นาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้น


จบไปแล้วกับงาน บารมีแห่งแผ่นดิน ที่หอศิลป์กรุงเทพ ขอบคุณผู้จัดที่ช่วยให้เราได้ดูงานอะไรดีๆ วันนี้จะขอพูดถึงนาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้นที่เราได้มีโอกาสแวะไปดู (จริงๆ อยากดูเยอะกว่านี้)

งานชิ้นแรกคือ Unknown Landscape โดยน้องธนพล วิรุฬสหกุลและคู่หู (เข้าใจว่าคือน้องวิทุรา อัมระนันทน์จากที่ google ดู ถ้าผิดต้องขออภัยด้วย) นี่อาจเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่ดูมาตลอดงานนี้ นักเต้นเข้าใจและตีโจทย์นาฏศิลป์ร่วมสมัยแตก กล่าวคือเป็นการดึงเอานาฏศิลป์ออกจากบริบททางวัฒนธรรม ให้เหลือเพียงแค่การสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยร่างกายผู้เต้น ทิวทัศน์ที่ไม่รู้จักในที่นี้คือทิวทัศน์ที่พวกเราทุกคนคุ้นเคยดี นั่นก็คือในครรภ์ของมารดา (เป็นโจทย์ของงาน บารมีแห่งแผ่นดิน ที่งานทุกชิ้นจะต้องเกี่ยวกับธีมเรื่องแม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง)

ชอบความเป็นกันเองของผู้เต้นต่อคนดู Unknown Landscape แบ่งเป็นสามองค์ โดยเมื่อสิ้นสุดแต่ละองค์ นักเต้นทั้งสองจะมาพูดคุยกับคนดู โดยบอกว่าพวกเขายังไม่ค่อยพอใจกับผลงานที่เพิ่งแสดงนัก เลยอยากจะลองตีโจทย์ด้วยวิธีที่ต่างออกไป ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้แค่นั่งดูผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังค่อยๆ เห็นพัฒนาการของความคิดด้วย จะติข้อเดียวคือองค์สามซึ่งสมควรจะเป็นผลงานที่ดีที่สุด กลับออกมาด้อยกว่าสององค์แรก แต่นอกจากนั้นแล้ว พอใจมากๆ กับงานแสดงชุดนี้


ชิ้นที่สองคือ Desire ผลงานของครูนาย มานพ มีจำรัส ชอบลีลาการเต้นที่เน้นการสื่ออารมณ์มากกว่าเพียงท่วงท่าที่ปรากฎแก่สายตา เข้ากันได้ดีกับบุคลิกภาพของผู้เต้นมากๆ จนรู้สึกว่าฟังครูนายพูดตอนจบเผลอๆ สนุกกว่าดูครูเต้นอีก จะติก็คือพรอพมันรกเกินไป หลายชิ้นก็แทบไม่ได้ใช้ ในการแสดงที่เน้นอารมณ์ขนาดนี้ จำเป็นด้วยหรือที่ต้องใช้พรอพมากมาย (ขนาดไฟสปอตไลท์ ยังเป็นไฟเฉยๆ ไม่ได้เลย แต่ต้องตบแต่งให้กลายเป็นพรอพไปด้วย)

Desire พยายามเปรียบเทียบความรักของแม่และความรักของผีเสื้อสมุทร ชอบที่ครูนายพยายามสื่อให้เห็นถึงความทุกข์ใจของเหยื่อ "บุรุษโฉด" ในวรรณคดีที่คนไทยมักจะมองข้าม น่าสนใจคือตอนจบของโชว์พอครูนายเปิดให้ผู้ฟังซักถาม ก็มีป้าคนหนึ่งออกมาเหวี่ยงครูว่าจะเอาผีเสื้อสมุทรไปเปรียบเทียบกับแม่ได้อย่างไร ประเด็นนี้ไว้จะพูดถึงวันหลังแล้วกัน แต่อย่างไรก็อยากชื่นชมผลงานของครูนายชิ้นนี้


