H. Arendt's "On Revolution"


พูดถึงคำศัพท์ก่อนดีกว่า "revolution" นั้นถ้าแปลไทยตรงตัวก็คงเป็น "ปฏิวัติ" แม้ว่าอันที่จริงสองคำนี้ความหมายแตกต่างกันคนละโยชน์ "ปฏิวัติ" ในภาษาไทยหมายถึงการที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษก็น่าจะเรียกว่า "coup" หรือ "รัฐประหาร" มากกว่า ส่วนคำว่า "revolution" จริงๆ นั้น หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลด้วยพลังอำนาจของมวลชน (แต่เอาเถอะ ในทางปฏิบัติก็ต้องมีทหารมาหนุนหลังด้วยนั่นแหละ) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยสำเร็จในประเทศไทย

"ว่าด้วยปฏิวัติ" ของอันนา อาเรนด์นั้น คือบทความวิทยาศาสตร์การเมือง วิเคราะห์กลไกเบื้องลึก เบื้องหลังการปฏิวัติ เจาะจงตัวอย่างในอดีต ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะเห็นหน้าปกเป็นรูปกำปั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ แต่เอาเข้าจริงๆ เนื้อในพูดถึงแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส และอเมริกา ยอมรับว่าผิดหวังนิดๆ โชคดีที่ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เป็นหนังสือเฉียบแหลม ชวนอ่าน และเต็มไปด้วยความคิดคมคาย

พูดถึงคนเขียนนิดหนึ่ง อันนา อาเรนด์นั้นเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเป็นลูกศิษย์ของเอดเดกเกอร์ มหาปราชญ์ชาวยุโรป เข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก้าวข้ามคำว่าลูกศิษย์ อาจารย์ ช่วงหลังๆ ที่เอดเดกเกอร์หันมาสนับสนุนพรรคนาซี และฮิตเลอร์ที่เหยียดหยาม เข่นฆ่าชาวยิว เป็นช่วงเดียวกับที่อาเรนด์จากเยอรมันมาพร้อมกับหัวใจแหลกสลาย

เอาล่ะ ทิ้งนิยายน้ำเน่าโรแมนติกไว้แค่นี้ มาคุยกันเรื่องปรัชญาการเมืองดีกว่า

"ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบระหว่างการปฏิวัติในฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ด้วยเงื่อนไขซึ่งแตกต่างกันไม่ไกล แต่ผลลัพธ์คนละเรื่องละราว ขณะที่ "พ่อผู้ก่อตั้ง" สร้างอเมริกาขึ้นมาจากความเถื่อนร้าง ว่างเปล่า ประเทศที่เจริญแล้วอย่างฝรั่งเศสกลับโชกไปด้วยโลหิต และขี้เถ้า รายละเอียดคงต้องไปอ่านกันเอาเอง ขอยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ปึกมากๆ ถ้าใครอยากศึกษาการเมือง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

สิ่งหนึ่งที่อยากหยิบยกขึ้นมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราคือ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบการปฏิวัติว่าเสมือนสัตว์ซึ่งกลืนกินตัวเอง พลังแห่งการปฏิวัติเกิดจากความตื่นตัวของมวลชน ไม่อาจหยุดยั้งได้จนกว่าจะเกิด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ขึ้น ในที่นี้ก็คือการตั้งรัฐบาลใหม่แทนที่รัฐบาลเดิมที่ถูกล้มล้าง แต่ปัญหาของ "การต่อต้านการปฏิวัติ" นั้นคือ ประชาชนซึ่งก่อนหน้านั้นเป็น "ผู้กระทำ" คือมีส่วนในการถล่มคุก ตัดคอกษัตริย์ ถูกลดบทบาทลง กลับมาเป็นแค่ "ผู้ถูกกระทำ" คืออยู่ภายใต้กฏหมายอีกครั้ง อารมณ์สองอย่างนี้แตกต่างกันคนละขั้ว แม้แต่โรส์แบร์บิดาแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าควรปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้ "การปฏิวัติ" ร่ำไป (ซึ่งก็หมายถึงความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ) หรือยินยอมต่อต้านการปฏิวัติ หักล้างความเชื่อ และปรัชญาเดิมๆ ที่ใช้ตอนขับไล่หลุยส์ที่สิบหก ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาก็ต้องเข้มแข็งพอจะปกครองประชาชนนักปฏิวัติได้ (ซึ่งพวกนี้มักไม่ค่อยสนใจกฎเกณฑ์ใด นอกจากกฎแห่งการปฏิวัติ)

นี่เองโศกนาฏกรรมการเมือง เหตุใดการปฏิวัติมักลงเอยด้วยเลือด น้ำตา และสุดท้ายรัฐบาลใหม่ก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่ไม่สนใจสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (ในกรณีฝรั่งเศสคือนโปเลียน ในรัสเซียคือสตาลิน และในประเทศไทยคือ...) "ว่าด้วยปฏิบัติ" ควรเป็นหนังสือ "บังคับ" สำหรับใครที่คิดจะลุกไปถือป้าย เดินขบวนตามท้องถนนว่าคิดให้ดีเสียก่อนเถอะ

No comments: