ว่าด้วยช้าง และลา
ช่วงนี้งานค่อนข้างยุ่ง กว่าจะอ่านหนังสือที่กำลังอ่านอยู่จบ ("Wise Children" โดยนางฟ้าฝันเปียกของเรา แองจี้ คาร์เตอร์) คงใช้เวลาอีกสักพัก ในทางหนึ่งก็อยากโพส tag ให้มันจบๆ ไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ว่าเรื่องที่เราอยากคุยใน tag มันดันสัมพันธ์กับประเด็นหนังสือ "Wise Children" นี่สิ ก็เลยรอๆ ไปก่อน
ลังเลอยู่นานว่าจะโพสดีหรือเปล่า เพราะมันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือ (อีกแล้ว) แต่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ อยากถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ก็ทนๆ กันหน่อยแล้วกันนะครับ (สงสัยเป็นลางตั้งแต่สิ้นปีว่า 2007 นี้ ท่า laughable-loves จะไม่ได้มีแต่วิจารณ์หนังสือเสียแล้วกระมัง)
วันก่อนคุยกับเพื่อนที่ทำงานตลาดหุ้น ถามเธอถึงเรื่องธันวาทมิฬนั่นแหละ เธอคิดเช่นไรกับนโยบายรัฐบาล คำตอบหนึ่งซึ่งโดนใจเราเป็นพิเศษคือ "ฉันคิดว่ารัฐบาลทำถูกแล้ว ตอนนี้บ้านเมืองไทยก็เหมือนต้นไม้ที่สูงไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีราก การจะสร้างรากแก้วอันมั่นคง รัฐบาลจำต้องใช้นโยบาล conservative แบบนี้แหละ ปัญหาคือมันอาจเป็นยาดำที่สุดโต่งเกินไปสำหรับสังคม (และตลาดหุ้น) ไทย ก็เลยส่งผลกระทบดังที่เห็น"
เราสนใจคำว่า conservative ของแม่คุณมาก คำนี้ถ้าใครเป็นขาการเมืองอเมริกา จะรู้ว่าหมายถึงนโยบายคร่าวๆ ของพรรค republican (สัญลักษณ์รูปช้าง) ซึ่งตรงข้ามกับ liberal ของ democrat (สัญลักษณ์รูปลา) พูดง่ายๆ คือนโยบายแบบ conservative จะออกแนวหัวโบราณ สร้างรากฐาน เชิดชูศีลธรรม ขณะที่นโยบาย liberal จะเน้นความก้าวหน้าพัฒนา
ที่เราสนใจคือแต่ไหนแต่ไร เราไม่เคยคิดถึงการเมืองไทยในกรอบ conservative vs liberal แบบนี้เท่าไหร่ ประการแรกเพราะประเทศใคร ประเทศมันสิ เรื่องอะไรจะเอากรอบแนวคิดของฝรั่ง มาใส่การเมืองประเทศฉันดื้อๆ เดี๋ยวเขาก็หาว่าเราไม่ใช่ศิษย์อาจารย์นิธิ (ซึ่งก็ไม่ใช่ศิษย์จริงๆ เพียงแต่ตามอ่าน website มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จนมันโดนรัฐบาลคมช. ปิดไปนี่แหละ)
อีกประการเพราะ โดยทฤษฎีแล้ว แนวคิดแบบช้าง ปะทะลาเป็นเรื่องไร้สาระ เนื่องจากในความเป็นจริง การจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด นักการเมืองต้องเดินทางสายกลาง อธิบายง่ายๆ สมมติคุณเปิดโชว์ห่วยแข่งกับเพื่อนในซอย ถ้าทั้งเพื่อน และคุณเล่นนโยบายสุดโต่งเปิดร้านคนละสุดซอยสองข้าง คุณสองคนจะแบ่งลูกค้าคนละครึ่งพอดี ในทางกลับกัน ถ้าคุณย้ายร้านมาเปิดกลางซอย คุณจะแย่งลูกค้านส่วนหนึ่งไปจากเพื่อน ด้วยเหตุนี้ท้ายที่สุดแล้ว ร้านโชว์ห่วยจึงมักอัดๆ กันอยู่กลางซอย นักการเมืองก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากออกมาบอกหรอกว่าฉันเป็นช้าง หรือลา เอาเข้าจริงๆ ก็เล่นทางสายกลางกันทั้งนั้น (นี่คือเหตุผลหนึ่ง ทำไมนักวิชาการบางคนถึงมองการเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องไร้สาระ)
