูดว่า “หยุดหาคู่ต่อสู้” แต่ “หาเป้าหมาย”แทนนั้น มันคือความจริงระดับผิวเผินเป็นอย่างยิ่ง ถ้าคุณพอจะเข้าใจมิติอันซ้อนทับและซับซ้อนของข่ายใยแต่ละขั้วที่พัวพันกันยุ่งเหยิงแล้ว รับรองคุณจะไม่เอ่ยออกมา(ง่ายๆ ตื้นๆ)แบบนี้แน่ๆ
เพราะอะไรหรือ?
เพราะไม่มีทางที่คุณจะเดินไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่ผ่าน “คู่ต่อสู้” ซึ่งรอดักคุณอยู่ทุกมุมถนนได้เลย อีกทั้งยังมีคู่ต่อสู้จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาจะมุ่งไปสู่ “เป้าหมาย” เดียวกับคุณ ทว่าเขาจะไม่ยอมปล่อยคุณไปแน่ๆ หากคุณไม่ “สวมเสื้อสีเดียวกับเขา” ก่อน
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น เป้าหมายที่ไร้คู่ต่อสู้มีอยู่จริงๆหรือไม่ในสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน
นี่แค่โจทย์ชั้นเดียว?
พูดชัดๆคือ การเมืองไทยที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ตอนนี้ คุณไม่มีทางต่อสู้ “เพื่อ” ได้เลย ถ้าคุณไม่ต่อสู้ “กับ” (เสียก่อน)ด้วย
แต่หากคุณปรารถนา “ยูโทเปีย” หรือพูดเอาเท่ก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว
ส่วนที่บอกว่า “มันจะนำไปสู่การล้มล้างบางอย่างที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมไหม” นั้น เป็นข้อสงสัยเชิงอนุรักษ์นิยมผสมไพร่ (ขอโทษที่ไม่อาจใช้คำอื่น?) และไม่ใช่ความกล้าหาญของการไปสู่เป้าหมาย “เพื่อ”? แต่อย่างใดไม่
และการไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับอุบัติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย บางทีไม่ต่างอะไรกับที่คุนเดอร่าว่าไว้ นั่นคือ การเชิดชู จ่อมจมอยู่กับ “รสนิยมสามานย์” นั่นเอง
เราคือผู้เลี้ยงชีพในระบบทุนนิยมสามานย์ จะว่าเราเป็นพวกรสนิยมสามานย์ก็ได้นะ
เราเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่มีสถาบันใดๆทั้งสิ้น(โอย เราทะเลาะกับพ่อเราประจำ555)
และไม่คิดจะพาตัวเองไปอยู่ในวงล้อที่จะทำให้อะไรหมุนเร็ว และผิดรูปไปกว่าที่ควรจะเป็น
จะเป็นอะไรมากไหม ถ้าเราขอทำงานสุจริตอยู่ในวงเล็กๆของตัวเอง เลี้ยงครอบครัว พยายามไม่ทำให้ตัวเองเป็นพลเมืองชั้นเลวคอยคดโกงชาวบ้าน อย่างน้อยภาษีที่เสียไป คงพอจะเป็นฟุตบาทให้นักเขียนใหญ่ทั้งหลายเดินได้บ้างกระมัง (อันนี้ไม่รวมนักเขียนที่ปั้นคำสวยหรู แต่ปลอมชื่อเอาเงินรางวัลอยู่นะ555)
อืม จะว่าไปงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ขยันผลิตมาทุกปีกันนั้น ทุกวันนี้ยังสงสัยว่า มันแก้ปัญหาสังคมได้มากน้อยแค่ไหน--ในเมื่อมันยังเป็นสันปกหลบอยู่ตามมุมร้านหนังสืออยู่เลย...