ชิ้นที่สามคือ Mother โดยคณะ New Dance Theatre เป็นชุดที่ไม่ชอบที่สุด เรื่องของพระแม่ธรณีและมนุษย์ที่ทำลายโลก สื่อโดยใช้รำไทยและนาฏศิลป์สมัยใหม่ประกอบวีดีทัศน์ ปัญหาคือผู้ออกแบบท่าเต้นตีโจทย์ง่ายเกินไป การร่ายรำไม่ได้สื่อสารอะไรมากมายไปกว่าที่ปรากฎแก่สายตาในตอนแรก แต่ก็ยังยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ ราวกับกลัวคนดูคิดไม่ทันว่าต้องการบอกอะไร (ไม่ชอบอย่างมากที่ผู้แสดงชายกรีดร้องออกมาหลังจากดนตรีจบ นี่ยังมีอะไรไม่ชัดเจนเหลืออยู่อีกไหมเนี่ย) ที่เป็นข้อเสียใหญ่สุดคือความประดักประเดิดของวีดีทัศน์ที่ไม่ค่อยงาม ยิ่งการเอาผ้ามาคลุมฉากหลังให้เป็นจอ ยิ่งดูเกะกะลูกตา เข้าใจว่าคงเพื่อสร้างความยอกแย้งในการรับภาพ แต่ความลักลั่นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พอมาอยู่รวมกันมากๆ เข้าเลยกลายเป็นช่องโหว่อย่างน่าเสียดาย


ชิ้นสุดท้ายคือ รับขวัญข้าว ของคณะไก่แก้ว สารภาพว่าลุ้นที่สุดกับชุดนี้ อยากรู้ว่าคณะไก่แก้วที่ขึ้นชื่อเรื่องผลงานอนุรักษ์นิยม เมื่อมาทำงานนาฏศิลป์ร่วมสมัยจะช่วยสร้างสะพานที่พัฒนานาฏศิลป์ไทยให้หลุดจากแอ่งได้ไหม ผลลัพท์ของความแอบลุ้นก็มีทั้งจุดที่น่าชื่นชม และจุดที่น่าเสียดาย ชื่นชมในความพยายามของน้องๆ (เข้าใจว่าน้องๆ เป็นคนออกแบบท่าเต้นเอง) ที่เล่าเรื่องราวการเก็บเกี่ยวข้าวผ่านการแสดงนาฏศิลป์ ซึ่งตีความออกมาได้อย่างสวยงามและเป็นเรื่องเป็นราวมากๆ บวกกับการใช้ดนตรีร่วมสมัย ก็ช่วยให้งานชุดนี้มี "กลิ่น" ที่เข้ากับคนยุคใหม่ได้ดีกว่า

จุดที่น่าเสียดายคือเมื่อเทียบกับ Unknown Landscape รู้สึกได้ว่าน้องๆ ยังตีโจทย์ไม่แตกทั้งความเป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัย และความเป็นนาฏศิลป์ไทยเดิม การผสมผสานนี้เป็นแค่การเอาเปลือกนอกมายำรวมกันเท่านั้น (นาฏศิลป์ไทยคือการรำ และความร่วมสมัยอยู่ที่ดนตรียุคใหม่) จริงๆ รับขวัญข้าว น่าจะเป็นผลงานที่ดัดแปลง "คำศัพท์" ของการเต้นสมัยใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ เช่นไม่เห็นจำเป็นเลยว่าทุกคนบนเวทีต้องเต้นแบบเดียวกันหมด การสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างความพร้อมเพรียง และการใช้ท่าหลากหลายมาประสาน น่าจะช่วยให้งานชิ้นนี้ดูงดงามแบบร่วมสมัยมากขึ้น

ที่สำคัญคือ รับขวัญข้าว มี "วินาทีมนตรา" ที่ออกมาเลิศลอยโดยผู้แสดงไม่ได้ตั้งใจอยู่หลายช่วง เช่นระหว่างรอการเต้นชุดที่สองที่ใช้ไฟมืดๆ ส่องนักแสดงจนเกิดแสงเงา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเห็นกันในนาฏศิลป์ไทย จนเมื่อไฟค่อยๆ สว่างขึ้นมา ความสวยงามตรงนี้ก็หดหายไปอย่างน่าเสียดาย หรืออีกช่วงหนึ่งที่ซีดีแผ่นเสีย แล้วนักแสดงต้องเต้นอยู่ในความเงียบ ทันใดนั้นเราก็เห็นความแข็งแกร่งของท่วงท่าและความงามของร่างกายผู้เต้น ที่ถูกดนตรีบดบังในตอนแรก สิ่งเหล่านี้ถ้าผู้สร้างเอากลับเข้าไปขบคิด คงจะสร้างผลงานดีๆ ออกมาให้เราเห็นได้อีกมากมายแน่ๆ เป็นกำลังใจให้ครับ

2 comments:

Anonymous said...

สนใจประเด็นเรื่อความรักของแม่กับผีเสื้อสมุทร เข้ามาpost เร็ว ๆ นะ คอยอ่านอยู่

laughable-loves said...

แฮะๆ รู้สึกช่วงนี้พูดถึงวัฒนธรรมไทยบ่อยไปนิดหนึ่งแล้วครับ โดยเฉพาะเรื่องเหวี่ยงวรรณกรรม วรรณคดี ขอเว้นไปสักพักหนึ่งแล้วกันครับ