แต่หลักทางสายกลางนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ในภาวะที่ประเทศคับขัน นักการเมืองจะกระโดดลงมาเปิดโชว์ห่วยปากซอย ดังเห็นได้จากเลือกตั้งอเมริกาสองปีก่อน บุชออกมาเน้นนโยบายสงคราม บวกศาสนา ส่วนเคอรีก็เรียกร้องสันติภาพในตะวันออกกลาง
กลับมาประเทศเราบ้าง พอฟังคำพูดของคุณน้องเรื่องรัฐบาลคมช. เป็นรัฐบาล conservative ก็อดไม่ได้ที่จะร้องอ้อ! ถ้าคิดในเชิงนี้แล้ว อะไรๆ มันก็ดูเข้าที่เข้าทางไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ หรือนโยบายศีลธรรมต่างๆ นานา ถ้าจะดึงเหตุผลข้อนี้ไปไกลอีกสักนิด สามารถพูดได้ด้วยซ้ำว่ารัฐบาลทรท. นั้นเป็นรัฐบาล liberal คือมีนโยบายพัฒนาลูกเดียว
เป็นเรื่องน่าสนใจที่ชวนให้คิดต่อไปว่า
1) กรอบความคิดนี้ ใช้ได้จริงหรือไม่
2) ถ้าใช้ได้ สังคมไทยเกิดภาวะคับขัน ถึงขนาดนักการเมืองต้องมาประกาศแนวทางสุดโต่งแล้วหรือ
ข้อแรก คนเขียนบลอดขอตอบว่าจริง มิอย่างนั้นก็คงไม่มานั่งเขียนอะไรยาวเหยียดเช่นนี้หรอก ส่วนข้อสอง ก็จริงไม่แพ้กัน ภาวะคับขับทางด้านการเมือง และสังคมเช่นนี้ ประเทศไทยเราไม่ได้เผชิญมานับสิบๆ ปีแล้ว (ขนาดตอนค่าเงินบาทตกฮวบ ก็ยังกลายเป็นแค่ภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองในยุคนั้นมีเสถียรภาพสิ้นดี) จึงเกิดเป็นคำถามที่สาม ซึ่งน่าสนใจสุด
3) แนวทางเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่ออนาคตการเมืองไทย
ถ้าดูจากแนวโน้มที่การเลือกตั้งนับวันจะกลายเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่เข้าไปทุกที ไม่แน่ว่าภายในปีหน้าเราจะได้เห็น พรรค democrat และ พรรค republican ฉบับพี่ไทยก็เป็นไปได้ ภาวะเช่นนี้จะอยู่ยงคงกระพันแค่ไหน เมื่อไหร่นักการเมืองจะหวนคืนมาหาทางสายกลาง กว่าจะถึงตอนนั้น คำศัพท์สองคำนี้ conservative และ liberal ก็คงจารึกอยู่ในแนวคิดของชาวไทยไปเรียบร้อย ซึ่งในอนาคตจะไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการเมือง แม้แต่นักวิชาการ มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ ทีวี บริษัท ห้างร้าน จนถึงค่ายเพลง ค่ายละคร ค่ายละคร คงเริ่มต้องพะยี้ห้อช้าง หรือลากันบ้างแล้ว (ถ้าจะให้ดี ควรเลือกสัตว์ที่เป็นไทยๆ เช่น ม้านิลมังกร และ กินรี)
นั่นจะเรียกว่าสิ่งดีหรือเปล่า ไม่รู้เหมือนกัน ที่แน่ๆ การบอกว่ารัฐบาลดำเนินแผนผิดพลาดเพราะ conservative จัดหรือ liberal เกินไปนั้น น่าฟังกว่าด่าว่าเขาเลว หรือโง่เป็นไหนๆ จริงไหมล่ะครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Post a Comment