ยอมรับกันและกัน--อืม มันคงเป็นยูโธเปียจริงที่แสนไร้เดียงสาจริงๆ
ขอโทษทีครับ
ข้างบนนั้นผมเผลอไผลใช้คำผิดไปครับ
จริงๆแล้วผมต้องการบอกว่า “รสนิยมสาธารณ์” ครับ ไม่ใช่ “รสนิยมสามานย์” (สงสัยสังคมไทยเรามีคำว่าสามานย์มากเกินไป คำนี้ก็เลยแวบเข้ามาในหัว ฮ่าๆๆ)
ฮ่าๆ เพิ่งรู้ว่ามีคนแอบอิจฉาอยู่เยอะเหมือนกันที่เราได้เงินรางวัลโน่นนี่ (ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว รางวัลไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย ว่างานคุณวิเศษวิโสกว่าผลงานของคนอื่นๆ รางวัลก็เป็นแค่ทัศนะที่ตรงกันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ระหว่างบุคลากรผู้ประเมินค่ากับตัวบทที่ถูกนำเสนออกไป-เท่านั้นเอง) อีกทั้งเราเองต่างหากที่อธิบายให้สังคมฟังว่า เรามีเหตุผลอะไรบ้างในการ “ละเล่น” กับรางวัลต่างๆ
ตลกดีครับที่คุณ Anonymous ยังเชื่อว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์จะแก้ปัญหาสังคมได้ ฮ่าๆๆ ตลกดีครับ ขำๆ การแก้ปัญหาสังคมเกี่ยวอะไรกับวรรณกรรม(สร้างสรรค์)ครับ โดยเฉพาะในศตวรรษปัจจุบัน
สงสัยพวกคอมมิวนิสต์หลงค่าย หรือไม่ก็เป็นซ้ายหลงยุค?
และการที่วรรณกรรมสร้างสรรค์หันสันปกหลบอยู่ในมุมชั้นหนังสือนั้น มันสะท้อนรสนิยมและภูมิปัญญาของผู้คนในประเทศนี้ครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวบทที่ถูกผลิตออกไปแต่อย่างใด
เราเปิดเผยถึงขนาดนี้ที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังมีคนแบบคุณ Anonymous ที่เป็นอีแอบเข้ามาคร่ำครวญฟาดงวงฟาดงา(ฟาด ฮา)
ทำตัวเป็นสุภาพบุรุษหน่อยครับ แลกเปลี่ยนกันอย่างมีสติหน่อย ถึงจะไม่ใช้ปัญญาก็ไม่ว่ากัน
อ้อ การทำตัวสุจริตและไม่คดโกงชาวบ้านน่ะ ก็ดีนะครับ แต่อย่าเอาแบบชนชั้นกลางที่ล่องลอยอยู่เหนือปัญหา พยายามปิดหูปิดตา และบอก(คนในครอบครัว)ตัวเองว่าประเทศนี้ หรือโลกนี้ช่างสวยสดงดงาม มองไปทางไหนพบเห็นแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
การเสียภาษีน่ะพลเมืองทุกชนชั้นก็เสียครับ ไม่เฉพาะ(ครอบครัว)คุณ Anonymous หรอกนะครับ แค่นั้นมันไม่พอที่จะนำมาอ้วดอ้าง เดี๋ยวเด็กอนุบาลจะหัวเราะเยาะเอานะครับ
อ้อ ขอแสดงความนับถือจริงๆครับ ที่แม้คุณAnonymous จะเป็นแค่ “มนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ” แต่ยังเสียภาษี ดีกว่า “มนุษย์เงินเดือนพิเศษ” บางคนบางกลุ่มครับ ที่พยายามหลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีการต่างๆนานา น่าเตะชะมัด!
http://www.youtube.com/watch?v=Mu9DvaUEypQ
ที่ผ่านมาไม่สบายครับ เลยไม่ได้แวะเข้ามาตอบเสียที
ขอตอบพี่ศิริวรอย่างนี้แล้วกัน อาจจะจริงอยู่ว่าหนทางเดินไปข้างหน้าของเราเต็มไปด้วยศัตรู คู่แข่งที่เตรียมพร้อมจะฟาดหัว แต่ผมคิดว่า การไปรวมกลุ่มกับเสื้อสีใดสีหนึ่งเพื่อต่อสู้กับศัตรูในตอนนี้ อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะถ้าเราไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนั้น 100% สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นการสร้างศัตรูในอนาคตอยู่ดีครับ
คุณศิริวรคือใครเหรอครับ เป็นนักเขียนหรือครับ
สวัสดีครับ คุณศิริวร
ผมไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคุณเลย โดยเฉพาะเรื่อง 'การ “ละเล่น” กับรางวัลต่างๆ' ที่มีประเด็นน่าสนใจให้ได้คุยกัน
ก่อนอื่น ผมต้องบอกว่า ผมค่อนข้างเห็นด้วยเรื่องที่คุณพูดว่า 'โดยเนื้อแท้แล้ว รางวัลไม่ได้พิสูจน์อะไร'
งานที่ดี คงไม่ต้องการรางวัลพิสูจน์ มีตัวอย่างรูปธรรมมากมายในโลกวรรณกรรมที่ผู้เขียนแทบไม่ได้รับรางวัลใดตอบแทนผลงานที่ดีของเขา เช่น เจมส์ จอยซ์, เฮนรี่ เจมส์ (ส่วนพรุสต์นั้นเขาเคยได้รับรางวัล prix Goncourt จาก À l'ombre des jeunes filles en fleurs นวนิยายเล่มที่สองของเขาในงานชุด À la recherche du temps perdu ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ของฝรั่งเศส)
แต่ในทางกลับกัน ผมกลับเห็นว่ารางวัลที่ดีนั้น ต้องการงานที่ดีเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะรางวัลที่ดี ไม่ได้ดีด้วยเงินรางวัลหรือความมีชื่อเสียงของคณะกรรมการ หากแต่ดีมาจากเกณฑ์การตัดสินรางวัลนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้เอง การให้รางวัลภายใต้ความเป็น 'รางวัลที่ดี' จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรหลายอย่างมากเลยทีเดียวครับ (อาทิเช่น การเลือกเฟ้น การอ่านทำความเข้าใจ และการตั้งวงสนทนาเพื่อถกเถียงและแลกเปลี่ยนระหว่างกรรมการผู้ตัดสิน)
ผลที่เกิดตามมาก็คือ การตัดสิน หรือการพิพากษา (judgment) ในกรณีนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากครับ (เรื่องที่ผมพูดมาข้างต้น ไม่ได้เกี่ยวกับคุณศิริวรเพียงคนเดียวนะครับ ท่านอื่นๆ สามารถแลกเปลี่ยนได้)
การสร้างการตัดสินที่ดี หรือการพิพากษาที่ดีจึงเป็นเหมือนตะแกรงกลั่นกรองงานที่ดี หากมันไม่สามารถ 'สร้าง' งานที่ดีได้ด้วยตัวของมันเอง (คุณอาจสงสัยว่า ดีที่ผมพูดคืออะไร? หรือเวลาที่ผมพูดว่าอะไรดี ผมเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัด? ผมขอยังไม่ตอบปัญหาเหล่านี้ จนกว่าจะได้อธิบายสิ่งต่างๆ ข้างล่าง)
ผมจำได้ว่า บุคคลหนึ่งที่สนใจ และยกเอาปัญหาเรื่องของ 'การตัดสิน' มาขบคิดอย่างลึกซึ้งมากที่สุดคนหนึ่งในโลกสมัยใหม่ (ไม่นับเอ็ดมุนด์ เบิร์ก) คือ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) และปัญหาของคานท์ในเรื่องนี้ก็คือเวลาเราพูดว่าสิ่งใดดี คำว่า 'ดี' นั้นมักจะมีความหมายทางด้านจริยศาสตร์-ความดีเลวถูกผิด (ethical sense) เสมอ
แต่คำถามก็คือ เวลาที่เราพูดถึงศิลปะหรือวรรณกรรมที่ดี (ในทุกครั้ง) เราตัดสินมันด้วยความดีเลวถูกผิดจริงหรือ?
ถ้าคุณตอบว่าใช่ ปัญหาที่ว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์แก้ไขหรือยกระดับสังคมได้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดอะไร
แต่ถ้าไม่ เราก็ควรจะหันกลับไปทบทวนว่ามีสักกี่ครั้งกันที่เราสามารถแยกแยะเอาคำว่า ดี ในแง่ที่เป็นจริยศาสตร์ ออกจากคำตัดสินของเราได้บ้าง
ด้วยเหตุนี้เองครับ คานท์จึงเสนอให้เราแยกแยะและตัดสินผ่านสุนทรียะ (aesthetic) และความงามของคานท์นั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธความดีของมัน หากแต่ผนวกเอาสิ่งที่อยู่นอกเหนือความดีเลวอย่างเช่น ความงดงาม มีแรงดึง ดูเร้ารึงจิตใจ ยากจะหาคำอธิบาย เข้าไปด้วย คานท์ภาวะดังกล่าวเรียกว่า
ย้อนกลับมาที่ปัญหาของเรา หากเราเชื่อว่ารางวัลที่ดีจำเป็นต้องการงานที่ดีเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว การพิสูจน์หางานที่ดีจึงเป็นงานยากที่ปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เองคณะกรรมการและผู้จัดรางวัลนั้นๆ จึงจำเป็นต้อง'ออกแบบ' หลักการ รวมถึงวิธีที่สามารถตรวจสอบความงามและความดีของงานนั้นๆ อย่างรอบคอบ
ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ นะครับ หากเราใช้เรื่องเกณฑ์ของความสร้างสรรค์ เราก็จำเป็นต้องพูดถึงงานสักชิ้นหนึ่ง หรือจำนวนหนึ่งที่มีพลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียน ไปจนถึงเปิดทางไปสู่การเขียนแบบใหม่ (ที่ไม่เคยมีมาก่อน)
ในโลกตะวันตกเวลาที่คนพูดถึงงานในรูปแบบนี้ คนจะนึกถึงเบคเกตต์ ที่เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับความเปลี่ยนแปลงทั้งสำหรับโลกวรรณกรรมและการละคร (นักการละครบางคนถึงกับพูดว่า การละครสมัยใหม่คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีเบคเกตต์)
ดังนั้นในแง่หนึ่ง ผมค่อนข้างเห็นว่า รางวัลแทบทุกรางวัล (นอกเหนือจากการต้องการการทำงานอย่างหนักแล้วยัง) ต้องการ 'เวลา' หนังสือทุกเล่มไม่ควรถูกจำกัดอายุขัยของมัน แค่นี้ก่อนดีกว่าครับ
ปล. ได้ยินว่ามีคนอิจฉาเรื่องรางวัลของคุณศิริวรแล้วรู้สึกสลดใจแทนครับ เพราะมันฟังดูเหมือนคนในแวดวงเล่นหวยไม่มีผิด
ปล. 2 '“มนุษย์เงินเดือนพิเศษ” บางคนบางกลุ่มครับ ที่พยายามหลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีการต่างๆนานา น่าเตะชะมัด!' นี่หมายถึงใครครับ? ยักษ์ตาเดียวของเราหรือเปล่าครับ? ผมไม่ได้แกล้งโง่นะ ไม่รู้จริงๆ
"คานท์ภาวะดังกล่าวเรียกว่า" ขอแก้เป็น คานท์เรียกภาวะดังกล่าวว่า Sublime
ฮ่าๆๆ หวัดดีครับกิตติพล
อันที่จริงเราไม่ควรคุยกันเรื่องประเด็นรางวัลอะไรนี่เลยนะครับ
หมายถึงว่า เราน่าจะคุยกันประเด็นเรื่องการทำงานอย่างไรกันมากกว่า
น่าจะมีประโยชน์ต่อแวดวงโดยรวมมากกว่าเรื่องรางวี่รางวัลทั้งหลายทั้งปวง
(จริงๆ ประเด็นรางวัลนั้น ผมเคยพูดไว้หลายครั้งในบทสัมภาษณ์หลายที่ ซึ่งไม่น่ามาพูดซ้ำอีก)
หรือเราจะเอ่ยถึงสักเล็กน้อยอีกก็ได้ว่า
รางวัล โดยตัวมันเอง ด้านหนึ่งไม่ต่างจากฉลากของสินค้า หมายความว่าตัวสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่นั้น มันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับฉลากนะครับ
เพียงแต่ว่า ถ้าสินค้าตัวนั้นๆ มีคุณภาพดีเลิศโดยตัวมันเองอยู่แล้ว หากมีฉลากที่น่าสนใจแปะประทับ อย่างน้อยสินค้าเหล่านั้นก็ “ถูกมองเห็น” ง่ายขึ้น
(เหมือนที่สำนักพิมพ์สมมติลงโฆษณาในฟ้าเดียวกันหรือในที่อื่นๆน่ะครับ ทั้งที่โดยตัวสินค้านั้นมันมีคุณภาพอยู่แล้ว หรืออีกกรณี เช่นที่สำนักพิมพ์สมมุติ
นำเสนอ “งานคุณภาพ” (แน่ๆอยู่แล้ว) แต่ก็ยังมีวิธีการ/กระบวนการ เอานักวิชาการ หรือคนที่ “มีคุณภาพ” น่าเชื่อถือมาเขียนคำนำหรือคำตามนั่นแหละครับ
[กระบวนการเอารางวัล (ซึ่งก็คือผ่านการคัดสรรมาจากกลุ่มบุคคล) มาการันตี กับกระบวนการเลือกเฟ้นบุคคลซึ่งสังคมเชื่อมั่นมาการันตี บางทีก็ไม่ต่างกันนะครับ] ย่างนี้เป็นต้น หรือจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกก็ได้ว่า ในโลกยุคปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันภาพยนตร์ที่ถูกผลิตออกมาก็มีเยอะแยะมากมาย และเราจะปฏิเสธได้มากน้อยแค่ไหนว่า เราเลือกดูหนังทุกวันนี้โดยไม่อิงกับรางวัลเลย –ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเกี่ยวกับคุณภาพหรือไม่นะครับ-)
โอย ผมเวียนหัวการยกตัวอย่าง/ขยายความของตัวเองชะมัด!
อย่างที่บอกครับ เราไม่ควรถกเถียงกันเรื่องรางวัลอะไรนี่หรอก
(หรือถ้าจะอยากถกเถียงกันจริงๆ ก็กรุณายืนยันมาอีกครั้ง จะได้ว่ากันเต็มๆไปเลย ฮ่าๆๆ)
เพราะการชี้วัดตัดสินหรือประเมินค่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันมีปัญหาทั้งนั้นล่ะครับ
โดยเฉพาะการประเมิณค่าสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง อย่างงานศิลปะวรรณกรรม
เพราะอะไรครับ เพราะจริยศาสตร์ของความงาม ความดี ความมีคุณค่าของสิ่งดังกล่าวมันเลื่อนไหลไปกับตัวแปรอื่นๆตลอดเวลา
เช่น ต้นทุนของผู้ประเมิน บวกรวมกับรสนิยมทางศิลปศาสตร์ รสนิยมทางสุนทรียศาสตร์ หรืออะไรอื่นๆ อีก (อาจจะรวมทั้งอคติด้วย เป็นต้น)
เพราะฉะนั้น ในมุมมองของผม คานท์เองก็พูดได้ไม่รอบคอบรัดกุมสักเท่าไหร่นะครับในกรณีที่เรากำลังพูดกันอยู่
ฮ่าๆๆๆ จริงๆ เรื่องรางวัลนี้เป็นเรื่องเก่าแก่มากนะครับ ย้อนหลังลึกลงไปยิ่งกว่าเรื่องคลาสสิกเสียอีก
และจริงๆ บอกตามตรงผมเบื่อที่เราจะมานั่งถกกันถึงเรื่องนี้นะครับ มันไม่น่าจะมีประโยชน์เท่ากับมานั่งถกกันถึงเรื่องกระบวนการคิดการผลิตอย่างไร
หรืออะไรอื่นๆมากกว่านะครับ
ปล. “มนุษย์เงินเดือนพิเศษ” ของผมหรือครับ ยักษ์ตาเดียวนั้นแน่นอนอยู่แล้วครับ เพราะตัวนั้นมันกระทำการอยู่ใต้น้ำลึก
อีกทั้งยังโปรยหว่านความศรัทธาฉาบเคลือบไว้อย่างแนบเนียน
แต่อีกตัวหนึ่ง มันจะต่างกันตรงไหน เว้นแต่ว่าขนาดของความศรัทธาและพละพลังของมันด้อยกว่า (แม้จะหนุ่มกว่า) เท่านั้นเอง
มันจึงไม่สามารถกระทำการใต้ระดับความลึกได้เทียมเท่า ว่าไหมครับ
สวัสดีค่ะคุณศิริวร เป็นแฟนหนังสือของคุณค่ะ เก็บมาได้ 5-6 เล่มแล้ว ชอบอ่านกลอนแบบไร้ฉันทลักษณ์ ภาษาคมคายและเนื้อหาของงานด้วย
Post a Comment